back

คำถามที่ ๘ : มะฮฺดี อาลิมุฮัมมัดเป็นใคร ทำไมต้องรอคอยการมาของท่านด้วย

next

คำถามที่ ๘ : มะฮฺดี อาลิมุฮัมมัดเป็นใคร ทำไมต้องรอคอยการมาของท่านด้วย

คำตอบ : เป็นเรื่องที่คัมภีร์แห่งฟากฟ้าทุกเล่มมีความเห็นพ้องต้องกัน กล่าวคือต้องมีผู้มาปลดปล่อยและปรับปรุงโลกให้พบกับความยุติธรรมในยุคสุดท้าย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะสังคมมุสลิมเท่านั้นที่รอคอย แต่สังคมของพวกยะฮูดี และนัซรอนีก็รอคอยผู้ที่มีความยุติธรรมที่จะมาทำหน้าที่นี้เช่นกัน ดังนั้นถ้าได้ศึกษาคัมภีร์อะฮฺดิ อะตีก และอะฮฺดิญะดีด (อะฮฺดิ อะตีกได้แก่ มะซามีร ดาวูด มัซมูร ๙๖/๙๗ และกิตาบดาลยาน   นะบี บาบที่ ๑๒, อะฮฺดิญะดีด ได้แก่อินญีล มะตา บาบที่ ๒๔, อินญีลมัรกูซ บาบที่ ๑๓, อินญีลเลากา บาบที่ ๒๑, ได้กล่าวถึงมะฮฺดีเมาอูดในฐานะของผู้มาปลดปล่อยโลก จะได้รับความกระจ่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวไว้ และบรรดนักฮะดีซได้เล่าต่อกันมาว่า ท่านศาสดา ได้กล่าวว่า

لولم يبقى من الدهر إلاّ يوم لبعث الله رجلا من اهل بيتي يملأها عدلا كما ملئْت جوراً

ถ้าหากโลกจะไม่มีเวลาเหลืออีก นอกจากเพียงวันเดียว อัลลอฮฺจะทรงให้ชายหนุ่มจากครอบครัวของฉันปรากฎออกมา เพื่อทำให้โลกนี้เปี่ยมล้นไปด้วยความยุติธรรม ดังเช่นที่เคยเปี่ยมล้นด้วยความอธรรมมาแล้ว [1]

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าจะมีผู้มาปรับปรุงโลก เป็นที่เห็นพ้องต้องกันของศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว นอกจากนั้นยังมีริวายะฮฺจำนวนมากถูกบันทึกไว้ในหนังสือซิฮาฮฺ และมะซา นีดของอหฺลิซซุนนะฮฺ และบรรดานักฮะดีซ และผู้ศึกษาวิจัยทั้งซุนี และชีอะฮฺได้เขียนตำรามากเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮฺดี (อ.)  ดังปรากฏชื่อหนังสือต่อไปนี้ เช่น อัล-บะยาน ฟี อัคบาร ซอฮิบุซซะมาน ผู้วิจัย มุฮัมมัด บิน ยูซุฟ อิบนุ อัล-กันญี ชาฟิอียฺ, หนังสืออัล-บุรฮาน ฟี อะลามาต มะฮฺดี อาคิรุซซะมาน ผู้วิจัย อะลี บิน ฮิซามุดดีน รู้จักในนามของ มุตตะกียฺ ฮินดี, อัล-มะฮฺดี วัลมะฮฺดะวียะฮฺ ผู้วิจัย อะฮฺมัดอะมีน มิซรี

บรรดาริวายะฮฺเหล่านี้ได้บอกถึงคุณลักษณะพิเศษ และสัญลักษณ์ของมะฮฺดีที่จะมาปรากฏนั้นถูกต้องตรงกับบุตรของท่านอิมามฮะซัน อัซ   การียฺ (อ.) [2]  ซึ่งเป็นอิมามท่านที่ ๑๑ ของชีอะฮฺ ตามพื้นฐานของริวายะฮฺดังกล่าวนั้นท่านอิมามมีชื่อเดียวกันกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) [3] เป็นอิมามท่านที่ ๑๒ ของชีอะฮฺ [4]  เป็นหลานของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) บุตรท่านอิมาม อะลี บิน อะบีฎอลิบ (อ.) [5]

ท่านอิมามมะฮฺดี (อ.) ประสูติเมื่อ ฮ.ศ. ที่ ๒๕๕ และได้เร้นกายไปตามพระบัญชาของพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ยังมีชีวิตอยู่ตราบเท่าที่พระองค์ทรงประสงค์ สิ่งจำเป็นต้องกล่าวถึงคือการดำรงชีวิตที่ยาวนานเช่นนี้ ถ้าหากพิจารณาแล้วไม่น่าที่จะเป็นไปได้ ในโลกทัศน์ของวิชาการนั้นยอมรับในเรื่องการมีอายุยืนแบบเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์เช่นกัน อัล-กุรอานได้กล่าวถึงการมีอายุยืนของคนในอดีตอย่างเช่นท่านศาสดานูฮฺ (อ.) โดยกล่าวว่า

وَلَقَدْ أَرْسَلْنَا نُوحًا إِلَى قَوْمِهِ فَلَبِثَ فِيهِمْ أَلْفَ سَنَةٍ إِلَّا خَمْسِينَ عَامًا

และแน่นอนเราได้ส่งนูฮฺไปยังหมู่ชนของเขา และได้อยู่ร่วมกับพวกเขาหนึ่งพันปียกเว้นห้าสิบป [6]

อัล-กุรอานกล่าวถึงท่านศาสดายูนุซว่า

فَلَوْلَا أَنَّهُ كَانَ مِنْ الْمُسَبِّحِينَ  لَلَبِثَ فِي بَطْنِهِ إِلَى يَوْمِ يُبْعَثُونَ

หากว่าเขามิได้เป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้แซ่ซ้องสดุดีแล้วแน่นอน เขาจะอยู่ในท้องปลาจวบจนกระทั่งวันฟื้นคืนชีพ [7]

เช่นเดียวกันท่านเครฎฺ และท่านศาสดาอีซา (อ.) ตามโองการอัล-     กุรอาน และการเห็นพ้องต้องกันของมุสลิมทั้งหลายปัจจุบันท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ และการดำรงชีพของท่านเป็นไปตามพระบัญชาของอัลลอฮฺ (ซบ.) ฉะนั้นเรื่องการมีอายุของคนไม่มีความขัดแย้งกัน ถ้าสิ่งนั้นเป็นพระประสงค์ของพระองค์

 

 

 



[1] เซาะฮียฺอะบีดาวูด พิมพ์ที่อียิปต์ อัล-มัฏบะอะตุต-ตาซียะฮฺ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๐๗, ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้าที่ ๔๓๒, นูรุลอับซอร บาบที่ ๒ หน้าที่ ๑๕๔

[2] ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ บาบ ๗๖, มะนากิบรายงานจากท่านญาบิร อับดุลลอฮฺอันศอรียฺ

[3] ติรมิซียฺ พิมพ์ที่ เดลี ปี ๑๓๔๒ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๖, มุซนัดอะฮฺมัด พิมพ์ที่อียิปต์ ปีที่ ๑๓๑๓ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๗๖

[4] ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้าที่ ๔๔๓

[5] อ้างแล้ว หน้าที่ หน้าที่ ๔๔๒

[6] อังกะบูต / ๑๔

[7] ซอฟฟาต / ๑๔๔

 

index