back

คำถามที่ ๗ : ทำไมเวลาอะซานต้องกล่าวว่าอัชฮะดุอันนะอะลียันวะลียุลลอฮฺ และต้องยืนยันถึงวิลายะฮฺของท่านอะลีด้วย

next

 

คำถามที่ ๗ : ทำไมเวลาอะซานต้องกล่าวว่าอัชฮะดุอันนะอะลียันวะลียุลลอฮฺ และต้องยืนยันถึงวิลายะฮฺของท่านอะลีด้วย

คำตอบ : เป็นการดีก่อนที่จะตอบปัญหาโปรดพิจารณาถึงประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

๑. บรรดาฟุเกาะฮาของชีอะฮฺทุกท่าน (ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนิติศาสตร์อิสลาม) ได้ลงความเห็นตรงกันว่า การยืนยันถึงวิลายะฮฺของท่านอิมามอะลี (อ.) ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอะซานและอิกอมะฮฺ และไม่มีใครมีสิทธิ์อ้างว่าการยืนยันดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทั้งสอง

๒. ท่านอิมามอะลี (อ.) ตามทัศนะของอัล-กุรอานเป็นหนึ่งในเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺ และโองการดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ได้ยืนยันว่า ท่านมีอำนาจ วิลายะฮฺเหนือบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัล-กุรอานกล่าวว่า

إِنَّمَا وَلِيُّكُمُ اللّهُ وَرَسُولُهُ وَالَّذِينَ آمَنُواْ الَّذِينَ يُقِيمُونَ الصَّلوةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَوةَ وَهُمْ رَاكِعُونَ

แท้จริงผู้ปกครองของสูเจ้า คืออัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธาที่ดำรงนะมาซ และจ่ายซะกาต ขณะพวกเขากำลังโค้ง คารวะ [1]

ริวายะฮฺซิฮาฮฺ และมุซนัดต่าง ๆ ของอฮฺลิซซุนนะฮฺได้ยืนยันว่า โองการดังกล่าวได้ถูกประท่านให้แก่ท่านอะลี (อ.) ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังรุกูอฺและได้บริจาคแหวนให้กับคนยากจน  หลักฐานที่ยืนยันเรื่องนี้มีมากจนไม่อาจนำมากล่าวได้ทั้งหมดแต่จะขอกล่าวเพียงบางเล่มเท่านั้น เช่น ตัฟซีร    ฏ็อบรียฺ เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๑๘๖, อะฮฺกามุลกุรอาน เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๔๒, ตัฟซีรบัยฎอวียฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๔๕, ตัฟซีรอัดดุรุลมันซูร เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๙๓  เมื่อโองการดังกล่าวได้ประทานให้กับท่านอะลีเรียบร้อยแล้ว ท่านฮะซาน บิน ซาบิต ได้กล่าวเป็นบทกวีว่า

فأنت الّذى أعطَيْتَ اذ أنت رَاكع     فدَتْكَ نفوس القوم يا خَيْر راكع

فأنزَل فِيكَ الله خَيرَ وِلايةٍ              وبَيْنهَا فِى مُحْكَمَاتِ الشَّرايع

ท่านคือผู้ที่บริจาคขณะรุกูอฺ    ชีวิตทั้งหลายยอมพลีเพื่อท่านโอ้ผู้ดำรงการรุกูอฺที่ดีที่สุด

อัลลอฮฺทรงประทานวิลายะฮฺที่ดีที่สุดแด่ท่าน  ทรงแจ้งไว้ในอะฮฺกามชะรีอัตทั้งหลาย

๓. ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า (انّما الاعمال بالنيات)  แท้จริงการกระทำนั้นขึ้นอยู่กับเจตนาของมนุษย์

ด้วยเหตุนี้ถ้ายอมรับว่าวิลายะฮฺของท่านอะลี (อ.) เป็นหนึ่งในอุซูลที่อัล-กุรอานกล่าวถึง อีกด้านหนึ่งประโยคที่กล่าวถึงไม่ได้มีเจตนาให้เป็นส่วนหนึ่งของอะซานและอิกอมะฮฺ ฉะนั้นจะมีปัญหาอะไรหากจะกล่าวถึงความจริงนี้ไว้เคียงข้างกับการปฏิญาณยืนยันถึงการเป็นศาสดาของท่านนะบี

สิ่งจำเป็นที่ต้องกล่าวถึงคือ ถ้าสมมุติว่าการกล่าวบางประโยคใน   อะซานเป็นการกระทำไม่ดี หรือไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ชีอะฮฺจึงถูกตำหนิว่าเป็นพวกบิดอะฮฺทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นสองเรื่องนี้ท่านจะอธิบายอย่างไร

๑. ประวัติศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับยืนยันว่าประโยคที่กล่าวว่า

حَيَّ على خَيْرِ الْعَمَل

เป็นส่วนหนึ่งของอะซาน ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือดังต่อไปนี้ กันซุลอุมาล กิตาบอัซ-เซาะลาฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๖๖ จากอัฏฏ็อบรอนียฺพูดว่าท่านบิลาลได้อะซานในตอนเช้าว่า (حَيَّ على خَيْرِ الْعَمَل)  ซุนันบัยฮะกียฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๒๔/๔๒๕, มุวัฏเฏาะฮฺ มาลิก เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๙๓  ขณะในสมัยของท่านเคาะลิฟะฮฺอุมัรท่านได้เกรงว่า การที่ประชาชนได้ยินประโยคนี้ทุกวันจะทำให้พวกเขาคิดว่าการนะมาซเป็นการกระทำที่ดีที่สุด และจะเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาไม่คิดทำญิฮาดอีกต่อไปท่านจึงได้ตัดประโยคนี้ออกจากอะซาน ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือ กันซุลอิรฟาน เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๕๘, อัศศิรอตอลมุสตะกีม วะญะวาฮิรุลอัคบารฺ วัลอาษารฺ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๙๒, ชัรฮฺ อัตตัจรีด กูชจี ตอนกล่าวถึงอิมามะฮฺ หน้าที่ ๔๘๔พูดว่า ท่านอุมัรฺได้ขึ้นมิมบัร และพูดว่า โอ้ประชาชนเอ๋ย มีอยู่สามประการในสมัยท่านศาสดา ฉันได้สั่งห้ามมัน ได้ทำให้มันเป็นฮะรอม และลงโทษผู้กระทำได้แก่ มุตอะฮฺนิซาอฺ มุตอะฮฺฮัจญฺ และประโยคที่ว่า ฮัยยะ อะลา ค็อยริลอะมัล

๒. ประโยค  (الصلاة خَيْرٌُ مِنَ النَّومِ) ประโยคนี้ไม่มีในสมัยท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอะซาน แต่ต่อมาประโยคนี้ได้ถูกกล่าวเพิ่มในอะซาน [2] ด้วยเหตุนี้ท่านชาฟิอียฺได้พูดไว้ในหนังสือ อัล-อุม ว่า

اكره فى الاذان "الصلاة خير من النوم" لأنّ أبا محذورة لم يذكره

ฉันไม่ชอบเลยที่ในอะซานนั้นต้องกล่าวว่า อัซ-เซาะลาฮฺค็อยรุน มินันนูม เพราะว่าไม่มีนักฮะดีซหรือรอวียฺนำมาบันทึกในฮะดีซของตน [3]

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



[1] มาอิดะฮฺ / ๕๕

[2] กันซุลอุมาล, กิตาบุซเซาะลาฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๗๐

[3] คัดลอกมาจาก ดะลาอิลุซ ซิดกฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๙๗

index