back

คำถามที่ ๓ : ทำไมท่านอะลี บุตร อะบูฏอลิบจึงได้เป็นวะซียฺ และตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

next

 

คำถามที่ ๓ : ทำไมท่านอะลี บุตร อะบูฏอลิบจึงได้เป็นวะซียฺ และตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

คำตอบ : ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ชีอะฮฺ มีความเชื่อเรื่องการแต่งตั้งตัวแทนของท่าานศาสดา (ซ็อล ฯ) ก่อนที่ท่านจะสิ้นพระชนม์ และยังเชื่ออีกว่าบรรดาอิมามผู้เป็นตัวแทนของท่านอยู่ในฐานะภาพเดียวกันกับท่านหมายถึงท่านได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ตัวแทนของท่านก็ต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระองค์เช่นเดียวกัน ประวัติการใช้ชีวิตของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ยืนยันเรื่องนี้ไว้อย่างดี เพราะท่านได้ทำการแต่งตั้งให้ท่านอะลีเป็นตัวแทนของท่านในวาระต่างมากมาย เช่น

๑. เริ่มต้นการบิอฺซัต (การแต่งตั้งศาสดา) ในเวลานั้นพระองค์  อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมีบัญชาให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เชิญชวนญาติสนิท ตามความหมายของโองการที่ว่า (وَأَنذِرْ عَشِيرَتَكَ الْأَقْرَبِينَ) จงตักเตือนวงศาคณาญาติที่ใกล้ชิดของเจ้า [1] ให้พวกเขายอมรับและเลื่อมใสในพระเจ้าองค์เดียว เมื่อพวกเขาได้มากันพร้อมหน้าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงประกาศว่า ใครก็ตามได้ช่วยเหลือฉันในภารกิจดังกล่าว เขาจะได้เป็นวะซียฺและเป็นตัวแทนของฉัน คำประกาศของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

فأيّكم يوازرني فى هذا الأمر على ان يكون اخي و وزيرى و خليفتى و وصيي فيكم

บุคคลใดได้ช่วยเหลือฉันในภารกิจดังกล่าวเขาจะได้เป็นพี่น้องของฉัน ตัวแทนของฉัน เคาะลิฟะฮฺของฉันและเป็นวะซียฺของฉันในหมู่พวกท่าน

ในที่นั้นมีอยู่เพียงคนเดียวที่ตอบรับคำประกาศเชิญชวนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คือ ท่านอะลี (อ.) บุตรของท่านอะบูฏอลิบ หลังจากนั้นท่านจึ่งได้หันไปทางกลุ่มเครือญาติพร้อมทั้งกล่าวว่า

انّ هذا أخي ووصيي و خليفتي فيكم فاسمعوا له و أطيعوه

นี่คืออะลีบุตรของอะบูฏอลิบ เขาเป็นพี่น้องของฉัน เป็นวะซียฺและ เป็นเคาะลิฟะฮฺของฉันในหมู่พวกท่าน จงเชื่อฟังและปฏิบัติตามเขา

๒. สงครามตะบูก ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวกับท่านอะลี (อ.) ว่า

أما ترضى أن تكون منّى بمنزلة هارون من مو سى إلاّ أنّه لا نبيّ بعدي

เจ้าไม่พอใจดอกหรือ ที่เจ้ากับฉันอยู่ในฐานะเดียวกันกับฮารูนและมูซา นอกเสียจากว่าจะไม่มีนะบีภายหลังจากฉันอีก [2]

ฐานะของท่านฮารูนคือ เป็นวะซียฺและเป็นตัวแทนโดยตรงของท่านศาสดามูซา (อ.) ท่านอะลี (อ.) เช่นกันเป็นเคาะลิฟะฮฺ และเป็นตัวแทนโดยตรงของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

๓. ปี ฮ.ศ.ที่ ๑๐ เมื่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เดินทางกลับจากการบำเพ็ญฮัจญฺครั้งสุดท้าย (ฮัจญะตุลวะดา) เมื่อมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งชื่อว่า เฆาะดีรคุม ท่านกลางประชาชนจำนวนมาก ท่านได้ประกาศแต่งตั้งให้ท่านอะลี (อ.) เป็นตัวแทนปกครองบรรดามุสลิมีน และมุอฺมินทั้งหลายโดยกล่าวว่า

من كنت مولاه فهذا علي مولاه

ใครก็ตามที่ฉันเป็นผู้ปกครองเขา ดังนั้นอะลีก็เป็นผู้ปกครองเขาด้วย

ประเด็นสำคัญจะสังเกตเห็นว่าท่านศาสดาได้เริ่มกล่าวเทศนาโดยกล่าวว่า

ألست أولى بكم من أنفسكم

ฉันนั้นไม่ได้ดีไปกว่าตัวของพวกเจ้าดอกหรือ ซึ่งบรรดามุสลิมทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นั้นได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ใช่ ท่านนั้นดีกว่าชีวิตของพวกเรา  เมื่อเป็นเช่นนี้จุดประสงค์ของคำว่า เมาลา ที่ท่านศาสดา   (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวนั้นหมายถึง ฐานะภาพที่สูงส่งกว่า  เป็นผู้มีการเลือกสรรที่สมบูรณ์เหนือบรรดามุอฺมินทั้งหลาย ซึ่งตำแหน่งนั้นท่านได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นของท่านอะลีเช่นกัน และท่านฮัซซาน บิน ซาบิต ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์แห่งเฆาะดีรในวันนั้นไว้เป็นบทกลอนว่า

يناديهم يوم الغدير نبيّهم           بخم واسمع بالرّسول مناديا

فقال فمن مولاكم ونبيكم         فقالوا ولم يبدوا أهناك التّعاميا

إ لهك مولانا و أنت نبيّنا            ولم تلق منّا فى الولاية عاصيا

فقال له:قم يا علي فإنّني            رضيتك من بعدي اماما وهاديا

فمن كنت مولاه فهذا وليّه            فكونوا له اتباع صدق مواليا

هناك دعا: اللهم وال وليه             وكن للّذى عادى عليا معاديا

ได้ร้องเรียกพวกเขาในวันเฆาะดีรโดยศาสดาของพวกเขา ณ คุม และได้ฟังท่านศาสดากล่าวเทศนา

ท่านกล่าวว่า ใครเป็นผู้ปกครองและเป็นนะบีของเจ้า พูดว่า ณ ที่นี้ไม่มีใครเคยเป็นผู้ปกครองเรา

พระเจ้าของท่านคือผู้ปกครองและท่านคือนะบีของเรา และจะไม่พบผู้ใดที่ปฏิเสธวิลายะฮฺของท่าน

ดังนั้นท่านได้บอกเขาว่า ลุกขึ้นเถิด โอ้อะลี แท้จริงฉันจะแต่งตั้งเจ้าให้เป็นอิมามผู้นำภายหลังจากฉัน

ใครก็ตามที่ฉันเป็นผู้ปกครองเขาและนี่คือผู้ปกครองเขา พวกเจ้าจงปฏิบัติตามเขาผู้ปกครองที่สัจจริง

ณ ที่นั้นท่านได้ดุอาอฺว่า โอ้อัลลอฮฺโปรดรักผู้ที่รักวะลีของเขา และโปรดเป็นศัตรูกับผู้ที่เป็นศัตรูกับอะลี [3]

ฮะดีซเฆาะดีร เป็นฮะดีซมุตะวาติรของอิสลาม (ถูกต้องเชื่อถือได้อย่างมั่นใจ) ซึ่งนอกเหนือจากอุละมาอฺฝ่ายชีอะฮฺแล้ว ยังมีอุละมาอฺฝ่ายอฮฺลิซซุนนะฮฺอีกประมาณ ๓๖๐ ท่านเป็นผู้รายงาน [4]  ซึ่งสามารถสืบไปถึง เซาะฮาบะฮฺ ๑๑๐ ท่าน และฮะดีซดังกล่าวยังมีอุละมาอฺอิสลามอีก ๒๖ ท่าน เขียนถึงซะนัด และสายสืบ

ท่านอะบูญะอฺฟัร ฏ็อบรียฺ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของมุสลิมได้รวบรวมซะนัดของฮะดีซดังกล่าวไว้ในหนังสือสองเล่มใหญ่ของท่าน ท่านที่สนใจสามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ อัล-เฆาะดีร

 



[1] ชุอะรออฺ / ๒๑๔

[2] ซีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๒๐, เซาะวาอิกุลมุฮฺเราะเกาะฮฺ, อิบนุฮะญัร พิมพ์ครั้งที่สอง อียิปต์ บาบที่ ๙ หมวดที่ ๒ หน้าที่ ๑๒๑

[3] อัล-มะนากิบ คอรซะมียฺ มาลิกียฺ หน้าที่ ๘๐, ตัซกิเราะตุลคอซ อัลอุมมะฮฺ  ซิบติ อิบนิ เญาซียฺ ฮะนะฟียฺ หน้าที่ ๒๐, กิฟายะตุตตอลิบ หน้าที่ ๑๗

[4] ตัวอย่างหนังสือเช่น อัซ-เซาะวาอิกุลมุฮฺเราะเกาะฮฺ อิบนุฮะญัร พิมพ์ครั้งที่ ๒ อียิปต์ บาบที่ ๙ หมวดที่ ๒ หน้าที่ ๑๒๒

index