back

คำถามที่ ๒ : จุดประสงค์คำว่าชีอะฮฺ หมายถึงใคร

next

คำถามที่ ๒ : จุดประสงค์คำว่าชีอะฮฺ หมายถึงใคร

คำตอบ : ชีอะฮฺ ในภาษาอาหรับหมายถึง ผู้ปฏิบัติตาม อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَإِنَّ مِن شِيعَتِهِ لَإِبْرَاهِيمَ

และแท้จริง ผู้ที่ดำเนินตามแนวทางของเขา (นูฮฺ) นั้น คืออิบรอฮีม [1]

ชีอะฮฺ ตามความหมายของนักปราชญ์และมวลมุสลิมทั้งหลายหมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความเชื่อว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ไปนั้นท่านได้ทำการแต่งตั้งตัวแทน (เคาะลิฟะฮฺ) ปกครองประชาชาติมุสลิมเอาไว้โดยกล่าวเป็นสุนทรพจน์ในวาระต่าง ๆ เช่น วันที่ ๑๘ เดือนซุลฮฺจญฺ ปี ฮ.ศ. ที่ ๑๐ ซึ่งเรียกวันนี้ว่า วันเฆาะดีรคุม เป็นวันที่มีประชาชาติมุสลิมจำนวนมากมาย (แสนกว่าคน) ได้มารวมตัวกันและท่าน ได้ทำการประกาศการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นในวันนี้ และแนะนำว่าตัวแทนของท่านคือ สถานที่ย้อนกลับของการเมือง ความรู้ และศาสนาภายหลังจากท่าน

ภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มุฮาญิรีนและอันซอร ได้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มกล่าวคือ

๑. กลุ่มที่มีความเชื่อว่าท่าน ไม่ได้ละเลยการแต่งตั้งให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นตัวแทน ทำหน้าที่ปกครองประชาชาติภายหลังจากท่าน ซึ่งตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้ง คือท่านอะลี บุตรของอะบูฏอลิบ ผู้ที่ได้มีศรัทธาเลื่อมใสท่านเป็นคนแรก ชนกลุ่มนี้มีทั้งพวกมุฮาญิรีน และอันซอร บุคคลในชั้นแนวหน้าของกลุ่มเป็นผู้อวุโสที่มาจากตระกูลบะนีฮาชิม และบรรดาเซาะฮาบะฮฺในชั้นแนวหน้าเช่นกัน เช่น ท่านซัลมานฟารซียฺ ท่านอะบูซัร ท่านมิกดาร ท่านค็อบบาน บิน อะริซ และบุคคลอื่นที่อยู่ในฐานะเดียวกัน พวกเขาได้ยึดมั่บอยู่กันความเชื่อดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้เรียกพวกเขาว่า ชีอะฮฺของอะลี (อ.) ตามความเป็นจริงฉายานามดังกล่าว (ชีอะฮฺอะลี) ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เป็นผู้ตั้งให้แก่พวกเขาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ครั้งหนึ่งท่านได้ชี้ไปที่ท่านอะลี (อ.) แล้วกล่าวว่า

والّذي نفسى بيده ، انّ هذا وشيعته لهم الفائزون يوم القيامة

ฉันขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า แท้จริงเขา (อะลี) กับชีอะฮฺของเขาคือผู้ประสบความสำเร็จในวันกิยามะฮฺ [2]

إِنَّ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ أُوْلَئِكَ هُمْ خَيْرُ الْبَرِيَّة

ฉะนั้น ชีอะฮฺ จึงหมายถึงมุสลิมในยุคแรกของอิสลามกลุ่มหนึ่ง ที่มีความเชื่อเรื่องการแต่งตั้งตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงพวกเขาจึงถูกเรียกว่าชีอะฮฺ ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวได้สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขายังยึดมั่นอยู่กับความเชื่อนั้น และดำรงการปฏิบัติตามอะฮฺลุลบัยตฺของท่านศาสดาตลอดเรื่อยมา ตำแหน่งและฐานะภาพของชีอะฮฺจึงถูกแนะนำด้วยแนวคิดดังกล่าว มิใช่ตามคำกล่าวอ้างของบางกลุ่มที่พูดว่า ชีอะฮฺได้เกิดหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ซึ่งริเริ่มโดยอับดุลลอฮฺ บินซะบะฮฺ ดังนั้นหากต้องการค้นคว้าที่มาของชีอะฮฺให้มากขึ้น ศึกษาได้จากหนังสือ อัซลุชีอะฮฺ วะ อุซูลุฮา. อัล-มุรอญิอาต หรือหนังสืออะฮฺยานุชชีอะฮฺ

๒. กลุ่มที่มีความเชื่อว่าตำแหน่งคิลาฟะฮฺหลังจากท่านศาสดา   (ซ็อล ฯ) มิได้มาจากการแต่งตั้ง แต่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงให้สัตยาบัน (บัยอัต) กับท่านอบูบักรฺ และต่อมาได้ถูกเรียกชื่อว่า อฮฺลิซซุนนะฮฺ หรือ ตะซันนุน ดังนั้นสรุปได้ว่าชน ๒ กลุ่มนี้มีจุดร่วมในเรื่องอุซูล (มูลฐานหลักของอิสลาม)  แต่มีความขัดแย้งกันในเรื่องคิลาฟะฮฺ ผู้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และการเริ่มต้นของชนทั้ง ๒ กลุ่มได้เริ่มต้นมาจากพวกมุฮาญิรีนและอันซอร

 

 



[1] ซอฟาต / ๘๓

[2] ญะลาลุดดีน ซุยูฏียฺ ,ดุรุลมันซูร เล่มที่ ๖ ตอนอธิบายโองการที่ ๗ ซูเราะฮฺบัยยินะฮฺ

 

index