back

คำถามที่ ๒๘ : แหล่งที่มาของฟิกฮฺชีอะฮฺ (นิติศาสตร์) คืออะไร

next

คำถามที่ ๒๘ : แหล่งที่มาของฟิกฮฺชีอะฮฺ (นิติศาสตร์) คืออะไร

คำตอบ : ชีอะฮฺได้ยึดถือปฏิบัติตามอัล-กุรอานและซุนนะฮฺ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อย่างเคร่งครัด ส่วนการพิสูจน์อะฮฺกามชัรอียฺ ได้ยึดแหล่งที่มาอันเป็นพื้นฐานสำคัญของวิชาการและความรู้ ได้แก่

๑. อัล-กุรอาน

๒. ซุนนะฮฺ (แบบฉบับของท่านศาสดา)

๓. อิจมาอฺ (การเห็นพ้องต้องกันของนักปราชญ์ที่ต่างยุคสมัย)

๔. สติปัญญา

จากแหล่งที่มาของความรู้ อัล-กุรอานและซุนนะฮฺของท่านศาสดาเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญที่สุดของฟิกฮฺชีอะฮฺ

อัล-กุรอาน ผู้ปฏิบัติตามแนวทางชีอะฮฺทุกคนยึดอัล-กุรอานเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับฟิกฮฺ และเป็นมาตรฐานในการรู้จักอะฮฺกามของพระผู้เป็นเจ้า เพราะบรรดาผู้นำชีอะฮฺได้ยึดอัล-กุรอาน เป็นที่ย้อนกลับของความรู้สูงสุดในการพิสูจน์อะฮฺกามและกฎต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ คำพูดอื่นจะถือว่าถูกต้องและสามารถนำไปปฏิบัติได้ ต่อเมื่อนำไปเทียบกับอัล-กุรอานแล้วไม่มีความขัดแย้งกัน แต่ถ้ามีความขัดแย้งต้องละทิ้งคำพูดเหล่านั้น และยึดอัล-กุรอานเป็นเกณฑ์

ท่านอิมามญะอฺฟัรซอดิก (อ.) อิมามท่านที่ ๖ ของชีอะฮฺ กล่าวว่า

 

و كلّ حديثٍ لا يوا فق كتاب الله فهو زخرفٌ

ทุกคำพูดที่ไม่สอดคล้องกับอัล-กุรอานถือว่าไม่มีรากที่มา [1]

ท่านอิมาม (อ.) ได้รายงานริวายะฮฺจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โดยกล่าวว่า

أيها النّاس ما جاءكم عنّى يوافق كتاب الله فأنا قلته و ماجاءكم يخالف كتاب الله فلم أقله

โอ้ประชาชนเอ๋ย ทุกคำพูดที่กล่าวว่ามาจากฉัน ถ้าสอดคล้องกับอัล-กุรอานเป็นคำพูดของฉัน แต่ถ้าคำพูดใดไม่สอดคล้องกับอัล-กุรอานไม่ใช่คำพูดของฉัน [2]

จากฮะดีซทั้ง ๒ ที่กล่าวมาทำให้รู้ว่าบรรดาผู้นำชีอะฮฺได้ยึดเอาอัล-  กุรอานเป็นแหล่งพิสูจน์อะฮฺกามที่สำคัญที่สุด

ซุนนะฮฺ ซุนนะฮฺหมายถึง คำพูด การกระทำ หรือการที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สนับสนุนการกระทำบางอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งที่มาสำคัญของความรู้ด้านฟิกฮฺของชีอะฮฺ และด้านอื่น ๆ บรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์เป็นผู้รักษาและอธิบายซุนนะฮฺโดยตรงของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และยังเป็นคลังวิชาสำหรับท่านอีกต่างหาก แน่นอนถ้าซุนนะฮฺของท่านได้รับการถ่ายทอดโดยกลุ่มบุคคลหรือ วิธีการอื่นที่สามารถเชื่อถือได้ ชีอะฮฺก็ยอมรับเช่นกัน

เป็นการดีถ้าหากพิจารณา ๒ ประเด็นที่มีความสำคัญดังต่อไปนี้

เหตุผลที่ยึดมั่นซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) บรรดาอิมาม (อ.)ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการปฏิบัติตามอัล-กุรอาน และยังได้กล่าวแนะนำให้ยึดมั่นซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)  ซึ่งทั้ง ๒ เป็นความสมบูรณ์ของกันและกัน ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

إذا ورد عليكم حديثٌ فوجدتم له شاهداً من كتاب الله أو من قول رسول الله و إلا فالّذى جاءكم به اولى به

เมื่อใดก็ตามที่คำพูดหนึ่งได้มาถึงท่าน ดังนั้น ถ้าอัล-กุรอานและซุนนะฮฺรับรองคำพูดท่านจงรับไว้ แต่ถ้าไม่รับรอง คำพูดนั้นดีสำหรับคนนำมา [3]

ท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร (อ.) กล่าวว่าการยึดมั่นในซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับบุคคลที่เป็นมุจตะฮิด ท่านกล่าวว่า บุคคลที่เป็นฟะกีฮฺที่แท้จริงได้แก่ผู้ที่หลีกเลี่ยงความลุ่มหลงโลก  มีความพึงปรารถนาในโลกหน้า และยึดมั่นซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อย่างเคร่งครัด [4]

หมายเหตุ ฟะกีฮฺ หมายถึงบุคคลที่มีความชำนาญ และเชี่ยวชาญพิเศษด้านนิติศาสตร์อิสลาม

บรรดาอิมาม (อ.) ของชีอะฮฺมีความเคร่งครัดต่อซุนนะฮฺอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่ว่า ใครก็ตามขัดแย้งกับซุนนะฮฺ และอัล-กุรอานเป็นกาฟิร เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

مَن خَالَفَ كتاب الله و سنة محمدٍ فقد كفر

บุคคลใดก็ตามขัดแย้งกับอัล-กุรอานและซุนนะฮฺเป็นกาฟิร [5]

จากคำอธิบายดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า ชีอะฮฺเป็นนิกายที่มีความเคร่งครัดต่อซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อย่างยิ่ง อาจกล่าวได้ว่ามากกว่านิกายอื่น ๆ ทั้งหมด ดังนั้น การที่มีบางคนกล่าวหาชีอะฮฺว่าเป็นนิกายที่ละเลยต่อซุนนะฮฺ จึงไม่เป็นความจริง เป็นคำพูดที่ไม่มีแก่นสารและมูลความจริงแต่อย่างใด

เหตุผลที่ยึดมั่นต่อฮะดีซของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อคำพูดของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) จำเป็นต้องกล่าวถึงประเด็นสำคัญ ๒ ประการดังต่อไปนี้

๑. สาระและแก่นสารของฮะดีซของอิมาม (อ.)

๒. หลักฐานที่มั่นคงและความจำเป็นในการยึดมั่นฮะดีซแห่งอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.)

แม้ว่าจะมีหลักฐานและเหตุผลที่ชัดเจนมากมายบ่งบอกถึงความจำเป็นเหล่านั้น แต่เพื่อสร้างความมั่นใจจะอธิบายเพิ่มเติมดังนี้ว่า

แก่นสารฮะดีซของอิมาม (อ.) ชีอะฮฺเชื่อโดยหลักการว่าเฉพาะ อัลลอฮฺ (ซบ.) เท่านั้น ที่มีสิทธิ์สถาปนากฎหมายขึ้นปกครองประชาชาติ และสังคม และทรงประทานเราะซูลลงมาเพื่อเผยแผ่กฎหมายแก่ประชาโลก และเป็นที่ชัดเจนอีกเช่นกันว่าท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) คือตัวแทนของพระองค์ในการนำวะฮฺยูและกฎหมายต่าง ๆ มาสู่ประชาชาติ ส่วนการที่ชีอะฮฺยึดมั่นต่อฮะดีซของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) เป็นแหล่งที่มาสำคัญของฟิกฮฺชีอะฮฺ ไม่ได้หมายความว่าฮะดีซของอะฮฺลุลบัยตฺเป็นเอกเทศจากฮะดีซของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทว่าต้องเป็นฮะดีซที่อธิบายซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ด้วยเหตุนี้ ชีอะฮฺจึงยึดมั่นและบรรดาอิมามมะอฺซูมก็จะไม่กล่าวสิ่งใดออกมา บนพื้นฐานของอำนาจฝ่ายต่ำ หรืออารมณ์ของตนเอง แต่ทุกสิ่งที่ท่านกล่าวล้วนเป็นซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทั้งสิ้น และเพื่อพิสูจน์คำพูดของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ขอกล่าวฮะดีซต่อไปนี้

๑. ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้ตอบคำถามชายคนหนึ่งที่ถามท่าน โดยตอบว่า

مهما أجبتك فيه بشيئ فهو عن رسول الله لسنا نقول برأينا من شيئ

ทุกคำตอบที่ฉันตอบท่าน ล้วนมาจากท่านศาสดาทั้งสิ้น พวกเราจะไม่พูดสิ่งใดตามทัศนะของเรา [6]

ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวต่ออีกว่า

 

 

حديثى حديثُ أبى، و حديث أبى حديث جدى، و حديث جدى حديث الحسين، و حديث الحسين حديث الحسن، و حديث الحسن حديث امير المؤمنين، و حديث امير المؤمنين حديث رسول الله، و حديث رسول الله قولُ اللِّه عزّ و جلّ

คำพูดของฉันคือคำพูดของบิดาฉัน (อิมามบากิร) คำพูดของบิดาฉันคือคำพูดของปู่ฉัน (อิมามซัยนุลอาบิดีน) คำพูดของปู่ฉันคือคำพูดของอิมามฮุซัยนฺ คำพูดของอิมามฮุซัยนฺคือคำพูดของอิมามฮะซัน คำพูดของอิมามฮะซันคือคำพูดของอิมามอะลี คำพูดของอิมามอะลีคือคำพูดของท่านศาสดา คำพูดของท่านศาสดาคือพระดำรัสของอัลลอฮฺผู้ทรงเกรียงไกร [7]

๒. อิมามมุฮัมมัดบากริ (อ.) กล่าวกับญาบิรว่า

حدثّّنى أبى عن جدّى رسول الله (ص) عن جبرائيل عن الله عزّوجلّ، وكلّما اُحَدِّثُكَ بهذا الاِسناد

บิดาของฉันได้เล่าแก่ฉัน โดยรายงานมาจากปู่ทวดของฉันเราะซูลุลลอฮฺ (ซ็อล ฯ)  จากญิบรออีล (อ.)  จากอัลลอฮฺ (ซบ.) ผู้ทรงเกรียงไกร และทุกสิ่งที่ฉันได้บอกกับท่านล้วนมาจากสายรายงานเหล่านี้ [8]

จากริวายะฮฺที่กล่าวมาทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า   เนื้อหาสาระของ  ฮะดีซแห่งอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ผู้เป็นอิมามของนิกายชีอะฮฺ ก็คือซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นั่นเอง

หลักฐานที่มั่นคงและความจำเป็นในการยึดมั่นฮะดีซแห่งอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.)

นักฮะดีซทั้งฝ่ายชีอะฮฺ และซุนนียฺต่างยอมรับว่า ท่านศาสดา     (ซ็อล ฯ) ได้ละทิ้งมรดก ๒ ประการที่มีค่ายิ่งไว้ท่ามกลางประชาชาติ ท่านได้ประกาศเชิญชวนประชาชาติทั้งหลายให้เชื่อฟังปฏิบัติตามทั้งสองอย่างเคร่งครัด และท่านได้รับรองว่า ความเจริญผาสุกของประชาชาติขึ้นอยู่กับการยึดมั่นกับทั้งสอง ได้แก่อัล-กุรอานคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และอิตรัต (ทายาท) ของท่าน

จากจุดนี้ขอนำเสนอบางตอนของริวายะฮฺ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

๑. เซาะฮียฺ ติรมิซียฺ ได้รายงานมาจากท่านญาบิร อับดุลลอฮฺ อันซอรียฺ จากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า

يا أيّهالنّاس إنّى قد تركت فيكم ما إن أخذتم به لن تضلّوا: كتاب الله و عترتى أهل بيتى

โอ้ประชาชนทั้งหลาย แทจริงฉันได้ฝากสิ่งที่มีค่ายิ่งไว้ในหมู่สูเจ้า ถ้าหากสูเจ้ายึดมั่นจะไม่หลงทางตลอดไป ได้แก่คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และอิตรัต (ทายาท) ของฉัน [9]

๒. ติรมิซียฺ ได้บันทึกไว้ในหนังสือของตนอีกว่า

قال رسول الله صلى الله عليه وسلم إنّى تاركٌ فيكم ما إن تمسكتم به لن تضلّوا بعدى أحد هما أعظم من الآخر كتاب الله حبل ممدود من السماء إلى الأرض و عترتى أهل بيتى و لن يفترقا حتى يردا علىّ الحوض، فانظروا كيف تخلفونى فيهما

ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า แท้จริงฉันได้ฝากสิ่งสำคัญยิ่งไว้ในหมู่สูเจ้า ถ้าสูเจ้ายึดมั่นกับสิ่งนั้นหลังจากฉันจะไม่หลงทางตลอดไป สิ่งหนึ่งมีความยิ่งใหญ่กว่าอีกสิ่ง คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ อันเป็นสายเชือกที่ทอดตรงจากฟากฟ้าสู่แดนดิน และอิตรัต (ทายาท) ของฉัน ซึ่งทั้งสองจะไม่แยกออกจากกัน จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำ ดังนั้น จงพิจารณาเถิดว่า หลังจากฉันพวกท่านขัดแย้งกับทั้งสองได้อย่างไร [10]

๓. มุสลิม บิน ฮัจญาจ ได้บันทึกไว้ในหนังสือเซาะฮียฺของตน โดยรายงานริวายะฮฺมาจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า

 

 

ألا ايّها الناس فإنّما أنا بشر يوشك أن يأتي رسول ربّي فاجيب وأنا تارك فيكم ثقلين اوّلهما كتاب الله فيه الهدى والنّور فخذوا بكتاب الله واستمسكوا به فحثّ على كتاب الله ورغّب فيه ثمّ قال : وأهل بيتي اُذكّركم الله في أهل بيتي اُذكّر كم الله في أهل بيتي اُذكّر كم الله في اهل بيتي

โอ้ประชาชนเอ๋ย  แท้จริงแล้วฉันเป็นปุถุชนคนหนึ่งเท่านั้น ใกล้เวลาที่ทูตแห่งพระผู้อภิบาลจะมา ซึ่งฉันได้ตอบรับคำเชิญแล้ว ฉันขอฝากสิ่งหนักสองสิ่งที่มีค่ายิ่งไว้ในหมู่ของพวกท่าน สิ่งหนึ่งคือคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ ซึ่งในนั้นมีทางนำและนูร ฉะนั้นจงยึดเหนี่ยวคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺไว้ให้มั่น ซึ่งท่านได้เน้นย้ำถึงการปฏิบัติตามคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ หลังจากนั้นท่านได้กล่าวต่ออีกว่า ส่วนอะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาท) ของฉัน ซึ่งได้กล่าวย้ำถึง ๓ ครั้งว่า อัลลอฮฺได้เตือนสำทับพวกท่านเกี่ยวกับอะฮฺลุลบัยตฺของฉัน อัลลอฮฺได้เตือนสำทับพวกท่านเกี่ยวกับอะฮฺลุลบัยตฺของฉัน อัลลอฮฺได้เตือนสำทับพวกท่านเกี่ยวกับอะฮฺลุลบัยตฺของฉัน [11]

๔. นักฮะดีซกลุ่มหนึ่ง รายงานริวายะฮฺมาจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า

أنى تارك فيكم الثقلين كتاب الله و أهل بيتى و إنّهما لن يفترقا حتى يردا على الحوض

แท้จริงฉันได้ฝากสิ่งหนัก ๒ สิ่งไว้ในหมู่พวกท่าน คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และอิตรัต (ทายาท) ของฉัน ทั้งสองจะไม่แยกออกจากกัน จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำ [12]

สิ่งจำเป็นที่ต้องกล่าวถึงคือ ฮะดีซเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากกว่าที่ได้กล่าวมา มุฮักกิก บุรูมัน ซัยยิด มีร ฮามิด ฮุซัยนฺได้บันทึกรายงานฮะดีซบทนี้ไว้ในหนังสือ อะบะกอตุลอันวาร จำนวน ๖ เล่ม

จากฮะดีซที่กล่าวมาเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การปฏิบัติตามอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) เคียงข้างอัล-กุรอานและซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นสิ่งจำเป็นในอิสลาม ส่วนการละเลยคำสั่งสอนของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) เป็นสาเหตุทำให้หลงทาง

อะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) เป็นใคร ทำไมท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงสั่งว่าเป็น วาญิบสำหรับมุสลิมทั้งหลายต้องปฏิบัติตาม ฉะนั้นเป็นการดีที่จะทำการวิเคราะห์ริวายะฮฺต่าง ๆ ที่กล่าวถึงบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) เพื่อความเข้าใจที่ดีต่อไป

อะฮฺลุลบัยตฺ (.) เป็นใคร จากริวายะฮฺที่กล่าวมาเป็นที่ชัดเจนว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เชิญชวนมุสลิมทั้งหมดให้ปฏิบัติตามอะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาท) ของท่าน ซึ่งอยู่เคียงข้างกับอัล-กุรอานคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ภายหลังจากท่าน ท่านได้กล่าวเป็นพิเศษว่าอะฮฺลุลบัยตฺและอัล-กุรอานจะไม่มีวันแยกทางกันอย่างเด็ดขาด

บนพื้นฐานของฮะดีซซเะกาะลัยนฺจะเห็นว่า อะฮฺลุลบัยตฺ (.) คือบุคคลที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แนะนำว่าพวกเขาจะอยู่เคียงข้างกับอัล-    กุรอานตลอดไป เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ปราศจากบาป และเป็นที่ย้อนกลับของความรู้ภายหลังจากท่าน มิเช่นนั้นแล้วอะฮฺลุลบัยตฺต้องแยกออกจากอัล-กุรอานแน่นอน ขณะที่ท่านกล่าวย้ำว่า อัล-กุรอานกับอะฮฺลุลบัยตฺจะไม่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดจนกว่าทั้งสองจะย้อนกลับคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำ

ด้วยเหตุนี้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้จักอะฮฺลุลบัยตฺ  (อ.) อย่างลึกซึ้งทั้งบุคลิกภาพและคุณลักษณะส่วนตัว ณ ที่นี้จะขอกล่าวรายงานเกี่ยวกับบุคลิกส่วนตัวของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ที่นักฮะดีซส่วนมากได้รายงานไว้ เช่น

๑. มุสลิม บิน ฮัจญาจ หลังจากกล่าวถึงอะดีซซะเกาะลัยนฺแล้ว กล่าวว่า ยะซีด บิน ฮัยยาน ได้ถามซัยดฺ บิน อัรกอมว่า อะฮฺลุลบัยตฺของท่านศาสดาเป็นใคร พวกเขาคือเหล่าภรรยาของท่านศาสดาหรือ

ซัยดฺ บิน อัรกอม กล่าวตอบว่า

لا وَايم الله إن المرأة تكون مع الرّجل العصر من الدّهر ثمّ يطلّقها فترجع إلى أبيها و قومها أهل بيته أصله و عصبته  الّذين حُرِمُوا الصّدقه بعده

ไม่ (ไม่ใช่เช่นนี้) ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า แท้จริงผู้หญิงจะอยู่กับผู้ชายแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีการหย่าร้างเธอก็กลับไปอยู่กับครอบครัวเหมือนเดิม ดังนั้น จุดประสงค์ของอะฮฺลุลบัยตฺหมายถึงบุคคลที่มาจากเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน และภายหลังจากศาสดาเซาะดะเกาะฮฺเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) สำหรับพวกเขา [13]

ริวายะฮฺดังกล่าวได้ยืนยันถึงความจริงประการหนึ่งว่า จุดประสงค์ของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) หมายถึงบุคคลที่การยึดมั่นกับพวกเขาเป็นวาญิบเท่าเทียมกับ การปฏิบัติตามอัล-กุรอาน ซึ่งไม่ได้รวมเหล่าภรรยาของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และนอกจากความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่มีกับท่านแล้ว บรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ ยังมีความสัมพันธ์ด้านจิตวิญญาณที่ละม้ายคล้ายคลึงกับท่านอย่างยิ่ง อันเป็นความพิเศษที่มีเฉพาะอะฮฺลุลบัยตฺเท่านั้น ท่านจึงได้แนะนำประชาชนว่าอะฮฺลุลบัยตฺของฉัน เป็นที่ย้อนกลับของความรู้ทั้งหลาย ภายหลังจากฉัน

๒. ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) เพียงอย่างเดียว ท่านยังได้บอกจำนวนอะฮฺลุลบัยตฺไว้ด้วยว่ามี ๑๒ ท่าน

มุสลิมได้รายงานจาก ญาบิร บิน ซัมเราะฮฺว่า

سمعتُ رسول الله صلّى الله عليه و سلم يقول : لا يزال الاسلام عزيزاً إلى اثنى عشر خليفةً، ثمّ قال كلمة لم أفهمها، فقلتُ لأبى : ماقال ؟ فقال كلّهم من قريش

ฉันได้ยินท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า อิสลามจะดำรงอยู่อย่างมีเกียรติด้วยเคาะลิฟะฮฺ ๑๒ ท่าน หลังจากนั้นท่านได้กล่าวบางอย่าง แต่ฉันไม่เข้าใจ ฉันถามบิดา ว่า ท่านกล่าวว่าอะไร  บิดาฉันพูดว่า ท่านบอกว่าเคาะลิฟะฮฺทั้งหมดเป็นชาวกุเรช [14]

มุสลิม บิน ฮัจญาจ ได้รายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อีกว่า

لا يزال أمر النّاس ما ضياً ما وليهم إثنا عشر رجلاً

กิจการต่าง ๆ ที่ดีของประชาชนจะผ่านไปด้วยดี ตราบที่ผู้ปกครองของพวกเขาคือ ๑๒ เคาะลิฟะฮฺ [15]

ฮะดีซดังกล่าวได้ยืนยันถึงความถูกต้องของหลักการของชีอะฮฺที่ว่า ภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องมีอิมามอีก ๑๒ ท่าน เนื่องจากหลักการอิสลามระบุว่าเคาะลิฟะฮฺทั้ง ๑๒ ท่านมีหน้าที่ปกครองดูแล เป็นที่ย้อนกลับของความรู้สำหรับประชาชน และเป็นรากฐานที่มั่นคงของอิสลามหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ดังนั้นเคาะลิฟะฮฺ ๑๒ ท่านตามที่ฮะดีซกล่าวไว้ นอกจากอะฮฺลุลบัยตฺ ๑๒ ท่านแล้วไม่สามารถเป็นบุคคลอื่นได้ เพราะนอกจากเคาะลิฟะฮฺทั้ง ๔ หรือที่มุสลิมส่วนใหญ่รู้จักกันในนามของเคาะลิฟะฮฺรอชิดีน ผู้นำหลังจากนี้ไม่ว่าจะมาจากสายตระกูลบะนีอุมัยยะฮฺหรืออับบาซียะฮฺ ล้วนมีความประพฤติที่ไม่ดีทั้งสิ้น ดังที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าความตกต่ำของอิสลาม และประชาชาติมุสลิมเกิดจากน้ำมือของผู้ปกครองเหล่านี้

ด้วยเหตุนี้ จุดประสงค์ของอะฮฺลุลบัยตฺตามที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แนะนำว่าพวกเขาอยู่เคียงข้างกับอัล-กุรอานโดยจะไม่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด อีกทั้งเป็นที่ย้อนกลับของความรู้ทั้งหลาย หมายถึงอิมามหรือเคาะลิฟะฮฺ ๑๒ ท่านนั่นเอง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาหลักการอิสลาม ซุนนะฮฺ และอุ้มชูความรู้ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ให้ธำรงอยู่ต่อไป

๓. อะมีรุลมุอฺมินีน (อ.) ผู้นำมวลมุสลิมทั้งหลายได้กล่าวยืนยันว่าผู้นำหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ล้วนเป็นชาวกุเรชทั้งสิ้น ซึ่งเป็นหลักฐานที่สนับสนุนหลักการของชีอะฮฺได้เป็นอย่างดี ท่านกล่าวว่า

إنّ الائمة من قريش غرسوا فى هذا البطن من بنى هاشم لا تصلح على من سواهم و لا تصلح الولاة من غير هم

แท้จริงอิมามล้วนเป็นชาวกุเรชมาจากตระกูลบะนีฮาชิม นอกจากพวกเขาแล้วบุคคลอื่นไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำประชาชน  และการปกครองของพวกเขาไม่มีรากที่มา [16]

สรุป จากริวายะฮฺทั้งหมดที่กล่าวมาได้รับความจริง ๒ ประการดังนี้

๑. การยึดมั่นและปฏิบัติตามอะฮฺลุลบัยตฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นวาญิบเท่าเทียมกับการปฏิบัติตามอัล-กุรอาน

๒. อะฮฺลุลบัยตฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เท่าเทียมกับอัล-กุรอาน ในฐานะที่ถูกแนะนำว่าเป็นที่ย้อนกลับของความรู้ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษดังต่อไปนี้

ก. ทั้งหมดมาจากเผ่ากุเรชตระกูลบะนีฮาชิม

ข. ทั้งหมดเป็นเชื้อสายใกล้ชิดสืบมาจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งการเซาะดะเกาะฮฺฮะรอมสำหรับพวกเขา

ค. ทั้งหมดเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากบาป ถ้าไม่เช่นนั้น พวกเขาต้องแยกออกจากอัล-กุรอาน ขณะที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ทั้งสอง (กุรอานและอิตรัต) จะไม่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำ

ง. ทั้งหมดมี ๑๒ ท่าน และแต่ละท่านได้เป็นอิมามปกครองประชาชาติ ภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

จ. เคาะลิฟะฮฺทั้ง ๑๒ ท่าน เป็นสาเหตุนำความยิ่งใหญ่และเกียรติยศที่สูงส่งมาสู่อิสลาม

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติต่าง ๆ จากริวายะฮฺที่กล่าวมา ซึ่งมีความชัดเจนยิ่งกว่าแสงแดดตอนกลางวัน ทำให้ประจักษ์ชัดว่าจุดประสงค์ของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แนะนำให้มุสลิมทั้งหลายปฏิบัติตามก็คือ อิมาม ๑๒ ท่านที่สะอาดบริสุทธิ์เป็นทายาทของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งบรรดาชีอะฮฺได้ยึดถือปฏิบัติตาม และถือเป็นเกียรติยศที่ได้รู้จักอะฮฺกามและความรู้ด้านอื่นจากท่าน

 

 



[1] อุซูล กาฟียฺ เล่มที่ ๑ กิตาบฟัฎลุอิลมฺ ฮะดีซที่ ๓

[2] อ้างแล้วเล่มเดิม ฮะดีซที ๕

[3] อ้างแล้วเล่มเดิม

[4] อ้างแล้วเล่มเดิม ฮะดีซที่ ๘

[5] เล่มเกิม ฮะดีซที่ ๖

[6] ญามิอฺ อะฮาดิซุชชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๒๙

[7] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้าที่ ๑๒๗

[8] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้าที่ ๑๒๘

[9] เซาะฮียฺติรมิซียฺ กิตาบุลมะนากิบ บาบุลมะนากิบอะฮฺลุบัยตินนะบี เล่มที่ ๕ พิมพ์เบรุต หน้าที่ ๖๖๒ ฮะดีซที่ ๓๗๘๖

[10] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้าที่ ๖๖๓ ฮะดีซที่ ๓๗๘๘

[11] เซาะฮียฺมุสลิม ญุซที่ ๗ บาบ ฟะฎออิล อะลี บิน อะบีฏอลิบ พิมพ์ที่อียิปต์ หน้าที่ ๑๒๒, ๑๒๓

[12] มุสตัดร็อก อัลฮากิม ญุซที่ ๓ หน้าที่ ๑๔๘, อัซเซาะวาอิกุลมุฮฺริเกาะฮฺ บาบที่ ๑๑ หมวดที่ ๑ หน้าที่ ๑๔๙

[13] เซาะฮียฺมุสลิม ญุซที่ ๗ บาบฟะฎออิล อะลี บิน อะบี ฏอลิบ พิมพ์ที่อียิปต์ หน้าที่ ๑๒๓

[14] เซาะฮียฺมุสลิม เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๓ พิมพ์ที่อียิปต์

[15] อ้างแล้วเล่มเดิม

[16] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ซุบฮฺ ซอลิฮฺ คุฏบะฮฺที่ ๑๔๔

 

index