back

คำถามที่ ๒๙ : ท่านอะบูฏอลิบได้สิ้นชีวิตลงในฐานะมุสลิมหรือไม่

next

คำถามที่ ๒๙ : ท่านอะบูฏอลิบได้สิ้นชีวิตลงในฐานะมุสลิมหรือไม่

คำตอบ : ท่านอะบูฏอลิบ บุตรของท่านอับดุลมุฏ็อลลิบ ซึ่งเป็นบิดาของท่านอิมามอะลี (อ.) และเป็นลุงของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ชีอะฮฺเชื่อโดยหลักการว่าท่านเป็นผู้ศรัทธาคนหนึ่ง ที่มีอีมานต่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และในยามคับขันที่ปัญหาต่าง ๆ ได้ถาถมเข้ามาในช่วงแรกของการประกาศอิสลาม ท่านเป็นผู้ช่วยเหลือท่านศาสดาที่ดีที่สุด

ครอบครัวของอะบูฏอลิบ ท่านได้ประสูติภายในครอบครัวของท่านอับดุลมุฏ็อลลิบ ผู้เป็นปู่ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นวีระบุรุษที่ปฏิบัติตามแนวทางของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วแคว้นอาหรับว่า ในช่วงที่สถานการณ์ตกต่ำและมีอันตรายอย่างใหญ่หลวง ท่านไม่เคยหลีกเลี่ยงการปกป้องแนวทางของพระผู้เป็นเจ้า ในตอนนั้นอับเราะฮะฮฺได้ยกกองทัพช้างมุ่งหน้ามายังมักกะฮฺเพื่อทำลายบัยตุลลอฮฺ ในระหว่างทางเหล่าทหารของอับเราะฮะฮฺได้ยึดฝูงอูฐของท่านไป เมื่อท่านอับดุลมุฏ็อลลิบต้องการนำฝูงอูฐกลับคืน จึงได้เดินเข้าไปหา  อับเราะฮะฮฺได้ถามด้วยความประหลาดใจว่า ทำไมท่านไม่ขอร้องฉันให้ยกทัพกลับ และไม่ต้องทำลายกะอฺบะฮฺ แทนการเรียกเอาฝูงอูฐกลับคืน

ท่านอับดุลมุฏ็อลลิบ ได้ตอบอย่างกล้าหาญด้วยความเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าว่า

 

أنا ربّ الإبل و للبيت ربّ يمنعه

ฉันเป็นเจ้าของฝูงอูฐ และบ้านหลังนี้ก็มีเจ้าของ ซึ่งเจ้าของจะปกป้องบ้านของเขาเอง

ในเวลานั้นท่านได้มุ่งหน้าไปยังมักกะฮฺและไปหยุดอยู่ที่ข้าง ๆ กะอฺบะฮฺ ขณะที่มือทั้งสองยังกำบั้งเหี้ยนม้าอยู่  ท่านได้กล่าวขึ้นว่า

ياربّ لا أرجولهم سواكا  ياربّ فامنع منهم حماكا

ان عدو البيت من عاداكا  امنعهم أن يخربوا فناكا

โอ้พระผู้อภิบาล ฉันไม่เคยมีความหวังกับใครอื่นเว้นแต่พระองค์ โอ้พระผู้อภิบาลโปรดรักษาฮะรัมให้ปลอดภัยจากศัตรู

ศัตรูบ้านหลังนี้ต้องการวิวาทกับพระองค์  โปรดขัดขวางพวกเขาในการทำลายบ้านของพระองค์ [1]

คำพูดเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้พูด (อับดุลมุฏ็อลลิบ บิดาของอะบูฏอลิบ) มีความศรัทธาและเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ด้วยเหตุนี้ยะอฺกูบียฺ จึงเขียนเกี่ยวกับอับดุลมุฏ็อลลิบไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของตน ซึ่งประโยคหนึ่งกล่าวว่า

رفض عبادة الأصنام و وحّد الله عزّوجل

อับดุลมุฏ็อลลิบเป็นผู้ห่างไกลจากการเคารพบูชารูปปั้น และมีความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว [2]

ลองพิจารณาดูซิว่า อับดุลมุฏ็อลลิบที่เคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียว มีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับอะบูฏอลิบบุตรชายของตน

อะบูฏอลิบในทัศนะของอับดุลมุฏ็อลลิบ จากมุมมองของประวัติศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ ทำให้ได้แง่คิดหลายประการ เช่น บางคนบอกว่าท่านอะบูฏอลิบเป็นผู้ล่วงรู้ถึงการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัด ในอนาคตอันใกล้

สมัยที่ ซัยฟฺ บิน ซียัซซัน เป็นผู้ปกครองฮะบะชะฮฺอยู่ ท่านอับดุลมุฏ็อลลิบในฐานะผู้นำขบวนได้เข้าพบ หลังจากที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ แล้ว ซัยฟฺได้กล่าวแสดงความยินดี กับอับดุลมุ ฏ็อลลิบว่า ช่างโชคดีเสียเหลือเกินที่ศาสดาผู้ทรงเกียรติ เป็นสมาชิกในครอบครัวท่าน หลังจากนั้นได้กล่าวถึงคุณสมบัติส่วนตัวของท่านศาสดาว่า

اسمه محمد يموت أبوه و أمّه ويكفله جدّه و عمّه

นามของเขาคือ มุฮัมมัด บิดามารดาของเขาจะเสียชีวิตลง และเขาจะได้รับการดูแลโดยปู่ และลุงของเขา [3]

และได้กล่าวถึงคุณสมบัติอื่น ๆ ของท่านศาสดาอีกว่า

يعبد الرّحمن و يدحض الشيطان و يخمد النيران و يكسر الأوثان قوله فصلٌ و حكمه عدلٌ و يأمر بالمعروف و يفعله و ينهى عن المنكر و يبطله

เขาเคารพภักดีในพระเจ้าผู้ทรงเมตตา ออกห่างจากชัยฏอนมารร้าย ดับไฟนรกที่ลุกโชน  ทำลายรูปปั้นทั้งหลาย คำพูดของเขาคือมาตรฐานในการจำแนกความจริงกับความเท็จ คำบัญชาของเขาวางอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม เขาจะเชิญชวนประชาชนไปสู่ความดี และเขาเป็นผู้ประพฤติความดี และเขาจะห้ามปรามความชั่วร้าย และเป็นผู้ทำลายความชั่ว [4]

หลังจากนั้นได้กล่าวกับอับดุลมุฏ็อลลิบว่า

انّك لجده يا عبد المطلب غير كذب

ไม่ต้องสงสัย ท่านคือปู่ของศาสดาท่านนั้น [5]

ท่านอับดุล มุฏ็อลลิบ เมื่อได้ยินคำกล่าวแสดงความยินดีเช่นนั้น ท่านได้ซัจดะฮฺขอบคุณ และกล่าวถึงการประสูติอันจำเริญของศาสดาว่า ฉันมีบุตรที่รักมากคนหนึ่ง ฉันได้แต่งงานเขากับสตรีที่มีเกียรตินามอามีนะฮฺ ซึ่งเป็นบุตรีของวะฮับ บิน อับดุลมะนาฟ และเธอได้คลอดบุตรชายมาคนหนึ่งฉันตั้งชื่อเขาว่ามุฮัมมัด หลังจากนั้นไม่นานบิดาและมารดาของเด็กน้อยก็ได้อำลาจากไป ฉันจึงฝากให้อะบูฏอลิบ ผู้เป็นลุงของเขาดูแล [6]

จากคำพูดดังกล่าวแสดงว่า อับดุลมุฏ็อลลิบ รู้เรื่องการเป็นศาสดาของหลานตั้งแต่ยังเด็กอยู่ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงนำหลานไปฝากให้อะบูฏอลิบ บุตรชายที่มีเกียรติอีกคนเป็นผู้ดูแล

อะบูฏอลิบ ในสายตาของบิดาเขาคือผู้ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว มีอีมานที่เข็มแข็ง และเป็นผู้ดำรงความดีงาม ท่านจึงได้ไว้ใจให้เป็นผู้ดูแลหลานชายผู้ที่จะได้เป็นศาสดาที่ยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้า [7]  

หลักฐานอีมานของอะบูฏอลิบ

๑. ผลงานด้านวรรณกรรมและวิชาการของอะบูฏอลิบ นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์อิสลามได้เขียน และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ อะบูฏอลิบไว้อย่างมาก จากคำพูดและบทวิเคราะห์ทางวิชาการ และวรรณกรรมเหล่านั้นทำให้เข้าใจถึงพลังศรัทธาและความสัตย์จริง ที่มีอยู่ในตัวของท่านอะบูฏอลิบอย่างไม่มีความคลางแคลงในอีกต่อไป บางท่านได้บันทึกคำพูดของอะบูฏอลิบ ซึ่งมีใจความว่า

ليعلم خيار النّاس أن محمدًا نبيّ كموسى والمسيح ابن مريم

أتانا بهدىٍ مثل ما أتيابه فكل بأمرالله يهدى و يعصم

โอ้ประชาชนที่รักทั้งหลาย จงรู้ไว้ว่ามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)  เหมือนกับมูซาและอีซาบุตรมัรยัมในฐานะที่เป็นศาสนทูต ผู้ซึ่งนำเอาคัมภีร์และบทบัญญัติจากฟากฟ้ามาสั่งสอนมนุษย์ มุฮัมมัดก็มีเช่นกัน ดังนั้นศาสดาทุกองค์จึงมีหน้าที่ชี้นำมนุษยชาติ และห้ามปรามไม่ให้ทำบาป [8]

ألم تعلموا أنا و جدنا محمداً    رسولاً كموسى خطّ فى أول الكتب

 

وأن عليه فى العباد محبّةً      ولا حيف فيمن خصه الله بالحب

บางตอนกล่าวว่า พวกท่านไม่รู้หรือว่าเรามีมุฮัมมัดเป็นศาสทูตเหมือนกับมูซา ซึ่งคัมภีร์แห่งฟากฟ้าได้กล่าวยืนยันไว้ ประชาชนทั้งหลายรักเขา และบุคคลที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ได้มอบเขาไว้ในหัวใจทุกดวง หัวใจดวงนั้นต้องไม่กดขี่

لقد أكرم الله النّبى محمداً    فأكرم خلق اللّه فى الناس احمد

وشقً له اسممه ليجله       فذو العرش محمودٌ وهذا محمداً

แน่นอนพระผู้เป็นเจ้าทรงให้เกียรติมุฮัมมัดผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์ ดังนั้นสิ่งถูกสร้างที่มีเกียรติที่สุดสำหรับพระองค์คือ อะฮฺมัด พระองค์ได้ตั้งชื่อศาสนทูตจากพระนามของพระองค์ ฉะนั้น พระผู้อภิบาลคือเจ้าของอรัช (บัลลังก์) ผู้ได้รับการสรรเสริญอย่างมาก (มะฮฺมูด) และนี่คือ มุฮัมมัด (ผู้ทำการสรรเสริญอย่างมากมาย) [9]

โอ้มุฮัมมัดเอ๋ย ศัตรูจะไม่มีวันกล้ำกรายท่านได้เด็ดขาด ตราบที่แผ่นดินยังไม่ได้กลบหน้าฉัน ฉะนั้นท่านจงปฏิวัติหน้าที่ของท่านต่อไปอย่าได้ย่อท้อ จงสร้างความจริงกลบเกลื่อนความเท็จ และจงทำให้สายตาทุกดวงมีรัศมี ท่านได้เชิญฉันไปสู่ศาสนาของท่าน ซึ่งฉันรู้ดีว่าท่านหวังดีกับฉัน และท่านได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างองอาจเข็มแข็ง ฉันยอมรับในความชัดเจนนั้น และยืนยันว่าศาสนาของท่าน เป็นศาสนาที่ดีที่สุดบนโลกนี้ [10]

พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพยานให้ฉันว่า ฉันมีอีมานต่อการเป็นศาสดาของมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) มีคนมากมายที่หลงทางออกจากศาสนา แต่ฉันได้รับทางนำ [11]

นักวรรณคดีอาหรับได้บันทึกถึงการเสียสละ และการเป็นผู้ปกป้องศาสดาด้วยเลือดเนื้อของอะบูฏอลิบว่า

اوصى بنصر نبى الخير أربعة  إبنى علياً و شيخ القوم عباسًا

وحمزة الأسد الحامى حقيقته  وجعفرا أن تذودوا دونه النّاسا

كونوا فداءً لكم امّى وما ولدت  فى نصر احمد دون الناس اتراسا

ฉันได้มอบบุตรชาย ๔ คนให้เป็นผู้ช่วยเหลือศาสนทูตผู้สูงส่ง บุตรชายของฉันอะลี ผู้นำเผ่าเราอับบาซ ราชสีห์แห่งพระเจ้าฮัมซะฮฺผู้คอยปกป้องศาสดาอย่างใกล้ชิด และบุตรของฉันอีกคนญะอฺฟัร ผู้เวียนว่าย  รอบ ๆ ท่านเพื่อช่วยเหลือ และปกป้องให้ปลอดภัยจากศัตรู โอ้ลูกรักของฉัน พวกเธอจงเสียสละ และคอยช่วยเหลืออะฮฺมัดให้พ้นจากศัตรู [12]

و لينصرن الله من ينصره

บุคคลใดก็ตามถ้าได้เห็นวรรณคดีที่ได้อธิบายถึงความศรัทธา และความเชื่อของอะบูฏอลิบที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า และการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ซึ่งตรงกับหลักการของชีอะฮฺที่ว่า อะบูฏอลิบเป็นผู้ศรัทธามีอีมานต่อพระผู้เป็นเจ้า และศาสดาของพระองค์ เป็นผู้ช่วยเหลือศาสดา (ซ็อล ฯ) ทั้งในยามทุกข์และสุขโดยเฉพาะช่วงที่เผชิญปัญหาอย่างรุนแรงกับชาวมักกะฮฺ จากหลักฐานที่กล่าวมา ใครก็ตามเบี่ยงเบน หรือใส่ร้ายว่าท่านเป็นกาฟิร ถือว่าเป็นบุคคลที่มีอัคติอย่างรุนแรง หัวใจเป็นโรคร้ายยากต่อการเยียวยารักษา

๒. ความประพฤติและเสียสละของอะบูฏอลิบที่มีต่อศาสดาบ่งบอกถึงอีมานของท่าน นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลกอิสลาม ต่างยอมรับความเสียสละของท่านอะบูฏอลิบที่มีต่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอิสลาม สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่บ่งบอกถึงความเชื่อของท่าน ท่านอะบูฏอลิบได้ปกป้องและช่วยเหลือท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตลอดมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง ๓ ปีที่ท่านศาสดาถูกล้อมกรอบทางเศรษฐกิจ ณ ชุอฺบิ อะบีฏอลิบโดยเหล่าผู้นำชาวกุเรช ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มุสลิมทั้งหมดมารวมกันอย่างเหนียวแน่น และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จนหมดสิ้น

นอกจากนี้ท่านได้มอบบุตรชายคือท่านอะลีให้เป็นผู้ช่วยเหลือท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในทุกกิจการ และกำชับว่า อย่าทอดทิ้งศาสดาเด็ดขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีปัญหารุนแรง อิบนุ อะบิลฮะดีด มุอฺตะซิลียฺ ได้กล่าวไว้ในชัรฮฺนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺว่า ท่านอะบูฏอลิบได้กล่าวกับท่านอะลี (อ.) ว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า ท่านศาสดาเพียงแค่ต้องการเชิญเจ้าไปสู่ความดี ฉะนั้นเจ้าจงร่วมมือ ให้การช่วยเหลือ และอย่าทอดทิ้งศาสดาเด็ดขาด [13]

เป็นที่ประจักษ์ว่าความช่วยเหลือทั้งหมด ที่ท่านอะบูฏอลิบได้ปฏิบัติต่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นความเสียสละ และไม่มีความคลางแคลงใจว่าท่านได้ทำไปเพื่อปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของอิสลาม ดังนั้น สิ่งนี้สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงอีมานของท่าน

อิบนุอะบิลหะดีดได้กล่าวถึงวิถีชีวิตของท่านอะบูฏอลิบว่า ได้อุทิศเพื่อปกป้องชีวิตของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอิสลาม โดยกล่าวว่า

ولولا ابوطالب و ابنه       لما مثّل الّدين شخصا فقاما

فذاك بمكة آوى و حامى     وهذا بيثرب جسّ الحماما

 وما ضر مجد ابى طالب       جهول لغى أو بصير تعامى

ถ้าหากไม่มีอะบูฏอลิบและบุตร แน่นอนอิสลามจะไม่มั่นคงเหมือนที่เป็นอยู่

เขาได้ให้ที่พำนักและปกป้องศาสดาในมักกะฮฺ  เขากำหนดชะตากรรมของบุตรเพื่อโอบอุ้มความตาย

ไม่มีบุคคลใดจะเทียบได้เช่นอะบีฏอลิบ มิใช่ทั้งความโง่เขลาที่ไร้สาระ หรือปัญญาที่นำไปสู่ความเขลา

๓. พินัยกรรมของอะบูฏอลิบบ่งบอกถึงความศรัทธา นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเช่น ฮะละบียฺ ชาฟิอียฺ ได้บันทึกไว้ในตำราของท่าน และท่านมุฮัมมัดดิยาร บิกรียฺ บันทึกไว้ในหนังสือ อัล-เคาะมีซของท่านว่า ท่านอะบูฏอลิบได้บันทึกพินัยกรรมของท่านไว้ว่า

[يا معشر قريش كو نوا له ولاةً ، ولحزبه حماةً، والله لا يسلك أحد منكم سبيله إلاّ رشد و لا يأخذ أحدٌ يهديه إلاّ سعد، ولو كان لنفسى مدّة ولا جلى تأخّر لكففت عنه الهزائز و لد فعت عنه الدّواهى ثمّ هلك]

โอ้เครือญาติของฉันเอ๋ย พวกท่านจงเชื่อฟังปฏิบัติตามมุฮัมมัดเถิด และจงปกป้องอิสลามของมุฮัมมัด ฉันขอสาบานว่าใครก็ตามได้ปฏิบัติตามรัศมีแห่งทางนำของเขา จะได้พบกับความเจริญถ้าหากฉันยังไม่ตาย ฉันจะเป็นผู้ปกป้องและขจัดปัญหาทั้งทั้งหลายให้กับเขา เมื่อกล่าวจบท่านได้ สิ้นใจ [14]

๔. ความรักของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่มีต่ออะบูฏอลิบเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงอีมานของท่าน ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวชมเชยอะบูฏอลิบลุงของท่านไว้หลายครั้งตามโอกาสต่าง ๆ และบางครั้งท่านได้แสดงความรักและความเคารพท่านอะบูฏอลิบต่อหน้าสาธารณชน และการกระทำอีกหลายอย่างที่ท่าน ได้แสดงให้เห็นว่าอะบูฏอลิบเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดคนหนึ่ง เช่น

ก. นักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้บันทึกว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวแก่อะกีล บิน อะบีฏอลิบว่า

إنُِّى أحبّك حبّين حبّاً لقرابتك منىّ وحبّا لماكنت أعلم من حبّ عمّى إيّاك

ฉันรักเจ้าเนื่องจาก ๒ สาเหตุดังนี้คือ เจ้าเป็นเครือญาตที่ใกล้ชิดของฉัน สองเพราะฉันรู้ว่าลุงของฉัน (อะบูฏอลิบ) รักเจ้า [15]

ข. ฮะละบียฺได้บันทึกไว้ในหนังสือของท่านว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวยกย่องเกียรติยศของลุง (อะบูฏอลิบ) ของท่านว่า

مانالت قريش منىّ شيئا أكرهه ( أى اشد الكراهة) حتى مات أبو طالب

ตราบที่อะบูฏอลิบยังมีชีวิตอยู่ บรรดาผู้ปฏิเสธชาวกุเรชไม่สามารถกลั่นแกล้งฉันได้ [16]

แน่นอนการยกย่องเกียรติคุณ และความรักที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีต่อท่านอะบูฏอลิบ ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงความศรัทธาของอะบูฏอลิบ เนื่องจากอัล-กุรอานกล่าวว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะรักเฉพาะผู้ศรัทธาเท่านั้น ส่วนผู้ปฏิเสธหรือมุชริก (ผู้ตั้งภาคี) ท่านจะไม่ใส่ใจอัล-กุรอานกล่าวว่า

 

مُّحَمَّدٌ رَّسُولُ اللَّهِ وَالَّذِينَ مَعَهُ أَشِدَّاءُ عَلَى الْكُفَّارِ رُحَمَاءُ بَيْنَهُمْ

มุฮัมมัดเป็นศาสดาแห่งอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขาเป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญต่อพวกปฏิเสธ เป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขาเอง [17]

อัล-กุรอานกล่าวว่า

لَا تَجِدُ قَوْمًا يُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ يُوَادُّونَ مَنْ حَادَّ اللَّهَ وَرَسُولَهُ وَلَوْ كَانُوا آبَاءَهُمْ أَوْ أَبْنَاءَهُمْ أَوْ إِخْوَانَهُمْ أَوْ عَشِيرَتَهُمْ أُوْلَئِكَ كَتَبَ فِي قُلُوبِهِمُ الْإِيمَانَ

เจ้าจะไม่พบหมู่ชนใดที่พวกเขาศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลก รักใคร่ผู้ที่ต่อต้านอัลลอฮฺ และศาสดาของพระองค์ ถึงแม้ว่าคนพวกนั้นจะเป็นพ่อเขา หรือลูกหลาน หรือพี่น้อง หรือเครือญาติของพวกเขาก็ตาม พวกเหล่านั้นอัลลอฮฺทรงบันทึกความศรัทธาไว้ในจิตใจของพวกเขา [18]

จากโองการที่กล่าวมาข้างต้นสามารถนำมาเทียบเคียงกับคำชมเชย และความรักที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีต่อท่านอะบูฏอลิบ ดังนั้นจะเห็นว่าไม่มีความเคลือบแคลงใด ๆ หลงเหลืออยู่อีก ถ้าหากท่านอะบูฏอลิบไม่ใช่ผู้ศรัทธาแม้ว่าจะมีศักดิ์เป็นลุงของท่านก็ตาม ท่านไม่มีสิทธิ์รัก แต่ความรักของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ย่อมแสดงให้เห็นถึงเกียรติยศที่สูงส่ง และพลัง   อีมานที่เข็มแข็งของอะบูฏอลิบที่มีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) และเราะซูล (ซ็อล ฯ)

๕. คำยืนยันของเหล่าเซาะฮาบะฮฺ บรรดาเซาะฮาบะฮฺส่วนมากได้ยืนยันถึงอีมาน และความสัตย์จริงที่ท่านอะบูฏอลิบมี ซึ่งจะกล่าวถึงบางส่วนเพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น เช่น

ก. มีชายคนหนึ่งใส่ร้ายท่านอะบูฏอลิบต่อหน้าท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านได้กล่าวกับเขาว่า

مَه فضّ الله فاك، والّذى بعث محمداً بالحق نبياّ لو شفع أبى فى كل مذنب على وجه الأرض لشفّعه الله

เจ้าจงเงียบเสีย  ขออัลลอฮฺทรงปิดปากเจ้าด้วย ฉันขอสาบานต่อพระผู้ทรงแต่งตั้งให้มุฮัมมัดเป็นศาสนทูต ถ้าบิดาของฉัน (อะบูฏอลิบ) ต้องการให้ชะฟาอฺกับคนที่ทำความผิดทุกคนบนโลก อัลลอฮฺจะประทานชะฟาอฺแก่เขา [19]

ท่านอิมามกล่าวอีกว่า

كانّ والله ابو طالب عبد مناف بن عبد المطلّب مؤمناً مسلماً يكتم أيمانه مخافةً على بنى هاشم أن تنابذها قريش

ฉันขอสาบานว่า อะบูฏอลิบ อับดุลมะนาฟ บุตรของอับดุลมุฏ็อลลิบ เป็นมุสลิมและเป็นมุอฺมิน ท่านได้อำพรางอีมานของท่านกับพวกปฏิเสธชาวกุเรช เพื่อไม่ให้พวกกุเรชเป็นศัตรูและกลั่นแกล้งบะนีฮาชิม

คำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) ไม่ได้กล่าวถึงอีมานของอะบูฏอลิบ เพียงอย่างเดียว ทว่าท่านได้ยกย่องอะบูฏอลิบว่าเป็นมวลมิตร (เอาลิยาอฺ) คนหนึ่งของอัลลอฮฺ (ซบ.) ถึงขั้นที่ว่าถ้าหากท่านต้องการให้ชะฟาอะฮฺแก่ใคร อัลลอฮฺ (ซบ.) จะอนุมัติให้ทันที

ข. อะบูซัร ฆอฟฟารียฺ ได้กล่าวถึงอะบูฏอลิบว่า

والله الذي لاإله إلا هو ما مات ابوطالبٍ رضى الله عنه حتى  اسلم

ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ว่า อะบูฏอลิบ (ขออัลลอฮฺทรงโปรดปราน) ไม่ได้ตายนอกจากว่าเขาได้เป็นมุสลิม [20]

ค. อับบาซ บิน มุฏ็อลลิบ และอะบูบักรฺ บิน อะบีเกาะฮาฟะฮฺ ได้รายงานริวายะฮฺหนึ่งที่มีสายรายงานจำนวนมากว่า

إنّ ابا طالب ما مات حتىّ قال : لا إله إلّا الله محمد رسول الله

อะบูฏอลิบไม่ได้ตาย นอกเสียจากได้ปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลฮฺ และมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ [21]

๖. อะบูฏอลิบในทัศนะของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) บรรดาอิมามมะอฺซูม (อ.) ยอมรับอีมานที่มั่นคงแข็งแรงของท่านอะบูฏอลิบ หลายต่อหลายครั้งที่บรรดาอิมามได้ปกป้องเกียรติยศของท่านอะบูฏอลิบ บุรุษผู้เสียสละและอุทิศชีวิตเพื่อปกป้องท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอิสลาม เช่น

ก. ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า

لو وُضع ايمان أبى طالب فى كفة ميزان و ايمان هذا الخلق فى الكفة الأخرى لرجح ايمانه

ถ้าหากเอาอีมานของอะบูฏอลิบวางไว้บนตราชั่งข้างหนึ่ง และนำเอา  อีมานของประชาชนวางไว้อีกข้างหนึ่งอีมานของอะบูฏอลิบจะหนักกว่า [22]

ท่านอิมามซอดิก (อ.) รายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า

إنّ ا صحاب الكهف أسرّوا الايمان و أظهروا الكفر فآتاهم الله أجرهم مرتين، وإنّ أباطالبٍ أسر الايمن و أظهر الشرك فاتاه الله أجره مرتين

แท้จริงอัซฮาบุลกะฮฺฟิ (ชาวถ้ำ)ได้ปิดบังความเชื่อของตน (เพราะสาเหตุสำคัญบางประการ) และเปิดเผยการปฏิเสธ ดังนั้นอัลลอฮฺจึงมอบรางวัลแก่พวกเขา ๒ ครั้ง ท่านอะบูฏอลิบปิดบังความศรัทธาและอิสลามของตน (เพราะสาเหตุสำคัญบางประการ) และเปิดเผยการปฏิเสธ ดังนั้นอัลลอฮฺจึงมอบรางวัลแก่เขา ๒ ครั้งเช่นกัน [23]

จากเหตุผลที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่ามีความกระจ่างชัดดุจดังแสงแดดตอนกลางวัน ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าท่านอะบูฏอลิบได้รับตำแหน่งดัง ต่อไปนี้

๑. มีอีมานต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) และเราะซูล (ซ็อล ฯ) อย่างมั่นคงแข็งแรง

๒. เป็นผู้ช่วยเหลือท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่ดีที่สุด และเป็นผู้เสียสละเพื่ออิสลาม

๓. ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) รักท่านอะบูฏอลิบอย่างไม่มีที่เปรียบเปรย

๔. ท่านได้รับตำแหน่งผู้ให้ชะฟาอะฮฺ ณ อัลลอฮฺ (ซบ.)

ด้วยเหตุนี้ คำใส่ร้ายท่านที่อธรรมที่สุดจึงสามารถยุติได้ด้วยคำอธิบายที่ผ่านมา และจากสิ่งที่กล่าวมาทำให้ได้รับความจริง ๒ ประการดังต่อไปนี้

๑. อีมานของท่านอะบูฏอลิบเป็นที่ยอมรับของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เซาะฮาบะฮฺ อิมามอะลี (อ.) และบรรดาอิมามท่านอื่นทั้งหมด

๒. คำใส่ร้ายต่าง ๆ ที่ได้กล่าวหาท่านอะบูฏอลิบไม่มีเหตุผลและไม่มีที่มา ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองโดยได้รับการสนับสนุนจากบะนีอุมัยยะฮฺและบะบีอับบาซ ราชวงศ์ทั้ง ๒ ที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) และลูกหลานของอะบูฏอลิบทุกคน

ประกอบกับมีบางกลุ่มชนต้องการลดฐานะภาพของท่านอะลี และอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ให้ทัดเทียมกับพวกเขา และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความคับแค้นใจของพวกกลับกลอกส่วนใหญ่คือ ชาติกำเนิดที่สูงส่งของอะลี (อ.) และบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ดังนั้น เมื่อหมดหนทางที่จะทำอย่างอื่นจึงหันมาทำลายบุคลิกส่วนตัว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นทั้งลุง บิดาบุญธรรม และเป็นผู้ช่วยเหลือที่ดีที่สุดในการประกาศสาส์นของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่สำคัญส่วนใหญ่ได้ยึดถือฮะดีซที่อ่อนที่สุดเป็นหลักฐานในการกล่าวหาว่าท่านอะบูฏอลิบไม่ได้เป็นมุสลิม

วิเคราะห์ฮะดีซที่ไม่ลึกซึ้ง (ตื่นเขิน) นักเขียนบางท่านเช่น บุคอรียฺ และมุสลิมได้รายงานฮะดีซจากรอวียฺ เช่น ซุฟยาน บิน ซะอีด เซารียฺ อับดุลมาลิก บิน อุมีร อับดุลอะซีซ บิน มุฮัมมัดดะรอวัรดียฺ  และลีซ บิน ซะอัด ซึ่งได้อ้างคำพูด ๒ ประโยคต่อไปนี้ว่าเป็นคำพูดของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า

وجدته فى غمراتٍ من النار فأخرجته إلى ضحضاح

ฉันได้พบเขา (อะบูฏอลิบ) ที่ก้นบึ้งของไฟ และฉันได้นำเขาออกมายังสระน้ำตื่น

لعلّه تنفعه شفاعتى يوم القيامة فيجعل فى ضحضاح من النّار يبلغ كعبيه يغلى منه دماغه

หวังว่าในวันฟื้นคืนชีพชะฟาอัตของฉัน อาจจะเป็นประโยชน์กับเขา (อะบูฏอลิบ) ดังนั้นเขาจะถูกจับให้อยู่ตรงบริเวณที่มีเปลวไฟตื่นแค่ตาตุ่ม แต่ว่าสมองของเขาจะเดือดพล่าน [24]

แม้ว่าริวายะฮฺที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นเหตุผลที่ดีพอ ที่ยืนยันถึงความศรัทธาของท่านอะบูฏอลิบ และทำให้คำพูดที่กล่าวข้างต้นไร้สาระตลอดจนคำใส่ร้ายต่าง ๆ ก็จะหมดความหมายทันที แต่เพื่อความกระจ่างและชัดเจนมากยิ่งขึ้นจะทำการวิเคราะห์คำพูดดังกล่าวดังนี้

๑. เป็นคำพูดที่ไม่มีที่มาและสายรายงาน

๒. ขัดแย้งกับอัล-กุรอานและซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

ฮะดีซที่ไม่มีรากที่มา และสายรายงาน ดังที่กล่าวไปแล้วว่าผู้รายงานฮะดีซดังกล่าวคือ ซุฟยาน บิน ซะอีด เซารียฺ อับดุลมาลิก บิน อุมีร อับดุลอะซีซ บิน มุฮัมมัดดะรอวัรดียฺ  และลีซ บิน ซะอัด

เมื่อตรวจสอบสายรายงานฮะดีซกับนักริญาล (ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบสถานภาพของนักฮะดีซ) ของฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺ สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้ว่า

๑. ซุฟยาน บิน ซะอีด เซารียฺ อะบู อับดิลลาฮฺ มุฮัมมัด บิน อะฮฺมัด บิน อุซมาน ซะฮะบียฺ เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านอิลมุริญาลของฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺ กล่าวถึงซุฟยานว่า

ซุฟยาน บิน เซารียฺ ได้รายงานฮะดีซปลอมที่แต่งขึ้นจากผู้รายงานที่อ่อนเชื่อถือไม่ได้

คำพูดสั้น ๆ ของนักริญาลแต่มีความชัดเจนได้บ่งบอกว่า นอกจาก  ริวายะฮฺจะเชื่อถือไม่ได้แล้ว รอวียฺยังเฎาะอีฟ (อ่อน) ไม่หน้าเชื่อถือ เนื่องจากรายงานริวายะฮฺที่เฎาะอีฟ (เชื่อถือไม่ได้) หรือรายงานมาจากบุคคลที่มีความคลางแคลงใจ มีสถานภาพไม่หน้าไว้วางใจ หรือไม่เป็นที่รู้จักชัดเจน เช่น ซุฟยาน บิน ซะอีด เซารียฺ ริวายะฮฺของเขาไม่เป็นที่เชื่อถือ

๒. อับดุลมาลิก บิน อุมีร ซะฮะบียฺได้กล่าวถึงเขาว่า เป็นคนที่มีอายุยืน แต่ว่าบั้นปลายกลายเป็นคนความจำเสื่อม อะบูฮาตัม พูดว่า เขาไม่สามารถท่องจำและรักษาฮะดีซได้ ความจำของเขาได้สูญเสียไป

อะฮฺมัดฮัมบัล พูดว่าอับดุลมาลิก บิน อุมีร เป็นคนเฎาะอีฟ (เชื่อถือไม่ได้) และผิดพลาดอย่างมาก (เนื่องจากรายงานฮะดีซที่ไม่มีที่มาและส่วนใหญ่เป็นฮะดีซปลอม) อิบนุ มุอีน พูดว่า เขาได้ผสมปนเประหว่างฮะดีซที่ถูกต้องกับฮะดีซที่ไม่ถูกต้อง อิบนุคัรรอช พูดว่าชุอฺบะฮฺไม่พอใจเขามากเท่าใดนัก และกูซัจ ได้รายงานจากอะฮฺมัดฮัมบัลว่า อับดุลมาลิก บิน อุมีรเป็นคนที่อ่อนมากเชื่อถือไม่ได้แม้แต่นิดเดียว [25]

สรุปทัศนะที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า อับดุลมาลิก บิน อุมีร เป็นคนที่มีบุคลิกดังต่อไปนี้

๑. เป็นคนความจำเสื่อมและไม่จดจำสิ่งใด

๒. เป็นคนเฎาะอีฟ ตามหลักการของฮะดีซหมายถึง บุคคลที่ริวา ยะฮฺของเขาเชื่อถือไม่ได้

๓. มีความผิดพลาดอย่างมาก

๔. เป็นคนไม่มีความละเอียดอ่อน (ชอบผสมระหว่างริวายะฮฺที่ถูกต้องกับริวายะฮฺที่ไม่ถูกต้อง)

เป็นที่ชัดเจนว่าคุณสมบัติแต่ละประเภทที่กล่าวมา ไม่ได้บ่งบอกว่า  ริวายะฮฺของอับดุลมาลิกอ่อนเชื่อถือไม่ได้เพียงอย่างเดียว ทว่าคุณสมบัติเหล่านี้เป็นบุคลิกภาพส่วนตัวของอับดุลมาลิก

๓. อับดุลอะซีซ บิน มุฮัมมัดดะรอวัรดียฺ  นักริญาลฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺทั้งหมดพูดว่า เขาเป็นคนชอบลืม ไม่มีความทรงจำซึ่งไม่สามาถนำริวา ยะฮฺของเขามาเป็นหลักฐานได้ อะฮฺมัดฮัมบัล พูดว่า ทุกครั้งที่เขาท่องฮะดีซ เขาจะพูดไม่รู้เรื่อง และไร้ แก่นสาร [26] อะบูฮาตัม พูดว่า ไม่สามารถนำคำพูดของเขามาเป็นหลักฐานได้ อะบูซัรรออะฮฺ พูดว่า เขาเป็นคนที่มีความจำแย่มาก

๔. ลีซ บิน ซะอัด นักริญาลฝ่ายอะฮฺลุซซุนนะฮฺพูดว่า เขาเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก อีกทั้งเฎาะอีฟ ริวายะฮฺของเขาไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิง และเชื่อถือไม่ได้ [27]

ลีซ บิน ซะอัด เป็นหนึ่งในนักฮะดีซที่เฎาะอีฟ ไม่มีควมรับผิดชอบ และไม่มีอามานะฮฺในการฟังฮะดีซ ซึ่งผู้ที่รายงานฮะดีซจากเขาส่วนมากเป็นคนสับเพร่าเหมือนกับเขา

ยะฮฺยาบินมุอีน พูดว่าลีซ บิน ซะอัด เป็นคนสับเพร่าในการฟัง และรายงานฮะดีซจากรอวียฺ [28]

 นะบาตียฺ พูดว่าลีซ บิน ซะอัด เป็นคนเฎาะอีฟมาก เขาได้บันทึกไว้ในหนังสือของเขา [29] ว่าฉันจะรายงานเฉพาะรอวียฺที่เฎาะอีฟเท่านั้น [30]

จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้รู้ว่ารอวียฺ ฮะดีซฎุฮฺฎอฮฺ เฎาะอีฟ และไม่สามารถนำเอามาเป็นหลักฐานอ้างอิง อีกทั้งเชื่อถือไม่ได้

ตัวบทฮะดีซขัดแย้งกับอัล-กุรอาน  และซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

ฮะดีซที่กล่าวมาได้แอบอ้างว่าเป็นฮะดีซของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่ว่า ท่านอะบูฏอลิบ อยู่ในไฟนรกที่ลุกแค่ตาตุ่มและท่านศาสดาได้ช่วยเหลือออกมา ด้วยเหตุนี้โทษของอะบูฏอลิบจึงลดหย่อนลงไป หรือศาสดามีความหวังว่าในวันกิยามะฮฺจะให้ชะฟาอะฮฺแก่อะบูฏอลิบ ขณะที่ทั้งอัล-      กุรอานและซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ระบุว่าการลดหย่อนผ่อนโทษในวันกิยามะฮฺ และชะฟาอะฮฺของท่านจะให้เฉพาะผู้ศรัทธา และมุสลิมเท่านั้น ดังนั้น อะบูฏอลิบในฐานะที่เป็นกาฟิร (ผู้ปฏิเสธ) ท่านศาสดาจึงไม่มีสิทธ์ให้ชะฟาอะฮฺแก่เขา และโทษทัณฑ์ของเขาก็จะไม่ได้รับการลดหย่อน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) มิได้เป็นสาเหตุทำให้อะบูฏอลิบได้รับชะฟาอะฮฺ หรือได้รับการลดหย่อนโทษแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่ารากฐานของฮะดีซ ฎุฮฺฎอฮฺ เฎาะอีฟอย่างมากสิ่งที่ตามมาคือคำใส่ร้ายที่ว่า ท่านอะบูฏอลิบเป็นกาฟิรจึงไม่มีมูลความจริง

ขอนำเสนอหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งอัล-กุรอานและฮะดีซของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

๑. อัล-กุรกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

وَالَّذِينَ كَفَرُوا لَهُمْ نَارُ جَهَنَّمَ لَا يُقْضَى عَلَيْهِمْ فَيَمُوتُوا وَلَا يُخَفَّفُ عَنْهُم مِّنْ عَذَابِهَا كَذَلِكَ نَجْزِي كُلَّ كَفُورٍ  

ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธ จะได้รับการลงโทษด้วยไฟนรกเป็นการตอบแทน พวกเขาจะไม่ถูกตัดสินให้ตายเพื่อพวกเขาจะได้ตาย และพวกเขาจะไม่ได้รับการลดหย่อนโทษแต่อย่างใด และเราจะตอบแทนพวกปฏิเสธทุกคนเช่นนี้ [31]

๒. ซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะไม่ให้ชะฟาอะฮฺแก่ผู้ปฏิเสธ ท่านอะบูซัร เฆาะฟารียฺถามท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า

اُعطيت الشفاعة و هى نائلة من امّتى من لا يشرك بالله شيئا

ชะฟาอะฮฺของฉันจะครอบคลุมเฉพาะประชาชาติของฉันที่ไม่ได้ทำ   ชิริก

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าตัวบทของฮะดีซฎุฮฺฎอฮฺ บนพื้นฐานของผู้ที่กล่าวว่าท่านอะบูฏอลิบเป็นกาฟิร จึงไม่มีมูลความจริง ไม่ถูกต้อง และเชื่อถือไม่ได้ด้วยด้วยเหตุผลที่กล่าวมา เนื่องจากขัดแย้งกับอัล-กุรอานและซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

สรุป จากคำอธิบายที่กล่าวมาได้บทสรุปว่า ฮะดีซฎุฮฺฎอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นสายรายงาน ตัวบทของฮะดีซ และความหมาย เฎาะอีฟอย่างยิ่ง เชื่อถือไม่ได้และไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงในเชิงวิชาการได้เด็ดขาด บนหลักการดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลที่แข็งแรงยืนยันว่าท่านอะบูฏอลิบ มีความศรัทธาที่มั่นคง เป็นมุสลิม เป็นผู้ให้การพักพิงที่อบอุ่น เสียสละเพื่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอิสลาม และเป็นผู้ช่วยเหลือท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่ดีที่สุด

 



[1] กามิล บิน อะซีร เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๖๑ พิมพ์ที่อียิปต์ ปี ฮ.ศ.ที่ ๑๓๔๘

[2] ตารีคยะอฺกูบียฺ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๗ พิมพ์ที่นะญัฟ

[3] ซีเราะฮฺ ฮะละบียฺ พิมพ์ที่อียิปต์ หน้าที่ ๑๓๖, ๑๓๗, พิมพ์ที่เบรุต หน้าที่ ๑๑๔, ๑๑๕

[4] อ้างแล้วเล่มเดิม

[5] อ้างแล้วเล่มเดิม

[6] อ้างแล้วเล่มเดิม

[7] ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ซีเราะฮฺฮะละบียฺ พิมพ์ที่อียิปต์ หน้าที่ ๑๓๔, ซีเราะฮฺอิบนิฮิชาม พิมพ์ที่เบรุต เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๘๙, อะบูฏอลิบมุอฺมินกุเรช หน้าที่

[8] อัลฮุจญะฮฺ หน้าที่ ๕๘, มุซตัดร็อก อัลฮากิม เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๖๒๓ พิมพ์เบรุค

[9] ชัรฮฺนะญุลบะลาเฆาะฮฺ อิบนิ อะบิลฮะดีด เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๗๘, ตารีคอิบนุ อะซาดิร เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๗๕, ตารีคอิบนุกะซีร เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๖๖

[10] เคาะซานะตุล อะดับ แบกเดด เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๖๑, ตารีคอิบนุ กะซีร เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๔๒, ชัรฮฺนะญุลบะลาเฆาะฮฺ อิบนุ อะบิล ฮะดีด เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๕๕, ฟัตฮุลบารียฺ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๕๓-๑๕๗, อัลอะซอบะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๑๖ พิมพ์ที่อียิปต์ ปี ฉ.ศ. ๑๓๕๗

[11] ชัรฮฺนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๗๘

[12] มุตะชาบิฮาต อัล-กุรอาน อิบนิ ชะฮฺร อาชูบ มอซันดะรอน ตัฟซีรซูเราะฮัจญฺ ตอนอธิบายโองการ

[13] ชัรฮฺนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ อิบนิ อบิลฮะดีด เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๕๓ พิมพ์ครั้ง ๒

[14] ตารีคอัล-เคาะมีซ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๐๐-๓๐๑ พิมพ์ที่เบรุต, ซีเราะฮฺฮะละบียฺ เล่มที่ ๑ หน้ที่ ๓๙๑

[15] อ้างแล้ว เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๖๓ พิมพ์ที่เบรุต, อัล-อิซตีอาบ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๐๙

[16] ซีเราะฮฺฮะละบียฺ เล่มที่  ๑ หน้าที่ ๓๙๑ พิมพ์ที่อียิปต์

[17] อัล-ฟัตฮฺ / ๒๙

[18] อัลมุญาดะละฮฺ / ๒๒ และในซูเราะฮฺ มุมตะฮินนะฮฺ / ๒๓, เตาบะฮฺ /๕๔, ๘๑, มาอิดะฮฺ

[19] อัล-ฮุจญะฮฺ หน้ที่ ๒๔

[20] ซัรฮฺนะฮฺยุลบะลาเฆาะฮฺ อิบนิ อะบิลฮะดีด เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๗๑ พิมพ์ครั้งที ๒

[21] อัล-เฆาะดีร เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๓๙๘ พิมพ์ครั้งที่ ๓ เบรุต

[22] ชัรฮฺนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ อิบนิอะบิลฮะดีด เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๖๘ พิมพ์ครั้งที่ ๒, อัล-ฮุจญะฮฺ หน้าที่ ๑๘

[23] เล่มเดิม หน้าที่ ๗๐, อัล-ฮุจญะฮฺ หน้าที่ ๑๗, ๑๑๕

[24] เซาะฮียฺบุคอรียฺ เล่มที่ ๕ อับวาบมะนากิบ บาบ กิซเซาะฮฺ อะบี ฏอลิบ หน้าที่ ๕๒ พิมพ์ที่อียิปต์, เล่มที่ ๘ กิตาบุลอะดับ บาบกุนนียะตุลมุชริก หน้าที่ ๔๖

[25] มีซาน อัล-อิอฺติดาล เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๖๖๐ พิมพ์ครั้งที่ ๑ เบรุต

[26] เล่มเดิม

[27] อ้างแล้ว เล่มที่ ๓ พิมพ์ครั้งที่ ๑ เบรุต จากหน้า ๔๒๐-๔๒๓

[28] เล่มเพิ่ม หน้าที่ ๔๒๓

[29] อัต-ตัซลีล อะลัลกามิล

[30] ชัยคุล อับเฏาะฮฺ หน้าที่ ๗๕, มีซาน อัล-อิอฺตาดาล เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๔๒๓

[31] ฟาฏิร / ๓๖

 

index