back

คำถามที่ ๒๗ : ทำไมชีอะฮฺจึงนะมาซ ๕ เวลาเหลือเพียง ๓ ครั้ง  

next

 

คำถามที่ ๒๗ : ทำไมชีอะฮฺจึงนะมาซ ๕ เวลาเหลือเพียง ๓ ครั้ง  

คำตอบ : สิ่งจำเป็นที่ต้องกล่าวถึงก่อนลำดับแรกคือ การนำเสนอทัศนะของบรรดานักปราชญ์ที่กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้

๑. ทุกกลุ่มและทุกนิกายต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ในอะเราะ ฟะฮฺ นั้นสามารถนะมาซซุฮรฺและอัซรฺติดต่อกันโดยไม่ต้องทิ้งช่วงเวลาให้ห่างออกไป และเช่นกันในมุซดะละฟะฮฺ สามารถนะมาซมัฆริบและอิชาอฺติดต่อกันในช่วงเวลาของนะมาซอิชาอฺได้

๒. ฮะนะฟียฺ กล่าวว่า การนะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆริบกับอิชาอฺรวมในเวลาเดียวกัน อนุญาตให้ทำได้เฉพาะอยู่ในอะเราะฟะฮฺและมุซดะละฟะฮฺเท่านั้น ส่วนในสถานภาพอื่นไม่อนุญาต

๓. ฮัมบะลียฺ มาลิกียฺ และชาฟิอียฺกล่าวว่า การนะมาซติดต่อกันระหว่างซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆริบกับอิชาอฺเข้าด้วยกัน มิได้อนุญาตเฉพาะอยู่ในอะเราะฟะฮฺและมุซดะละฟะฮฺเท่านั้น ทว่าในช่วงเดินทางไกลก็อนุญาตด้วยเช่นกัน และบางคนจากนิกายเหล่านี้ ยังได้อนุญาตให้ทำนะมาซ ๒ เวลาเหลือเพียงเวลาเดียว ในช่วงที่มีความจำเป็น อาทิเช่น ช่วงที่มีฝนตก ผู้ทำ นะมาซไม่สบาย หรือหลบหนีศัตรู [1]

๔. ชีอะฮฺ กล่าวว่านะมาซทุกเวลาไม่ว่าจะเป็นนะมาซซุฮรฺ อัซรฺ มัฆริบ และอีชาอฺมีช่วงเวลาที่เฉพาะเจาะจงและช่วงเวลาร่วม

๔.๑ ช่วงเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซซุฮรฺ นับตั้งแต่เริ่มเข้าเวลาซุฮรฺชัรอียฺ ( บ่ายลงไป) ไปจนถึงช่วงเวลาที่ได้ทำนะมาซสี่เราะกะอัตเสร็จ ช่วงเวลานี้ได้ถูกจำกัดไว้ เฉพาะนะมาซซุฮรฺเท่านั้น

๔.๒ ช่วงเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซอัซรฺ นับตั้งแต่ช่วงเวลาหนึ่งจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สามารถทำได้เฉพาะนะมาซอัซรฺเท่านั้น

๔.๓ ช่วงเวลาร่วมระหว่างนะมาซซุฮฺรฺกับนะมาซอัศรฺ นับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซซุฮรฺเป็นต้นไปจนถึงช่วงเริ่มต้นเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซอัซรฺ

คำกล่าวของชีอะฮฺคือ ในช่วงเวลาร่วมระหว่างนะมาซซุฮรฺกับอัซรฺนั้น สามารถทำติดต่อกันได้โดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลาให้ห่างออกไป แต่อะฮฺลิซซุนนะฮฺเชื่อว่า นับตั้งแต่เริ่มเวลาซุฮรฺชัรอียฺ (บ่ายลงไป) จนกระทั่งเงาของทุกสิ่งได้ทอดเท่ากับตัวจริงของมัน ช่วงเวลาดังกล่าวได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะสำหรับนะมาซซุฮรฺเพียงอย่างเดียว จึงไม่อนุญาตให้นะมาซอัซรฺในเวลานั้น และนับตั้งแต่ช่วงดังกล่าวไปจนถึงเวลามัฆริบเป็นช่วงเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซอัซรฺ ดังนั้นไม่สามารถนะมาซซุฮรฺได้

๔.๔ ช่วงเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซมัฆริบ นับตั้งแต่เริ่มเข้าเวลามัฆริบชัรอียฺ จนกระทั่งนะมาซเสร็จ ๓ เราะกะอัต  ช่วงเวลาดังกล่าวได้ถูกจำกัดไว้สำหรับน มาซมัฆริบอย่างเดียว

๔.๕ ช่วงเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซอิชาอฺ นับตั้งแต่ช่วงเวลาหนึ่งจนถึงครึ่งคืนชัรฺอียฺ ซึ่งช่วงนั้นมีเวลาพอแค่ทำนะมาซอิชาอฺเพียงอย่างเดียว ในเวลาเพียงเล็กน้อยนั้นสามารถทำได้เฉพาะนะมาซอิชาอฺ ไม่อนุญาตให้ทำนะมาซอื่น

๔.๖ ช่วงเวลาร่วมระหว่างนะมาซมัฆริบกับนะมาซอิชาอฺ นับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซมัฆริบไปจนถึงช่วงเริ่มต้นเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซอิชาอฺ

โดยหลักการของชีอะฮฺเชื่อว่า ในช่วงเวลาร่วมระหว่างนะมาซมัฆริบกับนะมาซอิชาอฺนั้น สามารถทำนะมาซติดต่อกันได้โดยไม่ต้องทิ้งช่วงเวลาให้ห่างออกไป แต่อะฮฺลิซซุนนะฮฺเชื่อว่า นับตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินจนถึงช่วงแสงอาทิตย์ทางทิศตะวันตกได้หมดลง เป็นช่วงเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซมัฆริบ จึงไม่อนุญาตให้ทำนะมาซอิชาอฺในช่วงเวลาดังกล่าว และตั้งแต่ช่วงแสงอาทิตย์ทางทิศตะวันตกหมดลง จนถึงครึ่งคืนชัรฺอียฺ เป็นช่วงเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซอิชาอฺ ไม่สามารถทำนะมาซมัฆริบได้

สรุป ตามหลักการของชีอะฮฺหลังจากเข้าสู่เวลาซุฮรฺชัรฺอียฺแล้ว เมื่อทำนะมาซซุฮรฺเสร็จสามารถทำนะมาซอัซรฺต่อได้ทันที โดยไม่ต้องทิ้งช่วงเวลาให้ล่าออกไป หรือสามารถปล่อยเวลานะมาซซุฮรฺให้ล่าออกไป จนถึงช่วงเริ่มต้นเวลาเฉพาะสำหรับนะมาซอัซรฺ หมายถึงนะมาซซุฮรฺได้เสร็จก่อนที่จะเข้าเวลาดังกล่าว หลังจากนั้นจึงทำนะมาซอัซรฺ การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการนะมาซติดต่อกันสองเวลา ถึงแม้ว่าเป็นมุสตะฮับให้ทำมาซซุฮรฺหลังจากเวลาบ่าย และทำนะมาซอัศรฺเมื่อเงาของทุกสิ่งได้ทอดเท่ากับตัวจริงของมันก็ตาม

ทำนองเดียวกันเมื่อเข้าเวลามัฆริบชัรฺอียฺ ได้เริ่มนะมาซเมื่อเสร็จแล้วสามารถนะมาซอิชาอฺต่อได้ทันที โดยไม่ต้องทิ้งช่วงเวลาล่าออกไป หรือปล่อยเวลานะมาซมัฆริบให้ล่าออกไป จนถึงช่วงเริ่มต้นเวลาเฉพาะสำหรับ นะมาซอิชาอฺ หมายถึงนะมาซมัฆริบได้เสร็จก่อนที่จะเข้าเวลาดังกล่าว หลังจากนั้นจึงได้นะมาซอิชาอฺ การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการนะมาซสองเวลาติดต่อกันระหว่างนะมาซมัฆริบกับนะมาซอิชาอฺ ถึงแม้ว่าเป็นมุสตะฮับให้ทำนะมาซมัฆริบหลังเวลามัฆริบชัรฺอียฺ และทำนะมาซอิชาอฺหลังจากแสงอาทิตย์ทางทิศตะวันตกได้หมดลงก็ตาม

สิ่งเหล่านี้เป็นหลักการของชีอะฮฺ  ขณะที่อะฮฺลิซซุนนะฮฺไม่อนุญาตให้นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันในทุก ๆ ที่และทุกเวลา ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่แตกต่างกันคือ การนะมาซ ๒ เวลาในเวลาเดียวในทุกที่และทุกเวลา โดยที่นะมาซทั้งสองได้ปฏิบัติตรงเวลาในเวลาเดียวกัน เช่น ในอะเราะฟะฮฺ หรือมุซดะละฟะฮฺ

๕. มุสลิมทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้    นะมาซ ๒ เวลาในเวลาเดียวกัน เพียงแต่ว่าการอธิบายริวายะฮฺนั้นได้แบ่งเป็น ๒ ทัศนะดังนี้

๕.๑ ชีอะฮฺ กล่าวว่าจุดประสงค์ของริวายะฮฺ นะมาซเวลาแรกคือ   นะมาซซุฮรฺ หลังจากเสร็จนะมาซซุฮรฺแล้วให้ทำนะมาซอัศรฺ ในทำนองเดียวกันนะมาซเวลาแรกคือนะมาซมัฆริบ หลังจากนะมาซมัฆริบเสร็จให้ทำนะมาซอิชาอฺ และการทำนะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลา หรือสถานที่หรือมีเงื่อนไข ที่เฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด ทว่าอนุญาตให้ทำได้ทุกที่และทุกเวลา

๕.๒ มุสลิมอีกกลุ่มกล่าวว่า จุดประสงค์ของริวายะฮฺคือ นะมาซซุฮรฺทำใกล้จะหมดเวลา ส่วนนะมาซอัซรฺเริ่มต้นเวลา ทำนองเดียวกันนะมาซมัฆริบทำใกล้จะหมดเวลา ส่วนนะมาซอิชาอฺเริ่มต้นเวลา

ต่อไปจะทำการวิเคระห์ริวายะฮฺ และพิสูจน์ให้เห็นว่าจุดประสงค์ของริวายะฮฺเป็นดังเช่นที่ชีอะฮฺเข้าใจ และกล่าวถึงคือ นะมาซ ๒ เวลาได้ทำติดต่อกันในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่ว่านะมาซหนึ่งทำในช่วงใกล้จะหมดเวลาและอีกนะมาซหนึ่งทำตอนเริ่มต้นเวลา โดยมีริวายะฮฺดังนี้ 

๑. อหะฮฺมัด บิน ฮัมบัล ผู้นำนิกายฮัมบะลียฺได้บันทึกไว้ในหนังสือมุซนัดของตน โดยรายงานมาจากท่านญาบิร บิน ซัยดฺว่า

أخبرنى جابر بن زيد انهّ سمع ابن عباس يقول : صليت مع رسول الله صلى الله عليه[وآله] وسلم ثمانياً جميعاً و سبعاُ جميعاً قال قلت له يا أبا الشّعثاء اظنّه أخر الظّهر و عجّل العصر و أخّر المغرب و عجّل العشاء قال و أنا أظنّ ذلك

ญาบิร บิน ซัยดฺ กล่าวว่า ฉันได้ยินอิบนุอับบาซกล่าวว่า ฉันได้    นะมาซพร้อมกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ๘เราะกะอัต (ซุฮรฺกับอัซรฺ) และ ๗ เราะกะอัต (มัฆริบและอิชาอฺ) พูดว่าฉันได้บอกกับ ท่านอะบูชุอฺซาอฺว่า ฉันคิดว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คงจะปล่อยเวลานะมาซซุฮรฺให้ล่าออกไป และ นะมาซอัซรฺเร็วขึ้น อะบูชุอฺบา กล่าวว่า ฉันคิดเช่นนั้นเหมือนกัน [2]

จากริวายะฮฺดังกล่าวเข้าใจได้ว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ทำนะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และนะมาซมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกันโดยไม่ได้ทิ้งช่วงเวลาให้ห่างออกไป

๒. อะฮฺมัด บิน ฮัมบัล ได้รายงานจากท่าน อับดุลลอฮฺ บิน ชะกีกว่า

خطبنا ابن عباّس يوماً بعد العصر حتىّ غربت الشّمس و بدت النّجوم و علّق النّاس ينادونه الصّلاة و فى القوم رجل من بني تميم فجعل يقول : الصّلاة الصّلاة : قال فغضب قال أتعلّمنى با لسّنّة ؟ شهدت رسول الله صلى الله عليه [وآله] وسلم جمع بين الظهر و العصر والمغرب و العشاء . قال عبدالله فوجدت فى نفسى من ذلك شيئًا فلقيت أبا هريرة فسألته فوافقه

หลังจากนะมาซอัซรฺ อิบนุอับบาซ ได้กล่าวปราศรัยแก่พวกเราจนกระทั่งพระอาทิตย์ตก ทำให้มองเห็นดวงดาวระยิบระยับ ประชาชนได้ส่งเสียงว่านะมาซ และในหมู่ของพวกเขาได้มีชายคนหนึ่งจากเผ่าบะนีตะมีมตะโกนซ้ำว่า นะมาซ ท่านอิบนุอับบาซโกรธมากและได้กล่าวว่า เจ้าต้องการจะสอนซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แก่ฉันหรือ  ฉันได้เห็นท่านนะมาซซุฮรฺกับอัศรฺ มัฆริบและอิชาอฺติดต่อกัน

ท่านอับดุลลอฮฺ กล่าวว่า สำหรับฉันเรื่องนี้ยังมีความคลางแคลงใจอยู่ ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงไปพบกับท่านอะบูฮุรัยเราะฮฺ เพื่อถามความจริง  เขาได้ยืนยันคำพูดของอิบนุอับบาซ [3]

ฮะดีซดังกล่าวมีเซาะฮาบะฮฺ ๒ ท่านคือ อับดุลลอฮฺบินอับบาซ และอะบูฮฺร็อยเราะฮฺ เป็นผู้ยืนยันว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกัน และอิบนุอับบาซยังเป็นผู้หนึ่งที่ยืนหยัดในซุนนะฮฺดังกล่าวนี้ของท่านศาสดา

๓. ท่านมาลิก บิน อะนัซ ผู้นำนิกายมาลิกียฺ บันทึกไว้ในหนังสื่อ อัล-มุวัฏเฏาะฮฺ ของตนดังนี้

صلى رسول الله (ص) الظهّر و العصر جميعاً، والمغرب و العشاء جميعاً فى غير خوفٍ ولا سفرٍ

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกัน ทั้งที่ไม่ได้หวาดกลัวศัตรูหรือเดินทางไกล [4]

๔. มาลิก บิน อะนัซ ได้รายงานจากท่าน มะอาซ บิน ญุบัล ดังนี้ว่า

فكان رسول الله (ص) يجمعُ بين الظَهر و العصر، والمغرب و العشاء

 

 

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺและมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกัน [5]

๕. มาลิก บิน อะนัซ ได้รายงานจากท่าน นาฟิอฺ และเขาได้รายงานมาจาก อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรว่า

كان رسول الله (ص) إذا عجل به السّير يجمع بين المغرب و العشاء

ทุกครั้งที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีความรีบร้อนท่านจะนะมาซมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกัน [6]

๖. มาลิก บิน อะนัซ ได้รายงานจากอะบูฮุร็อยเราะฮฺดังนี้ว่า

إن رسول الله-صلى الله عليه [وآله] وسلم كان يجمع بين الظهر و العصر فى سفره الى تبوك

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ทำนะมาซซุฮรฺกับอัซรฺติดต่อกันขณะเดินทางไปตะบูก [7] 

๗. มาลิก  บันทึกไว้หนังสืออัล-มะวัฏเฏาะฮฺ โดยรายงานมาจากนาฟิอฺ ดังนี้ว่า

إنّ  عبد الله بن عمر كان  إذا  جمع  الامراء بين  المغرب و العشاء فى المطر جمع معهم

ทุกครั้งที่ผู้นำนะมาซมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกันท่ามกลางฝนตก อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรก็นะมาซทั้งสองติดต่อด้วยเช่นกัน [8]

๘. มาลิก บิน อะนัซ ได้รายงานมาจาก อะลี บิน ฮุซัยนฺ ดังนี้ว่า

كان رسول الله صلى الله عليه [وآله] و سلم إذا  أراد  أن  يسير يومه  جمع  بين  الظهر و العصر و إذا  أراد أن يسير ليله جمع  بين  المغرب  و  العشاء

ทุกครั้งหากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องเดินทางในตอนกลางวัน ท่านจะนะมาซซุฮรฺกับอัซรฺติดต่อกัน และถ้าท่านต้องเดินทางในตอนกลางคืน ท่านจะนะมาซมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกัน [9]

๙. มุฮัมมัด ซัรกอนียฺ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ชัรฮุลมุวัฏเฏาะฮฺ โดยรายงานมาจาก อะบีชุอฺซา ดังนี้ว่า

إن ابن عباس صلى بالبصرة الظّهر و العصر ليس بينهما شيئٌ و المغرب و العِشاء ليس بينهما شيئٌ

อัลดุลลอฮฺ บิน อับบาซ ได้นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆริบกับอิชาอฺ ที่บะเซาะเราะฮฺติดต่อกันโดยไม่ได้ปล่อยเวลาให้ห่างออกไป [10]

๑๐. ซัรกอนียฺ ได้รายงานมาจากฏ็อบรอนียฺ และเขาได้รายงานมาจาก อิบนุมัซอูดว่า

جمع النّبى صلى الله عليه [وآله] و سلم بين الظّهر و العصر و بين المغرب و العشاء فقيل له فى ذلك، فقال: صنعت هذا لئلا تحرج أمتى

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกัน ได้มีผู้ถามท่านว่าทำเช่นนี้เพื่ออะไร  ท่านตอบว่า ฉันไม่ต้องการทำให้ประชาชาติของฉันต้องลำบาก [11]

๑๑. มุสลิม บิน ฮัจญาจ ได้รายงานมาจาก อะบู ซะบีร จากซะอีด บิน ญุบัยรฺ และจากอิบนุอับบาซ ว่า

صلى رسول الله صلى الله عليه [وآله] و سلم الظّهر و العصر جميعا بالمدينة فى غير خوف و لا سفر

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺติดต่อกันที่มะดีนะฮฺ ทั้งที่ไม่ได้มีความหวาดกลัวศัตรูหรือเดินทาง  [12]

หลังจากนั้นท่านอิบนุอับบาซ ได้กล่าวว่าเป้าหมายของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ท่านไม่ต้องการทำให้ประชาชาติของท่านต้องลำบาก [13]

๑๒. มุสลิมได้บันทึกไว้ในหนังสือเซาะฮียฺของตน โดยรายงานมาจาก ซะอีด บิน ญุบัยรฺ และเขารายงานมาจาก อิบนุอับบาซว่า

جمع رسول الله صلى الله عليه [وآله] و سلم بين الظّهر و العصر المغرب و العشاء فى المدينة من غير خوف و لا مطر

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกันที่มะดีนะฮฺ ทั้งที่ไม่ได้มีความหวาดกลัวศัตรูหรือมีฝนตก [14]

ในเวลานั้น ซะอีด บิน ญุบัยรฺ กล่าวว่า ฉันได้ถามท่านอิบนุอับบาซว่า ทำไมท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงปฏิบัติเช่นั้น  ตอบว่า ท่านไม่ต้องการทำให้ประชาชาติของท่านต้องลำบาก [15]

๑๓. อะบูอับดิลลาฮฺ บุคอรียฺ ได้เปิดภาคผนวกพิเศษขึ้นในหนังสือของตนชื่อว่า บาบุ ตะอฺคีรุซซุฮรฺ อิลัลอัซรฺ [16] หมวดดังกล่าวได้อธิบายว่า สามารถปล่อยเวลาซุฮรฺให้ล่าออกไปจนถึงเวลาอัซรฺ และนะมาซทั้งสองติดต่อกัน หลังจากนั้นท่านได้กล่าวถึงริวายะฮฺดังนี้ว่า

إن النّبى صلى الله عليه  [وآله وسلم بالمدينة سبعاً و ثمانياً الظّهر و العصر، و المغرب و العشاء

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นะมาซ ๗ เราะกะอัต (มัฆริบกับอิชาอฺ) และ ๘ เราะกะอัต (ซุฮรฺกับอัศรฺ) ที่มะดีนะฮฺ

๑๔. ด้วยเหตุนี้ บุคอรียฺได้กล่าวในอีกที่หนึ่งว่า

قال ابن عمر و أبو أيّوب و ابن عبّاس رضى الله عنهم : صلّى النّبى صلى الله عليه [وآله] و سلم ا لمغرب و العشاء

อับดุลลอฮฺ บิน อุมัร, อัยยูบ อันซอรียฺ และอับดุลลอฮฺ บิน อับบาซ กล่าวว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ทำนะมาซมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกัน [17]

จากริวายะฮฺ ท่านบุคอรียฺต้องการบอกว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นะมาซมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกัน เพราะเป็นที่รู้กันอย่างชัดแล้วว่าท่านศาสดาไม่เคยขาดนะมาซ

๑๕. มุสลิม บิน ฮัจญาด ได้บันทึกไว้ในเซาะฮียฺของตนว่า

قال رجلٌ لابن عبّاس الصّلاة فسكت ثمّ قال الصّلاة فسكت ثمّ قال الصّلاة فسكت،ثمّ قال : لا امّ لك أتعلّمنا بالصّلاة و كناّ نجمع بين الصّلاتين على عهد رسول الله صلى الله عليه [وآله] و سلم

มีชายคนหนึ่งกล่าวกับท่านอิบนุอับบาซว่า นะมาซ อิบนุอับบาซไม่ได้พูดอะไร, เขาได้พูดอีกว่า นะมาซ อิบนุอับบาซไม่ได้พูดอะไร และเขาได้พูดอีกว่า นะมาซ อิบนุอับบาซไม่ได้ตอบอะไร จนกระทั่งเขาพูดอีกเป็นครั้งที่ ๔ ว่า นะมาซ อิบนุอับบาซได้พูดว่า โอ้เจ้าลูกไม่มีแม่เอ๋ย เจ้าต้องการสอน    นะมาซแก่ฉันหรือ ขณะที่เราได้นะมาซ ๒ นะมาซติดต่อกันในสมัยท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) [18] 

๑๖. มุสลิม บิน ฮัจญาดรายงานว่า

إنّ رسول الله صلى الله عليه [وآله] وسلم جمع بين الصّلاة فى سفرة سافرها فى غزوة تبوك فجمع بين الظّهر والعصر، والمغرب و العشاء قال سعيدٌ : فقلت لابن عبّاس : ما حمله على ذلك ؟ قال : أراد أن لا يحرج امّته

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นะมาซ ๒ นะมาซติดต่อกันในระหว่างเดินทาง และในสงครามตะบูกท่านได้นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆมิบกับอิชาอฺติดต่อกัน ท่านซะอีดบินญุบัยรฺพูดว่า ฉันได้ถามท่านอิบนุอับบาซว่าทำไมถึงทำเช่นนี้  อิบนุอับบาซตอบว่า เพราะท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่ต้องการให้ประชาชาติของท่านลำบาก [19]

๑๗. มุสลิม บิน ฮีจญาจ ได้รายงานจากท่านมุอาซว่า

جرحنا  مع  رسول الله  صلى  الله  [عليه وآله و سلم  فى  غزوة  تبوك  فكان  يصلى  الظهر و  العصر جميعًا والمغرب العشاء جميعاً

ฉันได้ออกไปสงครามตะบูกร่วมกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านได้  นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกัน [20]

๑๘. มาลิก บิน อะนัซ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ อัล-มุวัฏเฏาะฮฺ ของตนว่า

عن ابن شهاب انّه سأل سالم بن عبدالله هل يجمع  بين  الظّهر و العصر فى  السّفر فقال  :  نعم  لا  بأس بذلك ،  ألم  تر  إلى صلاة  الناس  بعرفة

อิบนุ ชะฮาบ ถามซาลิม บิน อับดุลลอฮฺว่า ท่านนะมาซซุฮรฺ และอัซรฺติดต่อกัน ขณะที่เดินทางหรือ เขาตอบว่า ใช่ ไม่เป็นไร  ท่านไม่เห็นประชาชนในทุ่งอะเราะฟะฮฺหรอกหรือว่าพวกเขานะมาซอย่างไร [21]

สิ่งจำเป็นต้องกล่าวถึงคือ มุสลิมเชื่อว่าในวันอะเราะฟะฮฺ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ อนุญาตให้นะมาซซุฮรฺและอัซรฺติดต่อกันได้  ให้นะมาซทั้งสองเวลาในช่วงซุฮรฺโดยไม่ต้องทิ้งช่วงให้ห่างกัน ตรงนี้ท่านซาลิม บิน อับดุลลอฮฺ กล่าวว่า เหมือนกับที่ประชาชนได้นะมาซทั้ง ๒ เวลาติดต่อกันในอะเราะฟะฮฺ ซึ่งนอกเหนือจากอะเราะฟะฮฺก็สามารถนะมาซติดต่อกันได้

๑๙. มุตตะกียฺ ฮินดี ได้บันทึกไว้ในหนังสือ กันซุลอุมาล ของตนว่า

قال عبد الله : جمع لنا رسول الله مقيماً غير مسافر بين الظّهر و العصر، والمغرب و العشاء فقال رجلٌ لابن عمر : لم ترى النّبى صلى الله عليه و آله و سلم  فعل ذلك قال : لأن لا يحرج امّته إن جمع رجلٌ

อับดุลลอฮฺ บิน อุมัร กล่าวว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกันทั้งที่ท่านอยู่กับที่ไม่ได้เดินทาง ชายคนนั้นถามท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรว่า ทำไมท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงทำเช่นนั้น อับดุลลอฮฺ ตอบว่า ท่านศาสดาไม่ต้องการให้ประชาชาติของท่านลำบาก ถ้าหากต้องการนะมาซติดต่อกัน [22]

๒๐. มุตตะกียฺฮินดี บันทึกไว้ในกันซุลอุมาลอีกว่า

عن جابر، أنّ النّبى صلى الله عليه و آله و سلم جمع بين الظّهر و العصر بأذانٍ وإقامتين

ญาบิร บิน อับดุลลอฮฺ กล่าวว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺติดต่อกันโดยอะซานครั้งเดียวและกล่าว ๒ อิกอมะฮฺ [23]

๒๑. มุตตะกียฺฮินดี บันทึกไว้ในกันซุลอุมาลอีกว่า

عن جابر، انّ رسول الله  صلى الله عليه و آله و سلم  غربت له الشّمس بمكّة فجمع بينهما بسرف

ญาบิร บิน อับดุลลอฮฺกล่าว่า ขณะที่ท่านศาสดาอยู่ที่มักกะฮฺ เมื่อท่านมาถึงยังสถานที่หนึ่งนามว่า ซะรัฟ[24] พระอาทิตย์ตกดินแล้ว ท่านได้   นะมาซมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกัน

๒๒. กันซุลอุมาลได้บันทึกรายงานจากท่านอิบนุ อับบาซไว้อีกว่า

جمع رسول الله صلى الله عليه و آله و سلم بين الظّهر و العصر، والمغرب و العشاء با المدينة فى غير سفر و لا مطرٍ قال : قلت لابن عبّاس : لم ترا ه فعل ذلك قال : أراد التّوسعة على امّته

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ และมัฆริบกับอิชาอฺติดต่อกันขณะที่อยู่ในมะดีนะฮฺ ทั้งที่ท่านไม่ได้เดินทาง และฝนไม่ได้ตก   รอวียฺ กล่าวว่า ฉันได้ถามท่านอิบนุ อับบาซว่า ทำไมท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงนะมาซสองเวลาติดต่อกัน เขาตอบว่า เพราะท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องการให้การกระทำเปิดกว้างในหมู่ประชาชติของท่าน (ง่ายและสะดวกในการปฏิบัติ) [25]

สรุป ริวายะฮฺต้องการกล่าวว่า การนะมาซติดต่อกันเป็นเหตุผลที่ถูกต้องชัดเจนสำหรับผู้ที่ยึดการกระทำดังกล่าว

เหตุผลฝ่ายชีอะฮฺที่นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกัน

๑. นะมาซติดต่อกัน เนื่องจากง่ายและสะดวกไม่สร้างความยุ่งยากต่อการปฏิบัติ เกี่ยวกับเรื่องนี้มีริวายะฮฺจำนวนมากได้ยืนยันไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอนุญาตให้กระทำได้และถูกต้อง ถ้าไม่อนุญาตให้นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันจะเป็นสาเหตุทำให้ภารกิจต่าง ๆ ของมุสลิมพบกับความยุ่งยาก ด้วยเหตุนี้ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงได้อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้เพื่อความสะดวก และง่ายต่อการปฏิบัติ ดังที่อธิบายไว้แล้วในฮะดีซที่ ๑๐, ๑๖, ๑๙, และ ๒๒

เป็นที่ชัดเจนถ้าหากจุดประสงค์ของริวายะฮฺที่กล่าวไปแล้ว หมายถึงสามารถนะมาซซุฮรฺและอัซรฺในช่วงท้ายเวลานะมาซ ตามทัศนะของอะฮฺลิซซุนนะฮฺที่ว่า ปล่อยเวลานะมาซซุฮรฺให้ล่าออกไปจนถึงช่วงสุดท้ายและเริ่ม นะมาซอัซรฺในช่วงเริ่มต้นเวลานะมาซ โดยนะมาซสองเวลาติดต่อกันการกระทำเช่นนี้เท่ากับได้นะมาซในช่วงเวลาเฉพาะของแต่ละนะมาซ ไม่ถือว่า นะมาซติดต่อกัน มิหนำซ้ำยังเป็นการกระทำที่ยุ่งยาก ขณะที่จุดประสงค์ของการนะมาซติดต่อกันเพื่อให้เกิดความง่ายดาย และสะดวกต่อการปฏิบัติ

ดังนั้น จากคำอธิบายเป็นที่ชัดเจนว่าจุดประสงค์ของการนะมาซติดต่อกัน หมายถึงสามารถนะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันในช่วงเวลาร่วมของ นะมาซทั้งสอง เช่น ในตอนเริ่มต้นเวลา หรือช่วงเวลาสุดท้ายของนะมาซ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า นะมาซเวลาหนึ่งทำในช่วงท้ายเวลา และนะมาซอีกเวลาหนึ่งทำในช่วงเริ่มต้นเวลาโดยทำติดต่อกัน

๒. นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกัน ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺเป็นการอธิบายถึงวิธีการนะมาซติดต่อกัน อิสลามทุกนิกายอนุญาตให้นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันในอะเราะฟะฮฺได้ [26]  อีกด้านหนึ่งริวายะฮฺบางส่วนได้ยืนยันว่า    นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันในที่อื่นก็เหมือนกับนะมาซติดต่อกันในอะเราะฟะฮฺ ด้วยเหตุนี้ นะมาซสองเวลาติดต่อกันจึงไม่แตกต่างไม่ว่าจะนะมาซในวันอะเราะฟะฮฺหรือช่วงเวลาอื่น หรือนะมาซในทุ่งอะเราะฟะฮฺหรือสถานที่อื่น ฉะนั้น ดังที่มุสลิมทั้งหลายเชื่อโดยหลักการว่า ณ อะเราะฟะฮฺสามารถ    นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันได้ ในที่อื่นก็สามารถนะมาซได้เช่นกันและเป็นที่อนุญาต

๓. การนะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันในระหว่างเดินทาง เป็นการอธิบายวิธีการนะมาซติดต่อกัน บรรดานักปราชญ์ฝ่าย ฮัมบะลียฺ มาลิกียฺ และชาฟิอียฺ อนุญาตให้นะมาซสองเวลาติดต่อกันได้ในช่วงเดินทาง อีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ริวายะฮฺกล่าวว่าไม่มีความแตกต่างกัน ระหว่างเดินทางกับไม่เดินทางเพราะท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นะมาซติดต่อกันทั้ง ๒ กรณี เพื่อความเข้าใจมากขึ้นให้ย้อนกลับไปพิจารณาริวายะฮฺที่ ๓, ๑๑, ๑๓, ๑๙, และ ๒๒ บนพื้นฐานดังกล่าว อนุญาตให้นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันในระหว่างเดินทาง (ตามที่ชีอะฮฺได้อธิบาย) และไม่ได้เดินทาง

๔. นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันในช่วงที่มีความจำเป็น เป็นการอธิบายถึงการนะมาซติดต่อกันในช่วงเวลาปรกติ ริวายะฮฺเซาะฮียฺ (ถูกต้อง) จำนวนมากได้ยืนยันว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาสาวกได้นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันตามที่ชีอะฮฺได้อธิบาย ในช่วงที่มีความจำเป็น เช่น ฝนตก หวั่นเกรงว่าศัตรูจะโจมตี หรือไม่สบาย ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าบรรดานักปราชญ์จำนวนมากในทุกนิกายได้ออกฟัตวา (คำวินิจฉัย) ว่าอนุญาตให้นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันได้ในช่วงเวลาที่มีความจำเป็น ขณะที่ริวายะฮฺเหล่านั้นมิได้ระบุว่าเฉพาะช่วงเวลาที่มีความจำเป็นอย่างเดียว ทว่าไม่มีความแตกต่างกันไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม เพราะท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นะมาซติดต่อกันทั้งที่ฝนไม่ตก และไม่ได้หวั่นเกรงศัตรู เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ย้อนกลับไปพิจารณาริวายะฮฺที่ ๓, ๑๑, ๑๒, และ ๒๒

๕. การกระทำของบรรดาเซาะฮาบะฮฺได้อธิบายถึงการนะมาซติดต่อกัน ริวายะฮฺที่กล่าวผ่านมาแล้วได้บ่งบอกว่า บรรดาเซาะฮาบะฮฺ    นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันในเวลาเดียว ดังที่ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อับบาซ ได้ปล่อยเวลานะมาซมัฆริบให้ล่าออกไปจนท้องฟ้าได้มืดสนิท มองเห็นดวงดาวส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องฟ้า แม้ว่าคนอื่นจะนะมาซกันทุกคน แต่ท่านไม่ได้ใส่ใจจนกระทั่งเวลาดึกมากท่านจึงได้นะมาซมัฆริบและอิชาอฺติดต่อกัน ประชาชนที่อยู่ ณ ที่นั้นได้ทักท้วงว่าทำไมปล่อยเวลานะมาซให้ล่าเช่นนี้ ท่านตอบว่า ฉันเห็นด้วยตาว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นะมาซเช่นนี้เหมือนกัน  อะบูฮุร็อยเราะฮฺได้สนับสนุนคำพูดของอิบนุอับบาซ เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ย้อนกลับไปพิจารณาริวายะฮฺที่ ๒, ๗, ๙, และ ๑๕

ริวายะฮฺที่กล่าวผ่านมาทำให้ไม่เกิดความคลางแคลงใจว่า สิ่งที่ชีอะฮฺยึดปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน (นะมาซ ๒ เวลาติดต่อกัน)  เนื่องจากท่านอิบนุอับบาซ สาวกชั้นผู้ใหญ่ก็ได้ปฏิบัติเช่นนั้นเหมือนกัน ที่สำคัญไปกว่านั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เคยปฏิบัติไว้

๖. แบบฉบับของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้อธิบายวิธีนะมาซ ๒ เวลาติดต่อกัน

 จากคำอธิบายของฮะดีซที่ ๒๑ ทำให้ทราบว่า ขณะพระอาทิตย์ตกดินท่านศาสดา  (ซ็อล ฯ) ยังอยู่ที่มักกะฮฺ และได้ปล่อยเวลานะมาซมัฆริบให้ล่าออกไป เมื่อเดินทางมาถึงสถานที่ ๆ ชื่อว่า ซะรัฟ ซึ่งอยู่ห่างจากมักกะฮฺประมาณ ๙ ไมล์  ท่านได้นะมาซมัฆริบและอิชาอฺติดต่อกัน แน่นอนว่าขณะที่ท่านได้ออกจากมักกะฮฺยังหัวค่ำอยู่เพราะพระอาทิตย์เพิ่งจะตกดิน ประกอบกับพาหนะในการเดินทางสมัยก่อนไม่ได้รวดเร็วเหมือนปัจจุบัน ฉะนั้น เมื่อท่านเดินทางไปถึงซะรัฟเวลาได้ผ่านไปดึกพอสมควร ด้วยเหตุนี้ท่านจึงนะมาซมัฆริบและอิชาอฺติดต่อกัน จากริวายะฮฺทั้งหมดที่ได้กล่าวมา ล้วนคัดลอกมาจากตำราที่เซาะฮียฺ และเชื่อถือได้ของอะฮฺลิซซุนนะฮฺทั้งสิ้น ดังนั้น ชีอะฮฺเชื่อโดยหลักการว่าการนะมาซ ๒ เวลาติดต่อกันไม่ว่าจะเป็น นะมาซซุฮรฺกับอัซรฺ หรือนะมาซมัฆริบกับอิชาอฺเป็นที่อนุญาตและถูกต้อง อีกทั้งยังครอบคลุมทั้งเงื่อนไขทั้งหมดทั้งเวลาและสถานที่ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น



[1] อัลฟิกฮฺ อะลัลมะซอฮิบิลอัรบะอะฮฺ กิตาบุซเซาะลาฮฺ อัลญัมอุบัยนัซเซาะลาตัยนฺ ตักดีมัน วะตะอฺคีรอน

[2] มุซนัดอะฮฺมัด บิน ฮัมบัล เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๒๑

[3] มุซนัดอะฮฺมัด เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๕๑

[4] อัล-มุวัฏเฏาะฮฺ มาลิก กิตาบุซเซาะลาฮฺ พิมพ์ครั้งที่ ๓ เบรุต หน้าที่ ๑๒๕ ฮะดีซที่ ๑๗๘, เซาะฮียฺมุสลิม ญุซที่ ๒ หน้าที่ ๑๕๑ พิมพ์ที่เบรุต บาบุลญัมบัยนัซเซาะลาตัยนิ

[5] อัล-มุวัฏเฏาะฮฺ กิตาบุซเซาะลาฮฺ หน้าที่ ๑๒๔ ฮะดีซที่ ๑๗๖ พิมพ์ครั้งที่ ๓ เบรุต  ปี ฮ.ศ. ที่ ๑๔๐๓, เซาะฮียฺมุสลิม พิมพ์ที่อียิปต์ ญุซที่ ๒ หน้าที่ ๑๕๒

[6] อัล-มุวัฏเฏาะฮฺ มาลิก กิตาบุซเซาะลาฮฺ พิมพ์ครั้งที่ ๓ เบรุต หน้าที่ ๑๒๕ ฮะดีซที่ ๑๗๗

[7] อัล-มุวัฏเฏาะฮฺ มาลิก กิตาบุซเซาะลาฮฺ หน้าที่ ๑๒๔ ฮะดีซที่ ๑๗๕

[8] เล่มเดิม หน้าที่ ๑๒๕ ฮะดีซที่ ๑๗๙

[9] เล่มเดิม หน้าที่ ๑๒๕ ฮะดีซ ๑๘๑

[10] ชัรฮฺ ซัรกอนียฺ อัล-มุวัฏเฏาะฮฺ บาลิก พิมพ์ที่อียิปต์ ญุซที่ ๑ บาบ อัลญัมบัยนัซเซาะลาตัยนฺ ฟิลฮัฎริ วัลซะฟัร หน้าที่ ๒๙๔

[11] เล่มเดิม หน้าที่ ๒๙๔

[12] เซาะฮียฺมุสลิม ญุซที่ ๒ พิมพ์ที่ อียิปต์ หน้าที่ ๑๕๑ บาบุลญัมอิ บัยนัซเซาะลาตัยนิ ฟิลฮํฎริ

[13] เล่มเดิม ตอนอธิบายฮะดีซข้างต้น

[14] เล่มเดิม หน้าที่ ๑๕๒

[15] เล่มเดิม หน้าที่ ๑๕๒ ตอนอธิบายฮะดีซดังกล่าว

[16] เซาะฮียฺบุคอรียฺ ญุซที่ ๑ หน้าที่ ๑๑๐ กิตาบุซเซาะลาฮฺ บาบุ ตะอฺคีรุซซุฮรฺ อิลัลอัซรฺ พิมพ์ที่อียิปต์ ฉบับ อะมีรียะฮฺ ปี ฮ.ศ.ที่ ๑๓๑๔

[17] เซาะฮียฺบุคอรียฺ  ญุซที่ ๑ กิตาบุซเซาะลาฮฺ บาบ อัซซิกรุลอิชาอฺ หน้ที่ ๑๑๓ พิมพ์ที่อียิปต์ ปี ฮ.ศ.ที่ ๑๓๑๔

[18] เซาะฮียฺมุสลิม ญุซที่ ๒ หน้าที่ ๑๕๓ บาบุลญัมบัยนัซเซาะลาตัยนฺ ฟิลฮัฎริ

[19] เซาะฮียฺมุสลิม ญุซที่ ๒ หน้าที่ ๑๕๑ พิมพ์ที่อียิปต์

[20] เล่มเดิม หน้าที่ ๑๕๒

[21] มุวัฏเฏาะอฺ อิบนุมาลิก พิมพ์ครั้งที่ ๓ เบรุต หน้าที่ ๑๒๕ ฮะดีซที่ ๑๘๐

[22] กัสซุลอุมมาล กิตาบุซเซาะลาฮฺ หมวดที่สี่  นะมาซเดินทาง บาบญัมอฺ เล่ม ๘ หน้าที่ ๒๔๖ พทิพ์ ปี ฮ.ศ. ๑๓๙๑

[23] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้าที่ ๒๔๗

[24] ซะรัฟ ชื่อสถานที่หนึ่งที่อยู่ห่างจากมักกะฮฺประมาณ ๙ ไมล์

[25] อ้างแล้วเล่มเดิม

[26] อัลฟิกฮฺ อะลัลมะซาฮิบิล อัรบะอะฮฺ กิตาบุซเซาะลาฮฺ อัจญัมอุ บัยนัซเซาลาตัยนฺ ตักดีมัน วะ ตะอฺคีรอน

 

index