back

คำถามที่ ๒๖ : การจัดฉลองวันเกิดบรรดาเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺเป็นชิริก หรือบิดอะฮฺไหม  

next

 

คำถามที่ ๒๖ : การจัดฉลองวันเกิดบรรดาเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺเป็นชิริก หรือบิดอะฮฺไหม  

คำตอบ : การให้เกียรติและรำลึกถึงบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ เช่น การจัดพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวันเกิด ตามทัศนะของนักปราชญ์แล้วเป็นที่ชัดเจน ทว่าเพื่อขจัดความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ขอนำเสนอเหตุผลบางประการทางชัรอียฺ

๑. การจัดงานเฉลิมฉลองเป็นสื่อแห่งความรัก อัล-กุรอานได้กล่าวเชิญชวนให้บรรดามุสลิมทั้งหลาย มีความรักต่อบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (ลูกหลานชั้นใกล้ชิด) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า

قُل لَّا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ أَجْرًا إِلَّا الْمَوَدَّةَ فِي الْقُرْبَى

จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ฉันมิได้ขอรางวัลตอบแทนใด ๆ เพื่อการนี้ นอกเสียจากความรักที่มีต่อลูกหลาน [1]

ไม่เป็นที่สงสัยว่าการจัดงานเฉลิมฉลองให้กับบรรดาเอาลิยาของอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นภาพลักษณ์หนึ่งแห่งความรักของประชาชนที่มีต่อบรรดาท่านเหล่านั้น ซึ่งหากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่าเป็นที่ยอมรับของอัล-กุรอาน

๒. การจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อัล-      กุรอาน นอกจากจะให้ช่วยเหลือท่าน แล้วยังได้กล่าวยกย่องเกียรติยศของท่านศาสดาและถือว่า ตำแหน่งอันสูงส่งของท่านเป็นมาตรฐานของความดีงามและความเจริญรุ่งเรือง

فَالَّذِينَ آمَنُواْ بِهِ وَعَزَّرُوهُ وَنَصَرُوهُ وَاتَّبَعُواْ النُّورَ الَّذِيَ أُنزِلَ مَعَهُ أُوْلَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ

ดังนั้นบรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อเขา ให้ความสำคัญและช่วยเหลือเขา และปฏิบัติตามรัศมีที่ถูกประทานลงมาพร้อมกับเขา แน่นอนชนเหล่านี้แหละคือผู้ประสบความสำเร็จ[2]

โองการข้างต้นได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าการให้เกียรติกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในทัศนะของอิสลามเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนการจัดพิธีเฉลิมฉลองเพื่อเป็นการรำลึกถึงความรุ่งเรืองที่ท่านเป็นผู้สถาปนาไว้ และพึงรักษาให้สิ่งนี้ดำรงอยู่ตลอดไปแน่นอนเป็นที่พึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ (ซบ.) เนื่องจากโองการข้างต้นได้อธิบายถึงคุณลักษณะของผู้ประสบความสำเร็จไว้ ๔ ประการดังนี้

๑. มีศรัทธามั่นคง (อัลละซีนะอามะนู) โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย

๒. เป็นผู้ปฏิบัติตามรัศมี (วัตตะบะอุนนูรอลละซีอุนซิละมะอะฮู) และปฏิบัติตามรัศมีที่ถูกประทานลงมาพร้อมกับเขา

๓. เป็นผู้ให้การช่วยเหลือท่านศาสดา (วะนะเซาะรูฮู) และช่วยเหลือเขา

๔. เป็นผู้ให้ความสำคัญต่อตำแหน่งของท่านศาสดา (วะอัซซะรูฮุ) ให้ความสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ การให้เกียรติและยกย่องฐานันดรของท่านศาสดา    (ซ็อล ฯ) นอกเหนือไปจากการช่วยเหลือ และการปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน ถือว่าเป็นความจำเป็น ส่วนการให้ความสำคัญต่อท่าน เท่ากับได้ปฏิบัติตามอัล-กุอานที่กล่าวว่า (วะอัซซะรูฮุ)

๓. การจัดงานเฉลิมฉลองเท่ากับเป็นการปฏิบัติตามพระผู้เป็นเจ้า อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ให้ความสำคัญแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า

وَ رَ فَعْنَا لَكَ ذِكْرَكَ

และเราได้ยกย่องการรำลึกแก่เจ้าแล้ว [3]

โองการได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงต้องการให้ความรุ่งโรจน์และภาพลักษณ์ของท่านศาสดาขจรขจายกว้างไปทั่วทั้งโลก ดังนั้น  จะเห็นว่าพระองค์ได้ทำการยกย่องท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ด้วยพระองค์เอง เมื่ออัล-กุรอานยืนยันว่าพระองค์ได้ยกย่องฐานันดรอันสูงศักดิ์ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ และมีเกียรติยิ่งแก่ท่านศาสดา มุสลิมในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติตามอัล-กุรอานของพระองค์ จึงได้แสดงการยกย่องท่านตามพระองค์ เป็นที่ชัดเจนว่าจุดประสงค์ของบรรดามุสลิมในการจัดพิธีเฉลิมฉลองรำลึกถึงท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่ได้มีสิ่งใดเกินเลยไปจากการยกย่องเกียรติยศของท่าน

๔. การประทานอัล-กุรอาน มิได้เล็กน้อยไปกว่าการประทานอาหาร อัล-กุรอานได้กล่าวถึงคำพูดของท่านศาสดาอีซา (อ.) ว่า

قَالَ عِيسَى ابْنُ مَرْيَمَ اللَّهُمَّ رَبَّنَا أَنزِلْ عَلَيْنَا مَآئِدَةً مِّنَ السَّمَاء تَكُونُ لَنَا عِيداً لِّأَوَّلِنَا وَآخِرِنَا وَآيَةً مِّنكَ وَارْزُقْنَا وَأَنتَ خَيْرُ الرَّازِقِينَ

อีซาบุตรของมัรยัม ได้กล่าวว่า โอ้ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้อภิบาลของเรา โปรดประทานอาหารจากฟากฟ้าลงมาแก่พวกเรา เพื่อจะได้เป็นวันรื่นเริงแก่พวกเราทั้งหมด ตั้งแต่คนแรกของพวกเราจนคนสุดท้าย และเพื่อเป็นสัญญาณหนึ่งจากพระองค์  โปรดประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเราพระองค์คือผู้ที่ดีเยี่ยมในหมู่ผู้ประทานปัจจัยยังชีพทั้งหลาย [4]

ท่านศาสดาอีซา (อ.) ได้เสนอต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ว่าให้พระองค์ประทานอาหารจากฟากฟ้าแก่พวกเขา เพื่อจะได้จัดให้วันนั้นเป็นวันอีด (วันรื่นเริง)

คำถาม ขณะที่ท่านศาสดาอีซา (อ.) ได้รับริซกีซึ่งเป็นอาหารที่ถูกประทานจากฟากฟ้าและเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเจิญเติบโตมีความอิ่มหนำสำราญ ท่านได้จัดเฉลิมฉลองวันนั้นให้เป็นวันอีดทันที และวันนี้เนื่องจากเป็นวันแห่งการประทานอัล-กุรอานหรือวันประสูติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ผู้ซึ่งได้ช่วยเหลือให้มนุษย์รอดพ้นจากสภาพของความเป็นเดรัจฉาน และได้ให้ชีวิตใหม่แก่สังคมมนุษย์ ถ้าหากมุสลิมจะจัดพิธีเฉลิมฉลอง หรือมอบให้เป็นวันอีดแก่มวลมุสลิมทั้งหลายถือว่าเป็นชิริกและบิดอะฮฺหรือ

๕. แบบฉบับของมุสลิม ผู้ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอิสลามนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองรื่นเริงเพื่อรำลึกถึงท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มาโดยตลอด เช่น ท่านฮุซัยนฺ บิน มุฮัมมัด ดิยาร บิกรียฺ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ตารีคุลเคาะมีซ ว่า

ولا يزال أهل الإسلام يحتفلون بشهر مولده عليه السّلام و يعملون الولائم و يتصدّقون فى لياليه بأنواع الصّدقات و يظهرون السرور ويزيدون فى المبرّات و يعتنون بقراءة مولده الكريم و يظهر عليهم من بركاته كل فضل عميم

บรรดามุสลิมได้จัดพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในเดือนประสูติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้มีการเลี้ยงฉลอง มีการบริจาคทานในคืนนั้น สร้างความสนุกสนานรื่นเริง ปกคลุมไปด้วยบรรยากาศแห่งการทำคุณงามความดี      ต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญต่อการอ่านสาส์นรำลึกถึงวันประสูติของท่าน ความเมตตาและความจำเริญต่าง ๆ ของเขาเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั้งหลาย [5]

จากคำพูดข้างต้นทำให้ได้รับรู้กฏทั่ว ๆ ไปว่า การจัดพิธีเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในทัศนะของอัล-กุรอานและแบบฉบับของบรรดามุสลิมถือว่าอนุญาต ดังนั้น เป็นที่แน่ชัดว่าคำพูดที่กล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวผิด เป็นชิริก และบิดอะฮฺจึงเป็นคำพูดที่ไม่มีรากที่มา เนื่องจากว่า บิดอะฮฺ นั้นหมายถึงการให้กระทำบางส่วนหรือทั้งหมดของภารกิจนั้น โดยที่ไม่ได้อิงอาศัยอัล-กุรอานแม้แต่นิดเดียว ขณะที่กฎเกณฑ์ของเรื่องที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ได้อิงอาศัยอยู่กับอัล-กุรอาน และแบบฉบับดั้งเดิมของบรรดามุสลิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การจัดงานเฉลิมฉลองลักษณะเช่นนี้เพียงเพื่อแสดงความเคารพ และยกย่องเกียรติคุณของบ่าวผู้มีความบริสุทธิ์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) และด้วยความเชื่อที่ว่าพวกเขาก็ต้องแสดงความเคารพภักดีและพึ่งพิงพระองค์ด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ การกระทำที่กล่าวมาถือว่าเข้ากันกับรากของความเป็นเอกภาพแห่งพระผู้เป็นเจ้า และทำให้รู้ว่าคำกล่าวอ้างของบางคนที่ว่า การจัดพิธีเฉลิมฉลองรื่นเริงเนื่องในวันประสูติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นชิริกและบิดอะฮฺนั้น ไม่ถูกต้องและไม่มีรากที่มาของคำพูดเว้นเสียแต่ว่ามีอคติที่ฝังแน่นอยู่ภายในจิตใจ

 



[1] ชูรอ / ๒๓

[2] อะอฺรอฟ / ๑๕๗

[3] อินชะเราะฮฺ /๔

[4] มาอิดะฮฺ / ๑๑๔

[5] ฮุซัยนฺ บิน มุฮัมมัด  บิน ฮะซัน ดิยารบิกรียฺ ตารีคุลเคาะมีซ พิมพ์ที่เบรุต เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๒๓

 

index