back

คำถามที่ ๑ : อิตระตี ถูกต้องหรือซุนนะตี

next

คำถามที่ ๑ : อิตระตี ถูกต้องหรือซุนนะตี

บรรดานักรายงานฮะดีซที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ได้รายงานฮะดีซซะเกาะลัยนฺไว้ ๒ รูปแบบ ซึ่งทั้งสองได้ถูกบันทึกอยู่ในมะญามิอุลฮะฮาดีซ จำเป็น ต้องพิจารณาดูว่าฮะดีซใดถูกต้องที่สุดระหว่าง

ฮะดีซที่บันทึกว่า   كتاب الله وعترتي اهل بيتيคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และทายาทของฉัน

กับฮะดีซที่บันทึกว่า  كتاب الله وسنتي  คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺและแบบฉบับของฉัน

คำตอบ : ฮะดีซที่ถูกต้องและมั่นใจได้จากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คือฮะดีซที่กล่าวว่า คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และทายาทของฉัน  (อะฮฺลุบัยตี)  ส่วนฮะดีซที่ใช้คำว่า  และแบบฉบับของฉัน (ซุนนะตี)  เมื่อพิจารณากระแสรายงาน (ซะนัด) จะพบว่าอ่อนและไม่ถูกต้อง ขณะที่ฮะดีซที่กล่าวว่า และทายาทของฉัน เป็นฮะดีซที่มีกระแสรายงานที่แข็งแรงเชื่อถือได้

ซะนัดของฮะดีซที่ว่า  และทายาทของฉัน (อะฮฺลุบัยตี) 

ตัวบทของฮะดีซได้มีนักรายงานฮะดีซที่มีชื่อเสียง ๒ ท่านรายงานไว้ กล่าวคือ

๑. มุสลิม ได้บันทึกไว้ในเซาะฮียฺ ของท่านโดยรายงานมาจาก ซัยดฺ บิน อัรกอม ว่า วันหนึ่งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวสุนทรพจน์ข้างๆ สระน้ำแห่งหนึ่งนามว่า คุม ซึ่งอยู่ระหว่างมักกะฮฺ กับมะดีนะฮฺ หลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ และกล่าวตักเตือนประชาชนแล้วท่านได้กล่าวว่า

الا ايها الناس فانّما انا بشر يوشك ان يأتي رسول ربّي فاجيب وانا تارك فيكم ثقلين اولهما كتاب الله فيه الهدى والنور فخذوا بكتاب الله واستمسكوا به فحث على كتاب الله ورغّب فيه ثمّ قال: واهل بيتي اُذكّركم الله في اهل بيتي اُذكّر كم الله في اهل بيتي اُذكّر كم الله في اهل بيتي

โอ้ประชาชนเอ๋ย  แท้จริงแล้วฉันเป็นปุถุชนคนหนึ่งเท่านั้น ใกล้เวลาที่ทูตแห่งพระผู้อภิบาลจะมา ซึ่งฉันได้ตอบรับคำเชิญแล้ว ฉันขอฝากสิ่งหนักสองสิ่งที่มีค่ายิ่งไว้ในหมู่ของพวกท่าน สิ่งหนึ่งคือคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ ซึ่งในนั้นมีทางนำและนูร (รัศมี) ฉะนั้นจงยึดเหนี่ยวคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺไว้ให้มั่น ซึ่งท่านได้เน้นย้ำถึงการปฏิบัติตามคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ หลังจากนั้นท่านได้กล่าวต่ออีกว่า และอะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาท) ของฉัน ซึ่งได้กล่าวย้ำถึง ๓ ครั้งว่า อัลลอฮฺได้เตือนสำทับพวกท่านเกี่ยวกับอะฮฺลุลบัยตฺของฉัน อัลลอฮฺได้เตือนสำทับพวกท่านเกี่ยวกับอะฮฺลุลบัยตฺของฉัน อัลลอฮฺได้เตือนสำทับพวกท่านเกี่ยวกับอะฮฺลุลบัยตฺของฉัน [1]  

ตัวบทดังกล่าว ท่านดารอมี ได้บันทึกไว้ในสุนันของท่านเช่นกัน [2] ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า สายสืบของทั้ง ๒ นั้นมีความชัดเจนยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ในตอนกลางวัน โดยที่ไม่มีความคลางแคลงใดๆ ทั้งสิ้น

๒. ติรมิซียฺ ได้บันทึกด้วยคำว่า وعترتي اهل بيتي ไว้ในตำราของท่านดังนี้

انّي تارك فيكم ما ان تمسّكتم به لن تضلّوا بعدى احدهما اعظم من الآخر كتاب الله حبل ممدود من السماء الى الارض وعترتي اهل بيتي لن يفترقا حتى يردا عليَّ الحوض فانظروا تختلفوني فيها

แท้ที่จริงฉันขอฝากสิ่งสำคัญไว้ในหมู่พวกท่าน หากพวกท่านได้ยึดมั่นกับมันจะไม่หลงทางอย่างเด็ดขาด สิ่งหนึ่งนั้นมีความยิ่งใหญ่กว่าอีกสิ่ง ได้แก่คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺอันเป็นสายเชือกที่ทอดตรงมาจากฟากฟ้าสู่แดนดิน และอีกสิ่งคืออะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาท) ของฉัน ทั้งสองจะไม่แยกออกจากกันเด็ดขาด จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำ พวกท่านจงพิจารณาเถิดว่า จะปฏิบัติกับของฝากของฉันอย่างไร [3]  

ท่านมุสลิม และท่านติรมีซียฺ เป็นผู้เขียนตำรา เซาะฮียฺ และซุนัน ทั้ง ๒ ท่านได้เน้นที่คำว่า อะฮฺลุบัยตี (ครอบครัว)  ซึ่งเป็นการเพียงพอต่อการพิสูจน์ตามทัศนะของเรา และนอกเหนือจากนี้สายสืบของทั้ง ๒ ยังมีความแข็งแรง และน่าเชื่อถือเป็นพิเศษไม่จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์อีก

ซะนัดของตัวบทที่ว่า ซุนนะตี    (แบบฉบับของฉัน)

ริวายะฮฺที่ได้ใช้คำว่า แบบฉบับของฉัน (ซุนนะตี) แทนคำว่า ทายาทของฉัน (อะฮฺลุบัยตี) นั้น เป็นฮะดีซที่แต่งขึ้นมา ซึ่งนอกเหนือจากจะมีซะนัดที่อ่อนแล้ว ยังมีสิ่งอื่นคือความสัมพันธ์กับราชวงศ์ อะมะวียฺ เป็นตัวการที่ บ่งบอกว่าพวกเขาได้สร้างฮะดีซนี้ขึ้นมา

๑. ฮากิม นิชาบูรียฺ ได้บันทึกตัวบทไว้ในมุซตัดร็อก ของท่าน โดยมีกระแสรายงานดังต่อไปนี้ อับบาซ บิน อะบีอุเวซ รายงานจาก อะบีอุเวซ จาก เซารฺ บิน ซัยดฺ อัดดัยละมียฺ จาก อิกเราะมะฮฺ จาก จาก อิบนุอับบาซ ว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า

ياايها الناس انّي قد تركت فيكم ان اعتصمتم به فلن تضلّوا ابدا كتاب الله وسنّة نبيه

โอ้ประชาชนเอ๋ย ฉันได้ฝากสิ่งสำคัญไว้ในหมู่พวกท่าน หากพวกท่านได้ยึดมั่นกับมันจะไม่หลงทางอย่างเด็ดขาด ได้แก่คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และแบบฉบับของศาสดาแห่งพระองค์ [4]

จะสังเกตเห็นว่ากระแสรายงานตัวบทฮะดีซดังกล่าวนั้นเป็น บิดากับบุตร ซึ่งถือว่าเป็นกระแสรายงานที่น่ารังเกียจ และไม่เป็นที่เชื่อถือในหมู่นักรายงานด้วยกันกล่าวคือ อิซมาอีลบินอะบีอุเวซ และอะบูอุเวซ ทั้ง ๒ พ่อลูกคู่นี้มิใช่แค่ไม่เป็นที่เชื่อถือเท่านั้น แต่ยังถูกกล่าวหาว่า โกหก เป็นผู้อุปโลกน์และปลอมแปลงฮะดีซอีกต่างหาก

ทัศนะของนักริญาล (ผู้ตรวจสอบสถานภาพของนักฮะดีซ) เกี่ยวกับสองพ่อลูก

ท่านฮาฟิซ มัซซียฺ ได้บันทึกไว้หนังสือ ตะฮฺซีบุลกะมาล เกี่ยวกับสองพ่อลูกคู่นี้ โดยรายงานมาจาก  ยะฮฺยา บิน มุอีน (เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านริญาล) คนหนึ่ง พูดว่า อบูอุเวซกับบุตรชายของเขาไม่เป็นที่เชื่อถือ เขายังพูดอีกว่า สองคนนี้เป็นคนขโมยฮะดีซ โดยเฉพาะบุตรชายของเขาไม่สามารถเชื่อถือได้เลย

ท่านนะซาอียฺ ได้พูดถึงบุตรชายของอบูอุเวซว่า เขาเป็นผู้อ่อนแอและไม่ได้รับความเชื่อถือ

ท่านอะบุลกอซิม ลาล กออียฺ พูดว่า นะซาอียฺ ได้พูดถึงเขาไว้มาก ถึงขนาดที่ว่าจำเป็นต้องละเว้นฮะดีซของเขา

ท่านอิบนุอะดียฺ (เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านริญาล) พูดว่า อิบนุอุเวซได้รายงานฮะดีซที่ประหลาด จากมาลิก น้าชายของเขาซึ่งไม่มีผู้ใดยอมรับ [5] 

อิบนิ ฮะญัรฺ ได้กล่าวไว้ในบทนำของหนังสือ ฟัตฮุลบารียฺว่า ไม่มีใครสามารถนำเอาฮะดีซของอิบนุอุเวซ มาปฏิบัติได้ เพราะท่านนะซาอียฺได้กล่าวตำหนิเขาไว้อย่างมากมาย [6]

ท่านฮาฟิซ ซัยยิดอะฮฺมัด บิน ซิดดีก ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ฟัตฮุลมุลกฺ อัล-อะอฺลา รายงานมาจากท่าน ซะละมะฮฺ บิน ชัยบะฮฺ ว่า ได้ยินมาจากอิซมาอีล บิน อะบี อุเวซ พูดว่า ในเวลานั้นเกี่ยวกับเรื่องอุปโลกน์ ชาวมะดีนะฮฺได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ฉันจึงได้ปลอมฮะดีซขึ้นมา [7]

ด้วยเหตุนี้ บุตรชายของเขา (อิซมาอีล บิน อบี อุเวซ) ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปลอมแปลงฮะดีซ ส่วนอิบนิ มุอีน ได้กล่าวว่าเขาเป็นคนโกหก นอกเหนือจากนั้นฮะดีซของเขายังไม่ได้ถูกบันทึกในเซาะฮียฺทั้งสอง มุสลิม  ติรมซียฺ และหนังสือซิฮาฮฺเล่มอื่นๆ

เกี่ยวกับเรื่องของอบูอุเวซ นั้นเพียงพอแล้ว หากจะนำคำพูดของท่าน อะบูฮาตัม รอซียฺที่บันทึกในหนังสือ ญัรฮฺ วะ ตะอฺดีล ที่กล่าวว่า ฮะดีซของเขาถูกบันทึกไว้จริงแต่ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้ เพาระฮะดีซเหล่านั้นไม่แข็งแรงและไม่เป็นที่เชื่อถือ [8]

ท่านอะบูฮาตัมได้รายงานจากท่านอิบนิมุอีนว่า อบูอุเวซไม่เป็นที่เชื่อถือ ริวายะฮฺทั้งหมดที่รายงานมาจากทั้งสองคนนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง และขัดแย้งกับริวายะฮฺที่เซาะฮียฺ

ประเด็นที่หน้าสนใจกว่านั้น ผู้เล่าฮะดีซ อย่างเช่นท่านฮากิม นิชาบูรียฺ ได้สารภาพถึงความอ่อนแอของฮะดีซ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงไม่ทำการตรวจสอบซะนัดของมัน ดังนั้นฮะดีซของเขาจึงจัดเป็นฮะดีซที่อ่อนแอ และไม่เป็นที่เชื่อถือ

ซะนัดที่ ๒ ของริวายะฮฺ (วะซุนนะตี)

ท่านฮากิม นิชาบูรียฺ ได้รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ ซึ่งเป็น     ฮะดีซมัรฟูอฺ ว่า

اني قد تركت فيكم شيئين لن تضلوا بعدهما : كتاب الله و سنتي ولن يفترقا حتي يردا عليّ الحوض

แท้จริงฉันได้ละทิ้งสองสิ่งไว้ในหมู่พวกท่าน ซึ่งพวกท่านจะไม่หลงทางหลังจากทั้งสองอย่างเด็ดขาด ได้แก่คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และซุนนะฮฺของฉัน และทั้งสองจะไม่แยกออกจากกัน จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำ [9]

ตัวบทของฮะดีซดังกล่าวท่านฮากิมได้รายงานด้วยซะนัดเช่นนี้ อัฎ ฎอบบียฺ จาก ซอลิฮฺ บิน มูซา อัลฎ็อลฮียฺ จาก อับดุลอะซีซ บิน รอฟีอฺ จาก อบีซอลิฮฺ จาก อบีฮุร็อยเราะฮฺ

ฮะดีซดังกล่าว เหมือนกับฮะดีซก่อนหน้านี้ที่ปลอมแปลงขึ้นมาเพราะในซะนัดจะเห็นว่ามี ซอลิฮฺ บิน มูซา อัลฎ็อลฮียฺ เป็นผู้รายงานอยู่ด้วย ซึ่งบุคคลคนนี้ บรรดานักริญาลได้กล่าวถึงเขาไว้อย่างมากมาย เช่น

ท่านยะฮฺยา บิน มุอีนได้กล่าวว่า ซอลิฮฺ บิน มูซา เป็นบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้ ท่านอะบูฮาตัมรอซียฺพูดว่า ฮะดีซของเขาอ่อนและเป็นมุนกิร (ถูกปฏิสธ) ซึ่งฮะดีซส่วนมากของเขาที่เป็นมุนกิรนั้นนักรายงานฮะดีซที่ซิกเกาะฮฺ (เชื่อถือได้) ได้รายงานไว้ ท่านนะซาอียฺพูดว่า ฮะดีซของเขาไม่อาจนำมาบันทึกได้ ในอีกที่หนึ่งท่านพูดว่า ฮะดีซของเขาเป็นฮะดีซมัตรูก  (ถูกทอดทิ้ง) [10]

ท่านอิบนิฮะญัร ได้บันทึกไว้ใน ตะฮฺซีบุลตะฮฺซีบ ว่า อิบนิฮิบบัน พูดว่า ซอลิฮฺ อิบนิ มูซา ได้กล่าวบางสิ่งบางอย่างถึงบุคคลที่ซิกเกาะฮฺ แต่คำพูดของเขาไม่เหมือนกับคำพูดของบุคคลเหล่านั้นเลย สุดท้ายท่านได้พูดว่า ฮะดีซของซอลิฮฺ เชื่อถือไม่ได้ อะบูนะอีมพูดว่า ฮะดีซของเขาเป็นฮะดีซมัตรูกและเป็นฮะดีซมุนกิร [11]

ท่านอิบนิฮะญัร ได้พูดไว้ใน ตักรีบว่า ฮะดีซของเขาเป็นฮะดีซมัตรูก ท่านซะฮะบียฺได้บันทึกไว้ในกาชิบ [12] ว่า  ฮะดีซของเขาอ่อนมาก และกล่าวไว้ใน อัลมีซานอิอฺติดาล [13] ว่า ฮะดีซที่กำลังพูดถึงขณะนี้ได้รายงานมาจากเขา และได้พูดกันว่าเป็นฮะดีซมัตรูก

ความรู้เกี่ยวกับฮะดีซ แบ่งฮะดีซเป็น ๓ ประเภทดังนี้

๑. ฮะดีซเซาะฮียฺ เช่น ฮะดีซมุตะวาติร (เชื่อถือได้) ทั้งคำและความหมาย

๒. ฮะดีซหะซัน (เชื่อถือได้แต่ไม่ถึงขั้นมุตะวาติร)

๓. ฮะดีซเฎาะอีฟ หมายถึงฮะดีซที่ไม่มีคุณสมบัติของเซาะฮียฺและฮะซัน ในความหมายก็คือฮะดีซที่เชื่อถือไม่ได้ เช่น ฮะดีซมุรซัล หมายถึง ฮะดีซที่ไม่มีเซาะฮาบะฮฺเป็นผู้รายงาน คนในสมัยต่อจากเซาะฮาบะฮฺระบุว่านำมาจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

มุนเกาะฏิอฺ หมายถึงฮะดีซที่รอวียฺได้ถูกตัดออกไปจากกระแสรายงาน โดยนำรอวียที่มัจฮูล (ไม่เป็นที่รู้จัก) มาใส่ไว้ในกระแสรายงาน ทำให้กระแสรายงานขาดตอน

มุอฺฎิล  หมายถึงฮะดีซที่มีรอวียฺ ๒ คนหรือมากกว่านั้นได้ถูกตัดออกไปจากกระแสรายงานติดต่อกัน

มุดัลลัซ มี ๒ ประเภทกล่าวคือ มุดัลลัซซะนัด หมายถึงฮะดีซที่รอวียฺได้อยู่ร่วมสมัยกัน ได้พบกัน แต่ไม่ได้ยินการเล่าฮะดีซ ได้รายงานฮะดีซจากเขา อีกประเภทหนึ่งคือ มุดัลลัซชุยูค หมายฮะดีซที่รอวียฺได้เสริมเติมแต่งคุณลักษณะของอาจารย์ของตนมากเกินความเป็นจริงหรือมีอคติ

มุอัลลัล หมายถึงฮะดีซที่มีสาเหตุเงื่อนงำ ความบกพร่อง หรือตัวการบางอย่างแอบแฝงอยู่ ซึ่งถ้าเปิดเผยเงื่อนงำนั้นออกมาจะมีผลเสียกับความถูกต้องของฮะดีซ ซึ่งถ้ามองดูเผิน ๆ แล้วไม่มีข้อบกพร่องแต่อย่างใด

มุฎเฏาะลิบ หมายถึงฮะดีซจำนวนที่มากมาย ซึ่งฮะดีซเหล่านั้นเท่าเทียมกัน โดยไม่อาจแยกแยะได้ว่าฮะดีซใดดีกว่ากัน อีกนัยหนึ่งคือฮะดีซที่เกิดข้อขัดแย้งกันในตัวบทหรือในสายรายงาน

มักลูบ  หมายถึงฮะดีซที่คำ  ตัวบท ได้ถูกเปลี่ยนไปด้วยสาเหตุที่เฉพาะเจาะจง หรือคำ ๆ หนึ่งของฮะดีซได้แทนที่คำอีกคำหนึ่ง หรือผู้รายงานบางคนหรือสายรายงานได้ถูกเปลี่ยนไป

ชาซ  หมายถึงฮะดีซที่มีปัญหาเนื่องจากรอวียฺที่เชื่อถือได้ ได้รายงานฮะดีซดังกล่าวในลักษณะที่แตกต่างไปจากรอวียฺที่เชื่อได้อีกคนหนึ่ง อีกนัยหนึ่ง รอวียฺที่ถูกยอมรับได้รายงานฮะดีซในลักษณะที่ขัดแย้งกับรอวียฺที่เชื่อถือได้มากกว่าตน หรือฮะดีซที่ขัดแย้งกับฮะดีซอื่นที่มีคุณสมบัติดีกว่า โดยไม่สามารถเข้ากันได้

มุนกิร หมายถึงฮะดีซที่ผู้รายงานอ่อนได้รายงานขัดแย้งกับผู้รายงานที่เชื่อได้ เป็นฮะดีซที่แตกต่างไปจากฮะดีซชาซ หรือฮะดีซที่มีผู้รายงานเพียงคนเดียว ซึ่งมีคุณธรรมและความทรงจำไม่ถึงระดับที่จะรับรองได้

มัตรูก หมายถึงฮะดีซที่มีรอวียฺเพียงคนเดียว ซึ่งนักฮะดีซลงความเห็นว่าเขาเป็นคนโกหก หรือเป็นฟาซิก (ฝ่าฝืน) หรือเป็นผู้หลงลืม มีความจำที่ไม่ดี หรือเป็นคนขี้สงสัย [14]

อีกประเภทหนึ่งของฮะดีซคือ ฮะดีซที่มีหุ้นส่วนกันระหว่าง เซาะฮียฺ ฮะซัน และเฎาะอีฟ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ฮะดีซมัรฟูอฺ หมายถึงฮะดีซที่เซาะฮาบะฮฺ หรือบุคคลในสมัยถัดมา หรือสมัยหลังจากนั้นได้ระบุว่าเป็นคำพูด หรือการกระทำ หรือการยอมรับของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และไม่จำกัดว่าสายรายงานจะติดต่อกันหรือไม่ ฉะนั้นฮะดีซมัรฟูอฺจึงเป็นได้ทั้ง ๓ ลักษณะขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไขใดชัดเจนกว่า

ซะนัดที่  ๓ ของริวายะฮฺ (วะซุนนะตี)

ท่านอิบนิ อับดุล บัรริ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ อัตตัมฮีด [15] ของท่านว่าฮะดีซดังกล่าวได้บันทึกไว้โดยกระแสรายงานดังต่อไปนี้

อับดุรเราะฮฺมาน บินยะฮฺยา จาก อะฮฺมัด บิน ซะอีด จาก มุฮัมมัด บิน อิบรอฮีม อัดบีลียฺ จาก อะลี บิน ซัยดฺ อัล-ฟะรออิฎ จาก อัล-ฮุนัยนียฺ จาก กะซีร บิน อับดุลลอฮฺ บิน อุมัร บิน เอาฟฺ จาก บิดาของเขา จาก ปู่ของเขา

 

 

อิมามชาฟิอียฺ ได้พูดถึง กะซีร บิน อับดุลลอฮฺว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้กล่าวเท็จ [16] อะบูดาวูดพูดว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่กล่าวเท็จและโกหกที่สุด [17]อิบนิฮับบานพูดว่า อับดุลลอฮฺ บิน กะซีร ได้เขียนตำราฮะดีซโดยบันทึกจากบิดา และปู่ของเขา ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการปลอมแปลงและการอุปโลกน์ขึ้นมา ดังนั้นการเล่าฮะดีซจากหนังสือ หรือจากริวายะฮฺของอับดุลลอฮฺ    ฮะรอม (ไม่อนุญาต) นอกเสียจากว่าด้วยความประหลาดหรือเพื่อการ หักล้าง [18]

ท่านนะซาอียฺ และท่านดารุก็อฎนียฺ พูดว่า ฮะดีซของเขาเป็นฮะดีซ มัตรูก ท่านอิมามอะฮฺมัดพูดว่า ฮะดีซของเขาถือว่าเป็นมุนกิร และตัวของเขาเชื่อถือไม่ได้ ท่านอิบนิมุอีนก็มีความคิดเช่นนี้เหมือนกัน

แต่น่าประหลาดใจเกี่ยวกับท่าน อิบนิฮะญัร ที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัต-ตักรีบ ซึ่งท่านใช้คำว่า เฎาะอีฟ เท่านั้น และสำหรับผู้ที่กล่าวหาว่าเขา (อับดุลลอฮฺ บิน กะซีร) เป็นคนพูดโกหก ท่านกล่าวว่าผู้ที่พูดเช่นนั้นเป็นคนสุดโต่งทางความคิด ขณะที่นักริญาลคนอื่น ๆ และนักฮะดีซทั้งหลายก่อนหน้านั้นได้ลงความเห็นว่าเขาเป็นคนโกหก และเป็นนักแต่งฮะดีซ แม้กระทั่งท่านซะฮะบียฺยังพูดว่า เขาเป็นคนมุสาและอ่อนแอมาก (เชื่อถือไม่ได้)

 

การรายงานโดยปราศจากซะนัด

อิมามมาลิก ได้บันทึกไว้ในหนังสือ มุวัฏเฏาะอฺ ของท่านโดยปราศจากซะนัด เป็นการรายงานแบบมุรซัล (ไม่มีเซาะฮาบะฮฺสักคนเป็นผู้รายงาน) ซึ่งทุกคนทราบดีว่าฮะดีซประเภทนี้เป็นฮะดีซที่ไม่มีคุณค่าอันใด [19]

จากการวิเคราะห์เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ฮะดีซที่กล่าวว่า และซุนนะตี เป็นฮะดีซที่นักรายงานฮะดีซ (รอวียฺ) ที่โกหกทั้งหลาย ที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับราชวงศ์อะมะวีย์ได้แต่งขึ้นมา โดยมีเจตนาให้ขัดแย้งกับฮะดีซที่ถูกต้องที่กล่าวว่า (วะอิตระตี) ทั้ง ๆ ที่ในหนังสือเซาะฮียฺมุสลิมได้บันทึกไว้โดยใช้คำว่า อะฮฺลุบัยตี ในหนังสือติรมิซียฺบันทึกไว้โดยใช้คำว่า อิตระตีวะอะฮฺลุบัยตี ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นสำหรับผู้ที่ทำการศึกษาทุกท่าน ต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน เป็นการเหมาะสมแล้วหรือที่ท่านได้นำเอาฮะดีซที่อ่อนแอ (เฎาะอีฟ) ขึ้นหน้าฮะดีซที่เซาะฮียฺ (ถูกต้อง)

จุดประสงค์ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จากคำว่า อะฮฺลุบัยตี ทายาทของฉันนั้นหมายถึงใคร หมายถึงทายาทชั้นใกล้ชิดพิเศษของท่าน ได้แก่ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ท่านอิมามอะลี ท่านอิมามฮะซัน และท่านอิมามฮุซัยนฺ   ดังที่ท่านมุสลิมได้บันทึกไว้ในเซาะฮียฺของท่าน [20] และติรมีซียฺได้บันทึกไว้ในซุนันของท่าน [21] โดยรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า

نزلت هذه الآية على النبى (ص) إِنَّمَا يُرِيدُ اللَّهُ لِيُذْهِبَ عَنكُمُ الرِّجْسَ أَهْلَ الْبَيْتِ وَيُطَهِّرَكُمْ تَطْهِيرًا فى بيت امّ سلمة, فدعا النبى (ص فاطمة وحسنا و حسينا فجعللهم بكساء و على خلف ظهره فجعلله بكساء ثمّ قال : اللهمّ هولاء اهل بيتي فاذهب عنهم الرجس و طهّرهم تطهيرا. قالت امّ سلمة: وانا معهم يا نبي الله قال: انت على مكانك و انت الى الخير

โองการดังกล่าวถูกประทานลงมาที่บ้านของท่านหญิงอุมมุ ซะละมะฮฺ ท่านศาสดา  (ซ็อล ฯ) ได้เรียกท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ฮะซัน และฮุซัยนฺ ให้เข้าไปอยู่ในอะบา (ผ้าคลุม) โดยให้อะลีนั่งข้างหลังของท่านแล้วคลุมพวกเขาด้วยผ้าคลุมกิซาอฺ หลังจากนั้นท่านได้กล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺ พวกเขาคืออะฮฺลุลบัยตฺของฉัน จงขจัดสิ่งโสมมทั้งหลายให้ออกห่างจากพวกเขา และโปรดทำให้พวกเขาสะอาดอย่างแท้จริง อุมมุซะละมะฮฺได้พูดว่า โอ้เราะซูลของอัลลอฮฺอนุญาตให้ฉันอยู่กับพวกเขาไหม (ให้นับฉันว่าเป็นอะฮฺลุลบัยตฺตามที่โองการได้ประทานลงมา) ท่านศาสดากล่าวว่า เธอจงอยู่ในที่ของเธอ (อย่าเข้ามาในผ้าคลุมเลย) เธออยู่บนหนทางที่ดีแล้ว [22]

ความเข้าในเกี่ยวกับฮะดีซซะเกาะลัยนฺ

จากการที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวถึงอะฮฺลุลบัยตฺไว้เคียงข้างกับอัล-กุรอาน และแนะนำว่าทั้งสองเป็นหุจญัต (เหตุผล) ของอัลลอฮฺในหมู่ของประชาชน ซึ่งสามารถสรุปได้จากคำพูดทั้งสองดังนี้

๑. คำพูดของอิตรัต (ลูกหลาน) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นข้อพิสูจน์เหมือนกับอัล-กุรอาน ภารกิจที่เกี่ยวกับศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องความศรัทธา หรืออะฮฺกาม (การปฏิบัติ) ต้องยึดถือคำพูดของพวกเขา และด้วยการมีเหตุผลที่มาจากพวกเขา ประชาชนจึงไม่มีสิทธิ์ไปหาเหตุผลจากคนอื่น

มุสลิมภายหลังจากที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้จากไป แม้ว่าในเรื่องปัญหาการเมืองพวกเขาจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มก็ตาม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีเหตุผลของตนเองว่าทำไมพวกเขาจึงยึดถือแตกต่างกัน แต่ในเรื่องของความรู้และวิชาการของอะฮฺลุลบัยตฺแล้ว พวกเขาต้องไม่ขัดแย้งกัน เพราะว่าทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับและเห็นพ้องต้องกันถึงความถูกต้องของฮะดีซซะเกาะลัยนฺ ซึ่งได้ย้ำเน้นว่าสถานที่ย้อนกลับของความรู้ทั้งหลักความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) และหลักการปฏิบัติ (อะฮฺกาม) คืออัล-กุรอานและอะฮฺลุลบัยตฺเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าหากประชาชาติอิสลามได้ปฏิบัติตามฮะดีซดังกล่าว ความขัดแย้งของพวกเขาจะลดน้อยลงทันทีและเอกภาพจะเกิดขึ้นในหมู่ของพวกเขา

๒. อัล-กุรอานเป็นพจนารถของพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) บริสุทธิ์จากความผิดพลาดทั้งปวง และมนุษย์ไม่สามารถคิดถึงความผิดพลาดของอัล- กุรอานได้อย่างเด็ดขาดเพราะพระองค์ทรงตรัสรับรองว่า

لاَ يَأْتِيهِ الْبَاطِلُ مِن بَيْنِ يَدَيْهِ وَلاَ مِنْ خَلْفِهِ تَنْزِِيلٌ مِّنْ حَكِيمٍ حَمِيدٍ

ความเท็จจากข้างหน้าและจากข้างหลังจะไม่คืบคลานเข้าไปสู่อัล-    กุรอาน เป็นการประทานจากพระผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงได้รับการสรร      เสริญ [23]

ถ้าอัล-กุรอานบริสุทธิ์จากความผิดพลาด แน่นอนผู้ที่อยู่เสมอกับอัล-กุรอานย่อมบริสุทธิ์จากความผิดพลาดตามไปด้วย เพราะเป็นสิ่งไม่ถูกต้องถ้าให้คนที่มีความผิดพลาดไปอยู่เสมอชั้นกับอัล-กุรอาน

ฉะนั้นฮะดีซดังกล่าวเท่ากับเป็นการยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของพวกเขาจากสิ่งโสมม และความผิดพลาดทั้งหลาย สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ ความบริสุทธิ์ไม่ใช่ความจำเป็นร่วมกับนะบูวัต หมายถึงอาจเป็นไปได้ที่คน ๆ หนึ่งมีความบริสุทธิ์แต่ไม่ได้เป็นศาสดา เช่น ท่านหญิงมัรยัม อัล-กุรอานกล่าวว่า

   إِنَّ اللّهَ اصْطَفَاكِ وَطَهَّرَكِ وَاصْطَفَاكِ عَلَى نِسَآءِ الْعَالَمِينَ

แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงเลือกเธอและทรงทำให้เธอบริสุทธิ์ และได้ทรงเลือกเธอให้เหนือบรรดาหญิงแห่งประชาชาติทั้งหลาย [24]

 

 



[1] เซาะฮียฺมุสลิม เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๘๐๓ ลำดับที่ ๒๔๐๘ อับดุลบากียฺ

[2] ซุนันดารอมี เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๓๑-๔๓๒

[3] ซุนันติรมีซียฺ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๖๓  ลำดับที่ ๓๗๗๘๘

[4] มุซตัดร็อก อัล-ฮากิม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๙๓

[5] ฮาฟิซ มัซซียฺ ตะฮฺซีบุล กะมาล เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๒๗

[6] อิบนิ ฮะญัรฺ อัซเกาะลานียฺ มุก็อดดิมาต ฟัตฮุลบารียฺ หน้าที่ ๓๙๑ พิมพ์ที่ ดารุลมะอฺริฟะฮฺ

[7] ฮาฟิซ ซัยยิดิอะฮฺมัดฟัตฮุลมุลกฺ อัล-อะอฺลา หน้าที่ ๑๕

[8] อะบูฮาตัม รอซียฺ อัล-ญัรฮฺ วัล ตะอฺดีล เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๙๒

[9] มุซตัดร็อกฮากิม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๙๓

[10] ฮาฟิซ มะซียฺ, ตะฮฺซีบุล กะมาล เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๙๖

[11] ตะฮฺซีบุซตะฮิซีบ, อิบนิหะญัร เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๓๕๕

[12] ตักรีบ, อิบนิฮะญัร ตัรญุมมะฮฺ ลำดับที่ ๒๘๙๑

[13] ซะหะบียฺ มีซานอัล-อิอฺติดาล เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๐๒

[14] อะบูฮาตัม รอซียฺ อัล-ญัรฮฺ วัล ตะอฺดีล เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๙๒

[15] อัตตัมฮีด เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๓๓๑

[16] อิบนิ ฮะญัร, ตะฮฺซีบุล ตะฮฺซีบ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๓๗๗ พิมพ์ที่ ดารุลฟิกรฺ, ตะฮฺซีบุลกะมาล เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๑๓๘

[17] เล่มเดิม

[18] อิบนิฮับบาน อัล-มัจรูฮีน เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๒๑

[19] มาลิก  อัล-มุวัฏเฏาะอฺ หน้าที่ ๘๘๙ ฮะดีซที่ ๓

[20] เซาะฮียฺมุสลิม เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๘๘๓ ฮะดีซที่ ๒๔๒๔

[21] ติรมิซียฺ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๖๓

[22] คัดลอกมาจาก ฮะซัน บิน อะลี อัซ-ซะกอฟ เซาะฮียฺ เซาะลาตุนนะบี หน้าที่ ๒๘๙-๒๙๔

[23] ฟุซซิลัต / ๔๒

[24] อาลิอิมรอน / ๔๒

 

index