back

คำถามที่ ๑๕ : บะดาอฺหมายถึงอะไร และทำไมต้องเชื่อด้วย

next

คำถามที่ ๑๕ : บะดาอฺหมายถึงอะไร และทำไมต้องเชื่อด้วย

คำตอบ : คำว่า บะดาอฺ ในปทานุกรมอาหรับหมายถึง การปรากฏ การเปิดเผย ในความหมายของนักปราชญ์ชีอะฮฺหมายถึง  การเปลี่ยนแปลงชะตากรรมมนุษย์ด้วยกับการกระทำคุณงามความดี (อะมัลซอลิฮฺ) บะดาอฺ เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งในนิกายชีอะฮฺวางอยู่บนพื้นฐานอัล-กุรอาน ตรรก และสติปัญญา ทัศนะของอัล-กุรอานกล่าวว่า มนุษย์ไม่มีสิทธิ์เลือกสรรชะตากรรมของตนเอง แต่ว่าวิถีทางที่นำไปสู่ความผาสุกนั้นเปิดสำหรับเขาตลอดเวลา เขาสามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของตนเองได้ด้วยการไปสู่แนวทางสัจธรรม และการประพฤติคุณงามความดี ด้วยเหตุนี้เองจะเห็นว่าบะดาอฺเป็นความเชื่อที่เป็นแก่นประการหนึ่งของอิสลาม อัล-กุรอานกล่าวว่า

إِنَّ اللّهَ لاَ يُغَيِّرُ مَا بِقَوْمٍ حَتَّى يُغَيِّرُواْ مَا بِأَنْفُسِهِمْ

แท้จริงอัลลอฮฺจะมิทรงเปลี่ยนแปลงประชาชาติใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงตนเอง [1]

อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَلَوْ أَنَّ أَهْلَ الْقُرَى آمَنُواْ وَاتَّقَواْ لَفَتَحْنَا عَلَيْهِم بَرَكَاتٍ مِّنَ السَّمَاءِِ وَالأَرْضِ

และหากว่าชาวเมืองนั้นได้ศรัทธาและมีความยำเกรง แน่นอนเราจะเปิดประตูความจำเริญแห่งฟากฟ้าและแผ่นดินให้แก่พวกเขา [2]

อัล-กุรอานกล่าวว่า

فَلَوْلَا أَنَّهُ كَانَ مِنْ الْمُسَبِّحِينَ  لَلَبِثَ فِي بَطْنِهِ إِلَى يَوْمِ يُبْعَثُونَ

หากเขามิได้เป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้แซ่ซ้องสดุดีแล้ว แน่นอน เขาจะอยู่ในท้องปลาจวบจนกระทั่งวันฟื้นคืนชีพ [3]

จากโองการสามารถเข้าใจได้ว่า ท่านศาสดายูนุซ (อ.) ต้องอยู่ในท้องปลา (อันเป็นที่คุมขังพิเศษ) สำหรับท่านตลอดไปจนถึงวันกิยามะฮฺ แต่เป็นเพราะว่าความประพฤติที่ดี (ท่านทำการแซ่ซ้องสดุดี) ชะตากรรมของท่านศาสดา (อ.) จึงเปลี่ยนแปลงไปและได้รับการช่วยเหลือในที่สุด ความจริงดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของอิสลาม ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า

إن الرجل ليحرم الرزق بالذّنب يصيبه ولا يردّ القدر إلا الدّعاء و لا يزيد فى العمر إلاّ البّر

คน ๆ หนึ่งริซกี (ปัจจัยยังชีพ) จะถูกห้ามสำหรับเขา เนื่องจากการทำบาป และไม่มีสิ่งใดสามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมนี้ได้ นอกจากดุอาอฺ และอายุของเขาจะไม่ยืนนอกจากการปฏิบัติความดี [4]

จากริวายะฮฺดังกล่าวและริวายะฮฺอื่น ๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกันนี้สรุปได้ว่า มนุษย์เราจะถูกห้ามจากริซกีต่าง ๆ เนื่องจากการกระทำบาป แต่ทว่าด้วยกับการประพฤติคุณงามความดี เช่น การขอดุอาอฺ การบริจาคทาน และการทะนุบำรุงศาสนาของพระองค์ให้มีชีวิตเสมอ สามารถเปลี่ยนชะตาชีวิตและทำให้มีอายุยืน

สรุป ทั้งโองการและริวายะฮฺ สรุปได้ว่าแม้มนุษย์ได้ประพฤติตนตามใจปรารถนา (หากพิจารณาที่สาเหตุ และตัวการที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์) ความประพฤติของเขานั่นเองที่เป็นตัวการสำคัญทำให้ชะตากรรมเปลี่ยนแปลงไป หรือในบางครั้งอาจมีบรรดาเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺ (ซบ.) อย่างเช่น ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) หรือบรรดาอิมาม (อ.) ได้แจ้งข่าวให้เขาทราบล่วงหน้า หมายถึงว่า ถ้าเขายังประพฤติเช่นนั้นต่อไป เขาต้องพบกับชะตากรรมที่รออยู่อย่างแน่นอน แต่ผลจากการเปลี่ยนแปลงการกระทำอย่างฉับพลัน จะทำให้ชะตากรรมของเขาเปลี่ยนทันที ดังนั้นจะเห็นว่าแก่นแท้ของเรื่องดังกล่าว ที่วางอยู่บนพื้นฐานของอัล-กุรอาน ซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และสติปัญญาที่สมบูรณ์ ชีอะฮฺเรียกว่า การบะดาอฺ หากพิจารณาไปตามความเป็นจริงจะพบว่า บะดาอฺ ไม่ใช่สิ่งที่มีจากชีอะฮฺฝ่ายเดียว หรือเป็นการตีความของผู้รู้ชีอะฮฺเท่านั้น ทว่าเรื่องนี้ได้มีบันทึกอยู่ในตำราของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ และท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวไว้เช่นกันเช่นกล่าวว่า

بَدَ ا للهُ عزّ و جَلّ ان يبتليهم

อัลลอฮฺทรงยกเลิกการทดสอบสำหรับพวกเขา [5]

สิ่งจำเป็นที่ต้องกล่าวถึงคือ การบะดาอฺ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ความรู้ของพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากพระองค์ทรงทราบตั้งแต่แรกแล้วถึง ความประพฤติที่เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ และตัวการที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การ บะดาอฺ อัล-กุรอานกล่าวว่า

يَمْحُو اللّهُ مَا يَشَاءُ وَيُثْبِتُ وَعِندَهُ أُمُّ الْكِتَابِ

อัลลอฮทรงยกเลิกสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ และทรงยืนหยัดให้มั่น (สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์) และแม่บทแห่งคัมภีร์อยู่ ณ พระองค์ [6]

ด้วยเหตุนี้พระองค์อัลลอฮฺ ผู้ทรงปรีชาญาณและทรงพลานุภาพ  เมื่อพระองค์ทรงบะดาอฺนั้น แก่นแท้ของสิ่งดังกล่าวเป็นที่ล่วงรู้ตั้งแต่แรก ณ พระองค์ แค่ทรงเปิดเผยสิ่งนั้นให้มนุษย์ได้รับรู้ ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

ما بد الله فى شيء الا كان فى علمه قبل ان يبدوله

ไม่มีสิ่งใดปิดบังสำหรับอัลลอฮฺ นอกจากว่าพระองค์ได้ล่วงรู้สิ่งนั้นตั้งแต่แรกแล้ว [7]

ปรัชญาของการบะดาอฺ ไม่เป็นที่สงสัยหากมนุษย์สามารถเปลี่ยนชะตาชีวิตของตนเองได้ แน่นอนเขาต้องทำให้อนาคตของเขาสูงส่งและดี ความพากเพียรของเขาต้องมีมากและเป็นประโยชน์กว่าที่เป็นอยู่ อีกนัยหนึ่งดังที่กล่าวไปแล้วว่า การชะฟาอะฮฺ และการเตาบะฮฺเป็นความหวังในการช่วยเหลือมนุษย์ ซึ่งแก่นแท้ของการบะดาอฺก็เช่นกัน เป็นสาเหตุในการสร้างความสุข และความปิติยินดีแก่มนุษย์ ทำให้มีความหวังต่ออนาคตของตนเอง เพราะว่ามนุษย์ทราบดีว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้กำหนดไว้แล้วแก่เขาได้ และยังสามารถกระทำในสิ่งที่ดีกว่าแก่ตนเองได้อีกต่างหาก

 

 



[1] เราะอฺดุ / ๑๑

[2] อะอฺรอฟ / ๙๖

[3] ซอฟาต /๑๔๓-๑๔๔

[4] มุซนัดอะฮฺมัด เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๒๗๗, มุซตัดร็อกฮากิม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๙๓, อัต-ตาญุล ญามิอฺลิลอุซูล เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๑๑

[5] อัล-นิฮายะฮฺ ฟี ฆ่อรีบิลฮะดีซ วัลอะซัร มัจดุดดีน มุบารัก บิน มุฮัมมัด ญะซะรียฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๐๙

[6] เราะอฺดุ / ๓๙

[7] อุซูลอัล-กาฟียฺ เล่มที่ ๑ กิตาบเตาฮีด บาบบะดาอฺ ฮะดีซที่ ๙

 

index