back

คำถามที่ ๑๖ : ชีอะฮฺเชื่อว่าอัล-กุรอานถูกเปลี่ยนแปลงหรือ

next

คำถามที่ ๑๖ : ชีอะฮฺเชื่อว่าอัล-กุรอานถูกเปลี่ยนแปลงหรือ

คำตอบ : บรรดานักปราชญ์ทั้งหมดของชีอะฮฺเชื่อว่า อัล-กุรอานซึ่งเป็นพระมหาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง   ใด ๆ ทั้งสิ้น อัล-กุรอานที่อยู่ในมือของเราปัจจุบันคืออัล-กุรอานที่ได้ถูกประทานแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เมื่ออดีตที่ผ่านมา ไม่มีสิ่งใดเพิ่มเติมลงไปหรือถูกตัดออก ดังเหตุผลที่จะกล่าวต่อไปนี้

๑. พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้อภิบาลผู้ทรงสูงส่งได้รับประกันว่า พระองค์จะเป็นผู้ปกป้องคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งฟากฟ้าด้วยพระองค์เอง อัล-  กุรอานกล่าวว่า

إِنَّا نَحْنُ نَزَّلْنَا الذِّكْرَ وَإِنَّا لَهُ لَحَافِظُونَ

แท้จริงเราเป็นผู้ประทานอัล-กุรอานลงมา และเราจะเป็นผู้พิทักษ์อย่างแน่นอน [1]

เป็นที่ชัดเจนว่าบรรดาชีอะฮฺทั้งหลายนับตั้งแต่ได้ยึดถือว่า อัล-      กุรอานคือรัฐธรรมนูญสูงสุดในการดำเนินชีวิตและจากโองการดังกล่าว ชีอะฮฺมีความเชื่อว่า อัล-กุรอานได้รับการปกป้องให้บริสุทธิ์จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย

๒. ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของชีอะฮฺ ท่านอิมามอะลี (อ.) ผู้อยู่ร่วมกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ขณะที่วะฮียฺได้ถูกประทานลงมา และเป็นผู้จดบันทึกวะฮียฺ ท่านได้กล่าวเชิญชวนให้บรรดามุสลิมทั้งหลายไปสู่อัล-กุรอานฉบับปัจจุบันในวาระต่าง ๆ ดังคำพูดต่อไปนี้ของท่าน

واعلموا أنّ هذا القرآن هو النّاصح الّذى لايغشّو الهاذى الّذى لا يضلّ

จงรู้ไว้ว่า แท้จริงอัล-กุรอานเล่มปัจจุบันคือคำตักเตือนที่ไม่มีการบิดเบือน และเป็นคำชี้นำที่ไม่มีการหลงทาง [2]

إنّ الله سبحانه لم يَعِظْ أحداُ بمثل هذا القرآن فإنّه حبل الله المتين و سببه المبين

แท้จริงแล้วอัลลอฮฺ (ซบ.) ไม่เคยแนะนำผู้ใดเหมือนกับอัล-กุรอาน อัล-กุรอานนั้นเป็นสายเชือกที่มั่นคงของอัลลอฮฺ และเป็นสื่อที่ชัดแจ้งของพระองค์ [3]

ثمّ أنزل عليه الكتاب نورًا لا تطفأ مصابيحه و سراجاً لا يخبوا توقّده  و منهاجاً لا يضلّ نهجه فرقانا لا يخمد بر هانه

หลังจากนั้นอัลลอฮฺทรงประทานแก่เขา คัมภีร์ที่เป็นรัศมีที่ไม่มีวันสิ้นแสง เป็นประทีปที่ไม่มีวันมืดมิด เป็นแนวทางที่ไม่นำไปสู่การหลงทาง และเป็นสิ่งจำแนกความถูกผิดที่ไม่มีวันสิ้นด้วยเหตุผล [4]

จากคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของชีอะฮฺ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า อัล-กุรอานคือ ประทีปที่ทอแสงไม่มีวันดับจนกว่าจะถึงวัน  กิยามะฮฺ เป็นแสงสว่างแก่ผู้ที่ปฏิบัติตาม และเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ จะไม่พบว่าอัล-กุรอานเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ปฎิบัติตามหลงทาง หรือทำให้พวกเขาต้องสิ้นหวังในชีวิต

๓. บรรดานักปราชญ์ของชีอะฮฺ เห็นพ้องต้องกันว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ฉันได้ฝากสิ่งหนักสองสิ่งที่มีค่ายิ่งไว้ในหมู่ของพวกท่าน สิ่งหนึ่งคือคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และอีกสิ่งได้แก่อิตระตีทายาทของฉัน หากพวกท่านได้ยึดมั่นกับทั้งสองพวกท่านจะไม่หลงทางตลอดไป

ฮะดีซซะเกาะลัยนฺ เป็นฮะดีซมุตะวาติรของอิสลาม (ไม่อาจคาดถึงการโกหก) ทั้งซุนนะฮฺ และชีอะฮฺได้รายงานฮะดีซดังกล่าวไว้ จากคำพูดดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าในทัศนะของชีอะฮฺ เชื่อว่าอัล-กุรอานฉบับปัจจุบันมีความสมบูรณ์ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากถ้าอัล-กุรอานมีการเปลี่ยนแปลงการยึดมั่นกับอัล-กุรอานไม่สามารถนำทางและขจัดข้อสงสัยต่าง ๆ ได้ ทว่ายังเป็นสาเหตุนำไปสู่การหลงทางอีกต่างหาก ซึ่งบทสรุปดังกล่าวนี้มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับฮะดีซซะเกาะลัยนฺ

๔. ริวายะฮฺของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ฝ่ายชีอะฮฺ ที่บรรดาผู้รู้และนักปราชญ์ได้รายงานไว้นั้น ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าอัล-กุรอานคือมาตรฐานของการจำแนกสิ่งถูกผิด สัจธรรมและความเท็จทั้งหลาย หมายความว่าแม้แต่ริวายะฮฺต่าง ๆ ที่ได้มาถึงเรา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องด้วยกับอัล-กุรอาน ถ้าริวายะฮฺนั้นเข้ากับอัล-กุรอานได้ถือว่าถูกต้อง ถ้าไม่เช่นนั้นถือว่าไม่ถูกต้องและใช้ไม่ได้ ริวายะฮฺที่กล่าวถึงเรื่องนี้มีอยู่มากมาย ทั้งที่บันทึกอยู่ในตำราฟิกฮฺ และตำราเล่มอื่นๆ ซึ่งจะขอหยิบยกบางริวายะฮฺเท่านั้น ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

قال الصادق (ع) : مَالَمْ يُوافِقَ مِنَ الْحَدِيْثِ الْقُرآنَ فَهُوَ زُخْرُفُ

ถ้าหากคำพูดใดไม่เข้ากับอัล-กุรอาน ถือว่าคำพูดนั้นไร้ประโยชน์และไม่ถูกต้อง [5]

ริวายะฮฺดังกล่าวเป็นที่กระจ่างว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้นเกิดกับอัล-กุรอาน ด้วยเหตุนี้อัล-กุรอานคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ จึงสามารถเป็นมาตรฐานในการวัดความถูกผิด และจำแนกสัจธรรมกับความเท็จได้ตลอดไปจนถึงวันแห่งการอวสานของโลก

๕. นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของชีอะฮฺ ผู้อยู่ร่วมกับความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและการเติบโตของชีอะฮฺ ต่างยอมรับว่า อัล-กุรอานนั้นบริสุทธิ์จากการเปลี่ยนแปลง แต่การนับจำนวนนักปราชญ์ทั้งหมดเหล่านั้นเป็นเรื่องยากลำบาก ฉะนั้นจะขอยกตัวอย่างบางท่านที่มีชื่อเสียง เช่น

๕.๑ อะบูญะอฺฟัรฺ มุฮัมมัด บิน อะลี บิน ฮุซัยนฺ บาบูยะฮฺ กุมมียฺ มีฉายานามว่า เชคซุดูก เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. ที่ ๓๘๑ กล่าวว่า ความเชื่อของเราที่มีต่ออัล-กุรอานอันเป็นพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า เป็นคัมภีร์ที่ความเท็จไม่อาจย่างกรายเข้าไปสู่ และเป็นคัมภีร์ที่ได้รับการประทานลงมาจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระองค์คือผู้พิทักษ์รักษาคัมภีร์ [6]

๕.๒ ซัยยิด มุรตะฎอ อะลี บิน ฮุซัยนฺ มูซาวี อะละวี มีฉายานามว่า อะละมุลฮุดา เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. ที่ ๔๓๖ กล่าวว่า มีเซาะฮาบะฮฺกลุ่มหนึ่ง เช่น อับดุลลอฮฺ บิน มัซอูด อุบัย บินกะอับ และคนอื่น ๆ ได้อ่านกุรอานทั้งเล่มต่อหน้าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สิ่งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าอัล-กุรอานได้ถูกรวบรวมไว้แล้วในสมัยของท่าน โดยไม่มีการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลง [7]

๕.๓ อะบูญะอฺฟัรฺ มุฮัมมัด บิน ฮะซัน ฎูซียฺ มีฉายานามว่า ชัยคฺฏออิฟะฮฺ เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. ที่ ๔๖๐ กล่าวว่า คำพูดที่กล่าวว่า การเพิ่มเติม หรือการแต่งขึ้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่มีในอัล-กุรอาน เนื่องจากบรรดามุสลิมทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันว่า อัล-กุรอานนั้นบริสุทธิ์จากการเพิ่มเติมและการเปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่องการเพิ่มเติม นิกายส่วนใหญ่ของอิสลามต่างไม่ยอมรับ คำพูดที่ว่าไม่มีการเพิ่มเติมนั้นเหมาะสมกับนิกายของเรา ซึ่งท่านซัยยิดมุรตะฎอ ยอมรับและสนับสนุนคำพูดนี้ ประกอบกับความหมายทั่วไปของริวายะฮฺก็กล่าวเช่นนี้เหมือนกัน จะมีบางคนทั้งซุนนีและชีอะฮฺเท่านั้นที่พูดถึงริวายะฮฺ ที่กล่าวว่าอัล-กุรอานไม่สมบูรณ์ หรือพูดว่า โองการอัล-     กุรอานได้สลับเปลี่ยนที่กัน ซึ่งริวายะฮฺเหล่านั้นเป็นริวายะฮฺประเภท เคาะบัรวาฮิด หมายถึงไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานทางวิชาการและการปฏิบัติได้ ดีกว่าให้ละทิ้งริวายะฮฺประเภทนี้ [8]

๕.๔ อะบูอะลี เฏาะบัร เราะซียฺ เจ้าของตัฟซีร มัจมะอุลบะยาน กล่าวว่า เรื่องการเพิ่มเติมความหมายของอัล-กุรอาน มุสลิมส่วนใหญ่มีทัศนะตรงกันว่าเป็นไปได้ ส่วนการเพิ่มโองการของอัล-กุรอาน มีสาวกบางคนของชีอะฮฺ และนิกายฮัชวียะฮฺจากอะฮฺลิซซุนนะฮฺได้กล่าวอ้างถึงริวายะฮฺเหล่านั้น ซึ่งสิ่งที่นิกายชีอะฮฺยอมรับและถือว่าเป็นสิ่งถูกต้องขัดแย้งกับความคิดเหล่านี้ [9]

๕.๕ อะลี บิน ฏอวูซ ฮิลลี มีฉายานามว่า ซัยยิดิบนิฏอวูซ เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ.ที่ ๖๖๔ กล่าวว่า ทัศนะของชีอะฮฺไม่ยอมรับว่าอัล-กุรอานได้ถูกเปลี่ยนแปลง [10]

๕.๖ ชัยคฺซัยนุดดีน อามิลี เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. ที่ ๘๗๗  ได้อธิบายโองการ

إِنَّا نَحْنُ نَزَّلْنَا الذِّكْرَ وَإِنَّا لَهُ لَحَافِظُونَ

แท้จริงเราเป็นผู้ประทานอัล-กุรอานลงมา และเราจะเป็นผู้พิทักษ์  มันอย่างแน่นอน (ฮิจร์/๙) หมายถึงอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นผู้ปกป้องรักษา   อัล-กุรอานจากการเปลี่ยนแปลง การเพิ่มเติม และการตัดทอนด้วยพระองค์   เอง [11]

๕.๗ กอฎี ซัยยิด นูรุดดีน ตุซตะรียฺ เจ้าของตำรา อิฮฺกอกุลฮัก เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. ที่ ๑๐๑๙ กล่าวว่า  คำพูดที่ใส่ร้ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺว่า ชีอะฮฺมีความเชื่อว่าอัล-กุรอานถูกเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นที่ยอมรับของชีอะฮฺทั้งหลายเนื่องจากว่ามีชีอะฮฺบางคนเท่านั้นที่มีความเชื่อทำนองนี้ ชีอะฮฺส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเหล่านี้ และไม่เคยสนใจกับคำพูดของเขา [12]

๕.๘ มุฮัมมัด บิน ฮุซัยนฺ มีฉายานามว่า บะฮาอุดดีน อามีลี เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. ที่ ๑๐๓๐ กล่าวว่า  สิ่งที่ถูกต้องคืออัล-กุรอานบริสุทธิ์จากการเปลี่ยนแปลงทั้งปวง และการที่มีบางคนพูดว่า นามของท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ถูกตัดออกจากอัล-กุรอานนั้นไม่ เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์และผู้รู้ทั้งหลาย และบุคคลใดก็ตามที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ และริวายะฮฺจะ พบว่าอัล-กุรอานมีความมั่นคงในความถูกต้องด้วยการยืนยันของริวายะฮฺมุตะวาติร และเหล่าบรรดาเซาะฮาบะฮฺอีกเป็นพันท่าน ซึ่งอัล-กุรอานนั้นได้ถูกรวบรวมตั้งแต่สมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) [13]

๕.๙ ฟัยฎฺกาชานียฺ เจ้าของตำรา อัล-วาฟียฺ เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. ที่ ๑๐๙๑ หลังจากได้อธิบายถึงโองการที่ว่า

إِنَّا نَحْنُ نَزَّلْنَا الذِّكْرَ وَإِنَّا لَهُ لَحَافِظُونَ

แท้จริงเราเป็นผู้ประทานอัล-กุรอานลงมา และเราจะเป็นผู้พิทักษ์มันอย่างแน่นอน [14] กล่าวว่า

ในสภาพเช่นนี้ เป็นไปได้อย่างไรที่อัล-กุรอานจะถูกเปลี่ยนแปลง หรือได้รับการเพิ่มเติม หรือถูกตัดทอน ประกอบกับริวายะฮฺที่กล่าวว่าอัล-   กุรอานถูกเปลี่ยนแปลงนั้นขัดแย้งกับอัล-กุรอาน ดังนั้นต้องถือว่าริวายะฮฺเหล่านั้นไม่ถูกต้อง อ่อนแอและไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานทางวิชาการหรือการปฏิบัติได้ [15]

๕.๑๐ ชัยคฺฮุร อามีลี เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. ที่ ๑๑๐๔ กล่าวว่า ประวัติ ศาสตร์ และริวายะฮฺกล่าวว่า อัล-กุรอานมีความมั่นคงในความถูกต้อง ด้วยการยืนยันของริวายะฮฺมุตะวาติรฺ และเหล่าบรรดาเซาะฮาบะฮฺอีกเป็นพันท่าน ซึ่งอัล-กุรอานนั้นได้ถูกรวบรวมตั้งแต่สมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) [16]

๕.๑๑ มุฮักกิก กาชิฟุลฆิฏออฺ ได้กล่าวไว้ในตำราที่มีชื่อเสียงของท่าน กัชฟุลฆิฏออฺว่า  ไม่ต้องสงสัยอัล-กุรอานได้ถูกปกป้องรักษาให้บริสุทธิ์ จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายโดยพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งอัล-กุรอานและนักปราชญ์ในทุกยุคทุกสมัยได้กล่าวยืนยันเอาไว้ และมีความคิดขัดแย้งกับกลุ่มชนที่เชื่อว่าอัล-กุรอานไม่สมบูรณ์ อีกทั้งไม่สนใจในคำพูดเหล่านั้น

๕.๑๒ ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ผู้นำการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านได้กล่าวว่า  บุคคลใดก็ตามที่รู้และเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับการรวบรวมอัล-กุรอาน การปกป้องรักษา การบันทึก และการอ่าน แน่นอนเท่ากับเขาได้ยืนยันถึงความถูกต้อง และเป็นการปฏิเสธการถูกเปลี่ยนแปลงของอัล-กุรอาน ส่วนริวายะฮฺที่ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของอัล-กุรอาน ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงได้ ประกอบกับเป็น    ริวายะฮฺที่ไม่เป็นที่รู้จัก และบ่งชี้ถึงการถูกอุปโลกน์ขึ้นมา หรือความหมายโดยรวมของริวายะฮฺเหล่านั้น มีความหมายในเชิงของการตะอ์วีล และตัฟซีรอัล-กุรอานหรือความหมายอื่น ๆ ฉะนั้นหากศึกษาประวัติศาสตร์ของอัล-กุรอานตลอดทุกศตวรรษที่ผ่านมา จะพบว่า อัล-กุรอานที่ถูกต้องคือฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนที่มีการอ่านแตกต่างกันนั้น เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสมัยใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับอัล-กุรอานที่ท่านญิบรออีลได้นำลงมาให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แม้แต่นิดเดียว [17]

บทสรุป มุสลิมโดยทั่วไปทั้งซุนนี และชีอะฮฺ มีความเชื่อว่าอัล-      กุรอานที่อยู่ในมือของมุสลิมปัจจุบัน คือคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ปราศจากการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มเติม และการตัดทอนจากคำอธิบายข้างต้นเป็นที่ชัดเจนว่า คำใส่ร้ายที่มีต่อชีอะฮฺ สามารถยุติได้และเป็นคำพูดที่ไม่มีมูลความจริง แต่ถ้าจะพูดว่าการอ้างถึงริวายะฮฺที่อ่อนแอเหล่านั้นมาจากชีอะฮฺโดยเฉพาะ เราขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงเพราะไม่ได้มีขอบเขตจำกัดอยู่แค่ชีอะฮฺกลุ่มน้อย หากแต่ว่ามีนักตัฟซีรอัล- กุรอานฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺบางท่านได้อ้างอิงถึงริวายะฮฺที่อ่อนแอเหล่านั้น เช่น

๑. อะบูอับดิลลาฮฺ มุฮัมมัด บิน อะฮฺมัด อันซอรียฺ กุรฺฎุบียฺ ได้กล่าวถึงริวายะฮฺไว้ในตัฟซีรของตน โดยรายงานมาจาก อบูบักร์ อันบาซีย์ จาก อุบัย บินกะอับว่า ซูเราะฮฺอะฮฺซาบในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีมากกว่าที่มีอยู่ ๗๓ โองการเท่ากับจำนวนโองการในซูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ (๒๘๖ โองการ) และโองการรัจมฺ ก็อยู่ในซูเราะฮฺนี้ด้วย (ตัฟซีรกุรฺฏุบียฺ ญุซที่ ๑๔ หน้าที่ ๑๑๓ ในตอนต้นของซูเราะฮฺอฮฺซาบ) แต่ปัจจุบันนี้ไม่เห็นร่องรอยของโองการเหล่านั้นในซูเราะฮฺนี้อีกต่อไป และในหนังสือเล่มดังกล่าวยังมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า ซูเราะฮฺอะฮฺซาบในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีจำนวน ๒๐๐ โองการ แต่หลังจากได้รวบรวมเป็นเล่มแล้ว ฉันไม่เห็นโองการที่มีมากไปกว่านี้ [18]

๒. เจ้าของตำรา อัลอิตติกอน พูดว่า จำนวนซูเราะฮฺต่าง ๆ ในมุซฮับของอุบัยมีถึง ๑๑๖ ซูเราะฮฺ ซึ่งสองซูเราะฮฺที่ไม่ได้มีอยู่ในอัล-กุรอานปัจจุบันคือ ซูเราะฮฺฮะฟะดะ และเคาะละอะ [19]

ขณะที่มุสลิมทุกคนทราบดีว่าอัล-กุรอานมีทั้งสิ้น ๑๑๔ ซูเราะฮฺ นามของซูเราะฮฺที่กล่าวไว้ในมุซฮับของท่านอุบัยนั้นไม่ได้ปรากฏในอัล-กุรอานฉบับปัจจุบัน

๓. ฮับตุลลอฮฺ บิน ซะละมะฮฺ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ นาซิควัลมันซูค โดยรายงานมาจากท่านอะนัซ บินมาลิก ซึ่งพูดว่า ในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ฉันได้อ่านอัล-กุรอานซูเราะฮฺหนึ่งที่มีความยาวเท่ากับซูเราะฮฺ อัต-เตาบะฮฺ และฉันได้ท่องจำโองการของซูเราะฮฺนั้นไว้เพียงโองการเดียวเท่านั้น ซึ่งโองการนั้นได้แก่

لَو اَنَّ لِاِيْنِ آدَمَ وَا دِيَانِ مِنَ الذَّهَبِ لاَ بْتغى اِلَيْهِمَا ثَالِثًا وَلَوْ اَنَّ لَهُ ثَالِثًَا لاَ بْتغى اِلَيْهَا رَابِعًا وَلاَ يَمْلأ جَوْف اِبْنِ آدَمَ اِلاّ التُرَاب وَيَتُوب اللّهُ عَلَى مَنْ تَابَ

ขณะที่มุสลิมทั้งหมดทราบดีว่าโองการดังกล่าวไม่มีอยู่ในอัล-กุรอาน และหากพิจารณาด้านวาทศิลป์ด้วยแล้วไม่เข้ากับวาทศิลป์ของอัล-กุรอานแม้แต่นิดเดียว

๔. ญะลาลุดดีน ซุยูฏียฺ ได้บันทึกไว้ในตัฟซีร อัดดุรุลมันซูร โดยรายงานมาจากท่าน อุมัร บิน ค็อฏฏ็อบว่า ซูเราะฮฺอะฮฺซาบมีความยาวเท่ากับซูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ และในนั้นมีโองการ รัจมฺ อยู่ด้วย [20]

ด้วยเหตุนี้  จะเห็นว่ามีผู้รู้ส่วนน้อยทั้งซุนนีและชีอะฮฺ ได้รายงาน      ริวายะฮฺที่อ่อนที่กล่าวว่า อัล-กุรอานถูกเปลี่ยนแปลง ซึ่งริวายะฮฺเหล่านี้มีผู้รู้และนักปราชญ์ทั้งซุนนีและชีอะฮฺส่วนมากไม่ยอมรับ ทว่าโองการ และริวา ยะฮฺที่ถูกต้อง และมุตะวาติรฺของอิสลาม ประกอบกับบรรดาเซาะฮาบะฮฺจำนวนเป็นพันท่าน และนักปราชญ์ของอิสลามส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า อัล-กุรอานปัจจุบันไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีการเพิ่ม หรือลดจำนวนโองการแต่อย่างไร

 

 

 



[1] ฮิจรฺ / ๙

[2] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ซุบฮิซอลิฮฺ คุฎบะฮฺที่ ๑๗๖

[3] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ซุบฮิซอลิฮฺ คุฎบะฮฺที่ ๑๗๖

[4] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ซุบฮิซอลิฮฺ คุฎบะฮฺที่ ๑๙๘

[5] อุซูลกาฟียฺ เล่มที่ ๑ บาบฟัฏลุอิลมฺ, บาบุลอะคัซ บิซซุนนะติ วัชชะวาฮิดิลกิตาบ ริวายะฮฺที่ ๔

[6] อัล-อิอฺติกอดาต หน้าที่ ๙๓

[7] มัจมะอุล บะยาน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๐

[8] ติบยาน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓

[9] มัจมะอุลบะยาน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๐

[10] ซะดุซซุอูด หน้าที่ ๑๔๔

[11] อิซฮารุลฮัก เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๓๐

[12] อาลาอุรเราะฮฺมาน หน้าที่ ๒๕

[13] อะลาอุรเราะฮฺมาน หน้าที่ ๒๕

[14] ฮิจรฺ / ๙

[15] ตัฟซีร อัซซอฟียฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๕๑

[16] อาลาอุรเราะฮฺมาน หน้าที่ ๒๕

[17] ตะฮฺซีบุลอุซูล ตักรีรอต ดุรูซอิมามโคมัยนี เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๙๖

[18] ตัฟซีรกุรฺฏุบียฺ ญุซที่ ๑๔ หน้าที่ ๑๑๓ ในตอนต้นของซูเราะฮฺอะฮฺซาบ

[19] อัล-อิตติกอน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๖๗

[20] อัดดุรุลมันซูร เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๘๐ ในตอนต้นของซูเราะฮฺอะฮฺซาบ

 

index