back

คำถามที่ ๑๔ : การอ่านหรือการเรียกคนอื่น เป็นสาเหตุของการเคารพบูชาพวกเขา และเป็นชิรีกหรือไม่

next

 

คำถามที่ ๑๔ : การอ่านหรือการเรียกคนอื่น เป็นสาเหตุของการเคารพบูชาพวกเขา และเป็นชิรีกหรือไม่

คำตอบ : สาเหตุที่ทำให้เกิดคำถามดังกล่าว เนื่องจากมีบางโองการที่ได้ห้ามมิให้มีการเรียกหาคนอื่นที่ไม่ใช่อัลลอฮฺ (ซบ.) อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَاَنَّ المسَا جِدَ لله فَلاَ تَدْعُوا مَعَ اللهِ أَحَدًا

และแท้จริงบรรดามัสญิดนั้นเป็นของอัลลอฮฺ ดังนั้น พวกเจ้าอย่าวิงวอนขอผู้ใดเคียงคู่กับอัลลอฮฺ [1]

وَلاَ تَدْعُ مِن دُونِ اللّهِ مَا لاَ يَنفَعُكَ وَلاَ يَضُرُّكَ

และเจ้าอย่าวิงวอนสิ่งใดอื่นนอกจากอัลลอฮฺที่ไม่อำนวยประโยชน์ และไม่ให้โทษแก่เจ้า [2]

มีมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อว่าโองการเหล่านี้ เป็นหลักฐานยืนยันไม่ให้ทำการวิงวอน เรียกร้องต่อบรรดาเอาลิยาอฺ และผู้เป็นกัลยาณชนของพระองค์ ภายหลังจากที่พวกเขาได้สิ้นชีวิตไปแล้วซึ่งถือว่าเป็นชิรีก สำหรับความกระจ่างในเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนคือ คำว่าดุอาอฺ และอิบาดะฮฺ หมายถึงอะไร

ไม่ต้องสงสัยว่า คำว่าดุอาอฺในภาษาอาหรับหมายถึง การวิงวอน เรียกร้อง ส่วนคำว่า อิบาดะฮฺ หมายถึง การเคารพภักดี ดังนั้นไม่สามารถกล่าวได้ว่าคำสองคำมีความหมายเหมือนกัน หรือความหมายเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่า ทุก ๆ การเรียกร้อง และความต้องการเป็น อิบาดะฮฺหรือการเคารพภักดี เพราะว่า

๑. คำว่าดุอาอฺได้ถูกใช้ในอัล-กุรอานหลายครั้ง แต่ไม่สามารถกล่าวได้ว่าจุดประสงค์ของดุอาอฺหมายถึง การอิบาดะฮฺ เช่นกล่าวว่า

قَالَ رَبِّ إِنِّي دَعَوْتُ قَوْمِي لَيْلًا وَنَهَارًا

ท่านศาสดานูฮฺกล่าวว่า พระผู้อภิบาลของฉัน ฉันได้เชิญชวนประชาชาติของฉัน (ไปสู่การภักดีกับพระองค์) ทั้งกลางวันและกลางคืน [3]

เป็นไปได้ไหม ที่จุดประสงค์ของท่านศาสดานูฮฺ (อ.) คือต้องการบอกว่าฉันได้ทำอิบาดะฮฺกับประชาชาติของฉันทั้งกลางวันและกลางคืน ฉะนั้น ไม่สามารถพูดได้ว่า ดุอาอฺ กับ อิบาดะฮฺให้ความหมายเดียวกัน และถ้าหากมีใครได้ขอความช่วยเหลือจากท่านศาสดา หรือจากบ่าวที่บริสุทธิ์คนหนึ่ง ถือว่าได้ทำอิบาดะฮฺกับเขาเพราะได้ให้ความหมายดุอาอฺ ครอบคลุมไปถึงการอิบาดะฮฺด้วย

๒. จุดประสงค์ของดุอาอฺที่ได้กล่าวไว้ในโองการที่นำเสนอมานั้น ไม่ได้หมายถึงการเรียกร้องทั้งหมด แต่ให้ความหมายว่าเป็นการเรียกร้องที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจให้ความหมายว่าเป็นการอิบาดะฮฺก็ได้ เพราะโองการเหล่านี้ได้ลงเกี่ยวกับเรื่องการเคารพบูชารูปปั้น ซึ่งพวกเขาถือว่าเทวรูปเหล่านั้นเป็นเทพเจ้าน้อยสำหรับพวกเขาไม่ต้องสงสัยเลยว่าการให้ความเคารพต่อเทวรูป และการร้องขอความช่วยเหลือในฐานะที่เป็นผู้มีสิทธิ์ในการให้ชะฟาอะฮฺ และอภัยในบาป และอื่น ๆ ตลอดจนเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นมี ความเป็นอิสระในการตอบสนองทั้งโลกนี้และโลกหน้าตามที่ได้มีผู้ร้องขอมา การกระทำด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ ทุก ๆ การร้องขอจากสิ่งที่มีอยู่จึงถือว่าเป็น    อิบาดะฮฺ ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการร้องขอของพวกเขา บนความเชื่อที่ว่าสิ่งเหล่านั้นมีเหมาะสมต่อการอิบาดะฮฺ อัล-กุรอานกล่าวว่า

فَمَا أَغْنَتْ عَنْهُمْ آلِهَتُهُمُ الَّتِي يَدْعُونَ مِن دُونِ اللّهِ مِن شَيْءٍ

และบรรดาพระเจ้าที่พวกเขาวิงวอนขอนอกเหนือไปจากอัลลอฮฺนั้น จะไม่อำนวยประโยชน์อันใดให้แก่พวกเขาเลย [4]

ดังนั้น จะเห็นว่าโองการที่กำลังกล่าวถึง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังพูดถึงอยู่แต่อย่างใด เรื่องที่กำลังกล่าวถึงคือ การร้องขอของบ่าวคนหนึ่งจากบ่าวอีกคนหนึ่ง โดยที่ไม่ได้เชื่อว่าเขาเป็นพระเจ้าผู้อภิบาล หรือเป็นผู้มีสิทธิ์สมบูรณ์ในภารกิจที่เกี่ยวข้องนั้นทั้งโลกนี้และโลกหน้า  ทว่ายอมรับว่าเขาเป็นเพียงบ่าวที่มีเกียรติ ณ พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) และเขาได้ถูกเลือกให้เป็นศาสดาหรืออิมาม และถูกให้สัญญาว่าดุอาอฺของเขาที่ขอให้มวลประชาชาติทั้งหลายเป็นที่ยอมรับ อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَلَوْ أَنَّهُمْ إِذ ظَّلَمُواْ أَنفُسَهُمْ جَآؤُوكَ فَاسْتَغْفَرُواْ اللّهَ وَاسْتَغْفَرَ لَهُمُ الرَّسُولُ لَوَجَدُواْ اللّهَ تَوَّابًا رَّحِيمًا

แม้ว่าพวกเขาได้อธรรมแก่ตัวเองได้มาหาเจ้า แล้วขออภัยโทษต่อ  อัลออฮฺ และร่อซูลก็ได้ขออภัยโทษให้แก่พวกเขา แน่นอนพวกเขาย่อมพบว่าอัลลอฮฺนั้นคือผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ [5]

๓. โองการที่ได้กล่าวมาจะเห็นว่า จุดประสงค์ของดุอาอฺ ไม่ได้หมายถึงการร้องขอเพียงอย่างเดียว ทว่าเป็นการร้องขอในเชิงของอิบาดะฮฺ ด้วยเหตุนี้จะพบว่าอีกโองการหนึ่งหลังจากคำว่า ดุอาอฺ แล้วในความหมายของดุอาอฺนั้นเองจะเปลี่ยนเป็นคำว่า อิบาดะฮฺทันทีอย่างเช่นโองการที่ว่า

وَقَالَ رَبُّكُمُ ادْعُونِي أَسْتَجِبْ لَكُمْ إِنَّ الَّذِينَ يَسْتَكْبِرُونَ عَنْ عِبَادَتِي سَيَدْخُلُونَ جَهَنَّمَ دَاخِرِينَ

และพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าตรัสว่า จงวิงวอนขอต่อฉัน ฉันจะตอบรับสำหรับพวกเจ้า แท้จริงบรรดาผู้โอหังต่อการเคารพภักดีฉันนั้น พวกเขาจะเข้าไปอยู่ในนรกอย่างต่ำต้อย [6]

หากพิจารณาจะพบว่าในตอนแรกของโองการจะใช้คำว่า อัดอูนี แต่หลังจากนั้นโองการได้ใช้คำว่า อิบาดะตี ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีว่าจุดประสงค์ของการ ดุอาอฺ หรือการขอความช่วยเหลือต่อสิ่งที่อยู่ต่อหน้า ซึ่งพวกเขาได้ยอมรับว่านั้นเป็นพระเจ้าของพวกเขา

สรุป จากบทนำทั้งสามที่ได้กล่าวมานั้นสามารถสรุปได้ว่า จุด     ประสงค์หลักของอัล-กุรอานจากโองการเหล่านี้ คือการปฏิเสธ การเชิญชวนของกลุ่มที่เคารพบูชาเทวรูปทั้งหลาย โดยถือว่าเทวรูปเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นหุ้นส่วนของพระเจ้า หรือเป็นผู้บริบาล หรือ เป็นเจ้าของชะฟาอะฮฺ การนอบน้อมทุกประเภท การขอความช่วยเหลือ การขอชะฟาอะฮฺ และการขอในสิ่งที่ตนปรารถนาจากสิ่งนั้นโดยถือว่านั่นคือพระเจ้าองค์น้อยสำหรับตน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพวกบูชาเทวรูปเชื่อว่าส่วนหนึ่งของภารกิจที่เกี่ยวข้องกับโลกนี้และโลกหน้า พระองค์ทรงมอบหมายในพระเจ้าองค์น้อยเหล่านั้นเป็นผู้จัดการ โองการดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์กับการขอความอนุเคราะห์จากจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ ในทัศนะของผู้ให้การเชิญชวนถือว่าพวกเขาประสบความสำเร็จกว่าคนอื่น ทว่าเขาคือบุคคลที่พระองค์ทรงให้ความรักเป็นพิเศษกระนั้นหรือ

อัล-กุรอานกล่าวว่า

وأنَّ المساجِدَ لله فلا تدعوا مع الله احداً

มัสญิดนั้นสำหรับอัลลอฮฺ ดังนั้นจงอย่าเรียกร้องผู้ใดร่วมกับ พระองค์  [7]

จุดประสงค์ คือการเรียกร้อง หรือวอนขอในลักษณะของการ        อิบาดะฮฺ เพราะพวกอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮฺนั้น จะทำการวอนขอต่อ  เทวรูปต่าง ๆ ตลอดจนจากมลาอิกะฮฺ และญินทั้งหลาย ดังนั้นจุดประสงค์ของโองการจึงหมายถึง การวอนขอจากตัวบุคคลหรือสรรพสิ่งอื่น ซึ่งถือว่าสิ่งนั้นคู่ควรกับการเคารพภักดี และไม่ต้องสงสัยเลยว่าการวอนขอจากสิ่งเหล่านี้ และด้วยความเชื่อดังกล่าวเท่ากับเป็นการสักการะสิ่งนั้นแน่นอน แต่สิ่งที่สงสัยคือ โองการดังกล่าวเกี่ยวข้องอันใดกับการดุอาอฺกับบุคคล ซึ่งผู้ขอไม่ได้คิดว่าเขาผู้นั้นเป็นเทพเจ้า หรือผู้บริหาร หรือเป็นพระผู้อภิบาลแต่อย่างใด เพียงแค่ยอมรับว่าเขาคือบ่าวที่ดีที่สุดของพระองค์เท่านั้น

บางคนอาจคิดว่าการวอนขอจากเอาลิยาอฺที่ดีและประเสริฐของ อัลลอฮฺ (ซบ.) สามารถทำได้เฉพาะในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่เท่านั้น การวอนขอภายหลังจากที่เขาตายไปแล้วถือว่าเป็นชิกรฺ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

๑. เราได้ขอจากวิญญาณอันบริสุทธิ์ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) ซึ่งอัล-กุรอานได้กล่าวว่าพวกเขายังไม่ตาย และมีความสูงส่งกว่าบรรดาชุฮะดาทั้งหลาย พวกเขายังดำเนินชีวิตอยู่ ณ อาลัมบัรฺซัค (โลกหลังความตายที่ไม่ใช่ทั้งโลกนี้และโลกหน้า) พวกเราไม่ได้ขอจากเรือนร่างที่ฝังอยู่ในดิน และแม้ว่าในบางครั้งอาจเห็นว่ามีชีอะฮฺยืนขอดุอาอฺที่ข้างหลุมฝังศพของบรรดาท่านเหล่านั้น เนื่องจากว่าสภาพดังกล่าวจะทำให้การติดต่อด้วยจิตด้านในของเรามีความกระตือรือร้นมากกว่า ประกอบกับ      ริวายะฮฺได้กล่าวว่า การขอดุอาอฺ ณ สถานที่ดังกล่าวจะทำให้ดุอาอฺถูกตอบรับเร็วขึ้น

๒. การมีชีวิตอยู่หรือความตายของพวกเขา ไม่สามารถนำมาเป็นเงื่อนไขของการเป็นชิกรฺ หรือเตาฮีดได้ ขณะที่สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงคือ รูปแบบของการเป็นชิกรฺ และเตาฮีด ไม่ใช่เรื่องที่ว่าดุอาอฺจะมีประโยชน์หรือไม่

แน่นอนเรื่องเกี่ยวกับการวิงวอนในทำนองนี้จะมีประโยชน์หรือไม่มี จะทำการอธิบายในบทต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

 



[1] ญิน / ๑๘

[2] ยูนุซ / ๑๐๖

[3] นูฮฺ / ๕

[4] ฮูด / ๑๐๑

[5] นิซาอฺ / ๖๔

[6] ฆอฟิรฺ / ๖๐

[7] ญิน / ๑๘

 

index