back

คำถามที่ ๒๑ : ทัศนะของอิสลามถือว่าศาสนาไม่ได้แยกออกจากการเมืองใช่ไหม

next

คำถามที่ ๒๑ : ทัศนะของอิสลามถือว่าศาสนาไม่ได้แยกออกจากการเมืองใช่ไหม

คำตอบ : ก่อนที่จะเข้าสู่สาระและเนื้อหาของคำตอบ ขอทำความเข้าใจกับคำว่า การเมือง (ซิยาซัต) ก่อนเป็นการดีกว่า เพื่อจะได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมืองได้ดียิ่งขึ้น ความว่าซิยาซัต (การเมือง) สามารถอธิบายได้ ๒ ประการ

๑. การเมืองในความหมายของ การอำพราง การใช้เล่ห์ ตลอดจนการใช้สื่อทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (เป้าหมายจะถูกอธิบายด้วยสื่อ) แน่นอนการเมืองในความหมายเช่นนี้ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า การเมือง ซึ่งมันไม่มีสิ่งใดเกินเลยไปจากการใช้เล่ห์เพทุบายและการหลอกลวง ไม่มีความเหมาะสมกับศาสนาแม้แต่นิดเดียว

๒. การเมืองในความหมายของ การบริหารภารกิจที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของสังคม โดยนำเอาแก่นแท้ที่ถูกต้องของอิสลามในแง่มุมต่าง ๆ มาเป็นตัวกำกับดูแลและบริหารสังคมนั้น การเมืองในความหมายดังกล่าวคือ การบริหารภารกิจของมุสลิมตามทัศนะของอัล-กุรอานและซุนนะฮฺ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา และไม่มีวันที่จะแยกออกจากศาสนาอย่างเด็ดขาด

 ต่อไปขอนำเสนอเหตุผลที่เข้ากันระหว่างการเมืองกับศาสนา และความจำเป็นในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อปกครองสังคม

สิ่งที่สนับสนุนคำพูดที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างดีคือ แบบฉบับและวิธีการของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในยุครุ่งโรจน์แห่งการประกาศศาสนา และถ้าศึกษาพระวัจนะและแบบฉบับของท่านอย่างละเอียด จะทำให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ประหนึ่งแสงแดดในตอนกลางวัน เพราะนับตั้งแต่วันแรกของการประกาศศาสนา ท่าน  ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจน ถึงการจัดตั้งรัฐบาลอิสลามที่มีความเข็มแข็งบนพื้นฐานของความศรัทธาที่มีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) เพื่อจะได้ดำเนินนโยบายตามที่อิสลามได้วางไว้

ขอยกเจตนารมณ์อันสูงส่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในการให้ความสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาลอิสลาม

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คือผู้วางรากฐานในการจัดตั้งรัฐอิสลาม

๑. ขณะที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประกาศคำสอนของอิสลาม ท่านได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ตลอดจนการจัดเตรียมกองกำลังมุสลิมเพื่อทำการพิทักษ์ต่อสู้ และเพื่อการชี้นำสั่งสอน ท่านได้ส่งพวกเขาไปพบกับกลุ่มชนที่เดินทางมาจากสถานที่ต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลเพื่อ    ซิยารัต (เยี่ยมคารวะ) อัล-กะอฺบะฮฺ ให้เข้ารับอิสลาม ในหมู่พวกเขามีชนสองกลุ่มจากมะดีนะฮฺที่มาจากสถานที่นามว่า อุกบะฮฺ ได้พบปะและพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด พวกเขาได้สัญญาว่าเมื่อไหร่ก็ตามหากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เดินทางไปยังเมืองเขา พวกเขาจะให้การคุ้มกันและช่วยเหลือท่าน [1]  ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าก้าวแรกของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในการเผยแผ่อิสลามคือการเตรียมพร้อมในการจัดตั้งรัฐอิสลาม

๒. ภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เดินทางไปยังมะดีนะฮฺ ท่านได้มีคำสั่งให้จัดตั้งกองกำลังทหารทันที พร้อมกับมีการระดมพลและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทหารในยุคเผยแผ่อิสลามมีกองกำลังต่าง ๆ ถึง ๗๒ กองด้วยกัน พวกเขาได้ทำการพิชิตข้าศึกรอบด้าน และสามารถถอดถอนอุปสรรคที่ขวางกั้นการจัดตั้งรัฐอิสลามออกไปได้

๓. หลังจากรัฐอิสลามในมะดีนะฮฺได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นที่เรียบร้อย ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ส่งทูตและสาส์นไปยังเจ้าเมืองต่าง ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและสังคม ทำให้มีผู้นำหลายฝ่ายลงนามด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครองกับท่าน

ชีวประวัติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีจุดเด่นอยู่ที่สาส์นฉบับประวัติศาสตร์ที่ท่านส่งถึง กัซรอ จักรพรรดิแห่งอิหร่าน กัยซัร กษัตริย์แห่งกรุงโรม มะกูกิซ ผู้ปกครองอียิปต์ นะญาชียฺ ผู้บังคับบัญชาการของฮะบะชะฮฺ และผู้นำคนอื่น ๆ ในสมัยนั้น นักค้นคว้าบางคนได้กล่าวว่าสาส์นที่ได้กล่าวถึงนั้นถูกรวบรวมแยกไว้ในหนังสือต่าง ๆ อาทิเช่น  อัล-วิซาอิกุซซิยาซียะฮฺ ของท่านมุฮัมมัด ฮะมีดุลลอฮฺ, มะกาตีบุรเราะซูล ของท่านอะลีอะฮฺ  มะดียฺ

๔. ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ทำการแต่งตั้งตัวแทนประจำเผ่าและประจำเมืองต่าง ๆ เพื่อสนองนโยบาย และเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับรัฐอิสลาม เช่น ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แต่งตั้งท่านริฟาอะฮฺ บิน ซัยดฺ ในฐานะตัวแทนของท่านและส่งกลับไปยังเผ่าเดิมของเขา สาส์นแต่งตั้งท่านริฟาอะฮฺ ความว่า

بسم الله الرحمن الرحيم (هذا کتاب) من محمذ رسول الله (ص) لرفاعة بن زيد إني بعثته إلى قومه عامّةً و من دخل فيهم يدعوهم إلى الله وإلى رسوله فمن اقبل منهم ففى حزب الله و حزب رسوله و من أدبر فله أمان شهرين

ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรานี สาส์นฉบับนี้ส่งมาจากมุฮัมมัด ศาสทูตแห่งอัลลอฮฺสำหรับ ริฟาอะฮฺ บิน ซัยดฺ แท้จริงฉันได้แต่งตั้งเขาเป็นตัวแทนประจำเผ่าของเขา เพื่อเชิญชวนประชาชนไปสู่อัลลอฮฺและศาสดาของพระองค์ ดังนั้นบุคคลใดตอบรับคำเชิญชวนของเขา เขาจะถูกนับว่าเป็นพลพรรคของอัลลอฮฺและศาสดาของพระองค์ แต่บุคคลใดไม่ตอบรับคำเชิญเขาจะมีโอกาสอยู่ในความปลอดภัยเพียงสองเดือนเท่านั้น [2]

เมื่อพิจารณาการกระทำและการอนุมัติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะพบว่าตั้งแต่แรกที่ทำการเผยแผ่ท่าน  มีเป้าหมายจัดตั้งรัฐอิสลาม เพื่อให้กฎหมายอิสลามครอบคลุมทุกแง่มุมในการดำเนินชีวิตของสังคม ดังนั้น ภารกิจต่าง ๆ ที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นการลงนามในสนธิสัญญากับกลุ่มและเผ่าต่าง ๆ หรือการจัดตั้งกองกำลังทหาร การส่งทูตไปยังประเทศอื่น การเตือนสติมหาจักรพรรดิ์และเจ้าเมือง การส่งสาส์นเยือน  การแต่งตั้งตัวแทนไปประจำเผ่าและหัวเมือง ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณไปช่วยเหลือประชาชนทั้งไกลและใกล้ และภารกิจอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ใช่ การเมือง ในความหมายของ การบริหารกิจการของสังคมอิสลามแล้วเราจะเรียกชื่อว่าอะไร

นอกเหนือจากแบบฉบับของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แล้วยังมีการกระทำของบรรดาเคาะลิฟะฮฺ รอชิดีนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบบอย่างของท่านอะลี อะมีรุลมุอฺมินีน (อ.) ซึ่งเป็นแบบอย่างสำหรับมุสลิมทั้งซุนียฺ และชีอะฮฺ ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺปกครองอยู่ ท่านได้แสดงให้เห็นว่าระหว่างการเมืองกับศาสนานั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น นักปราชญ์ทั้งซุนียฺและชีอะฮฺ ได้นำเสนอหลักฐานอย่างกว้างขวางถึงความจำเป็นในการจัดตั้งรัฐอิสลาม เพื่อบริหารกิจการของสังคม ทั้งจากอัล-      กุรอาน และแบบฉบับของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งจะขอ ยกบางประเด็นดังนี้

ท่านอะบุลฮะซัน มาวัรดียฺ ได้เขียนไว้ในหนังสือของท่านนามว่า อะฮฺกามุลซุลฎอนียะฮฺ มีความว่า

الامامة موضوعة لخلافة النبوة فى حراسة الدين وسياسة الدنيا وعقدها لمن يقوم بها فى الامّة واجب با لإجماع

เป้าหมายของ อิมามะฮฺและการปกครองคือการเป็นตัวแทนของท่านศาสดา ทำหน้าที่ปกครองศาสนจักรและอาณาจักร อำนาจการปกครองเป็นของผู้ที่ยืนหยัดมัน และเป็นวาญิบสำหรับมุสลิมทั้งหลายต้องปฏิบัติตาม [3]

นักปราชญ์อิสลามที่มีชื่อเสียงของอะฮฺลิซซุนนะฮฺคนหนึ่ง ได้พิสูจน์ความหมายของซิยาซัต (การเมือง) โดยใช้สองเหตุผลดังนี้

๑. เหตุผลทางสติปัญญา

๒. เหตุผลทางชัรอียฺ (การกล่าวอ้างอิง)

เหตุผลทางสติปัญญาท่านกล่าวว่า

لما فى طباع العقلاء من التسليم لزعيم يمنعهم من التّظالم و يفصل بينهم فى التّنازع و التّخاصم و لولا الولاة لكانوا فوضى مهملين و همجامضاعين

เนื่องจากเป็นธรรมชาติของผู้มีสติปัญญาที่ต้องปฏิบัติตามผู้นำ เพื่อให้พวกเขาออกห่างจากการกดขี่กันและกัน ห้ามปรามพวกเขายามที่พวกเขาวิวาทกัน และถ้าหากไม่มีผู้นำแน่นอนประชาชนต้องแตกกันออกไปและปล่อยให้ความเชี่ยวชาญต้องหลุดมือไป [4]

ส่วนเหตุผลทางชัรอียฺท่านกล่าวว่า

 

 

 

ولكن جاء الشرع بتفويض الامورإالى وليّه فى الدّين قال الله عزوجل (يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ أَطِيعُواْ اللّهَ وَأَطِيعُواْ الرَّسُولَ وَأُوْلِي الأَمْرِ مِنكُمْ) ففرض علينا طاعة أولى الامر فينا و هم الائمة المتامرون علينا

ส่วนเหตุผลทางชัรอียกล่าวว่าให้มอบหมายภารกิจการงานแก่ผู้ปกครองศาสนา อัลลอฮฺตรัสว่า (โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลฮฺ จงเชื่อฟังปฏิบัติตามศาสดาและผู้ปกครองในหมู่สูเจ้า)  ฉะนั้น จะเห็นว่าอัลลอฮฺ ทรงกำหนดให้เราปฏิบัติตามผู้นำ พวกเขาคือผู้นำและเป็นผู้บังคับบัญชาของเรา [5]

ซัยคฺซุดูก ได้เล่าจากฟัฎลิบนิชาซานว่า ริวายะฮฺหนึ่งได้พาดพิงถึงท่านอิมามริฎอ (อ.) เป็นริวายะฮฺที่มีความยาว บางตอนของริวายะฮฺท่าน    อิมาม (อ.) ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการจัดตั้งรัฐอิสลามจะขอยกบางตอนของริวายะฮฺเหล่านั้น.

انا لا نجد فرقةً من الفرق و لا ملّة من الملل بقوا وعاشوا إلا بقيّم ورئيس لما لابُدّ لهم منه من امر الدّين و الدّنيا فلم يجز فى حكمة الحكيم أن يترك الخلق لما يعلم أنه لابُد لهم منه ولاقوام لهم إلا به فيقاتلون به عدوهم و يقسمون به فيئهم  و  يقيمون به جمعتهم  يمنع ظالمهم من مظلومهم

เราจะไม่พบเห็นชนกลุ่มใด หรือประชาชาติใดสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยปราศจากผู้นำ เราต้องการผู้นำแห่งศาสนจักรและอาณาจักร ฉะนั้น จะเห็นว่าไม่ใช่วิทยปัญญาแห่งอัลลอฮฺที่จะปล่อยให้ประชาชาติดำเนินชีวิตไป ทั้งที่พระองค์รู้ว่าพวกเขามีความจำเป็นต่อสิ่งนั้น และถ้าปราศจากสิ่งนั้นแล้วไม่อาจดำเนินชีวิตต่อไปได้ ประชาชนได้ร่วมกับผู้นำทำการพิชิตศัตรู ได้จัดแบ่งทรัพย์สงคราม จัดนะมาซญุมุอะฮฺและญะมาอะฮฺตามคำบังคับบัญชาของผู้นำ และผู้นำมีหน้าที่ถอดถอนการกดขี่ออกจากบรรดาผู้ถูกกดขี่ทั้งหลาย [6]

เมื่อพิจารณาฟิกฮฺอิสลาม (กฎหมาย) จะพบว่ากฎหมายส่วนใหญ่ ถ้าปราศจากการจัดตั้งรัฐอิสลามไม่อาจดำเนินไปได้ อิสลามได้เชิญชวนประชาชาติสู่การสงคราม การปกป้องตนเอง การทำลายผู้กดขี่ การช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่ การดำเนินบทลงโทษตามกฎหมายอิสลาม การเชิญชวนไปสู่ความดีและกำชับความชั่ว การจัดระบบการเงิน การสร้างเอกภาพในสังคมและอื่น ๆ แน่นอนเป้าหมายที่ได้จัดตั้งไว้หากไม่มีรัฐอิสลามบริหาร ไม่อาจดำเนินการได้เด็ดขาด เพราะการปกป้องอิสลามและความศักดิ์สิทธิ์ต้องการกองทหารที่มีความเข็มแข็งและมีความสามารถ ตลอดจนการลงโทษตามระบบอิสลาม จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีรัฐรองรับ ประมวลความทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเหตุผลที่ยืนยันว่า  การจัดตั้งรัฐอิสลามมีความจำเป็น หากเราต้องการดำเนินชีวิตตามนโยบายของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และเท่าที่ผ่านมาเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีระบบใดสามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้ดีเท่าระบบอิสลาม ฉะนั้น เมื่อรัฐอิสลามมีความจำเป็นแล้ว การเมืองจะแยกออกจากศาสนาได้อย่างไร เพราะเป็นเหมือนฝาแฝดกัน



[1] ซีเราะฮฺอิบนุ ฮิชาม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๓๑, มับอัซอุกบะฮฺเอาวะลี พิมพ์ครั้งที่ ๒ อียิปต์

[2] มะกาตีบุรเราะซูล เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๔๔

[3] อะฮฺกามุล ซุลฎอนนียะฮฺ  บาบที่ ๑ หน้าที่ ๕ พิมพ์ครั้ง ๑ อิยิปต์

[4] อ้างแล้วเล่มเดิม

[5] อัล-อะฮฺกามุซ ซลฎอนียะฮฺ หน้าที่ ๕ พิมพ์ครั้งที่ ๑ อียิปต์

[6] อิลัลชะรออิอฺ หมวดที่ ๑๘๒ ฮะดีซที่ ๙ หน้าที่ ๒๕๓

 

index