back

คำถามที่ ๒๐ : ทำไมเวลาซิยารัต (เยี่ยม) สถานที่ฝังศพ ชีอะฮฺจึงจูบประตูหรือฝาผนังของฮะรัม และถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิริมงคล

next

คำถามที่ ๒๐ : ทำไมเวลาซิยารัต (เยี่ยม) สถานที่ฝังศพ ชีอะฮฺจึงจูบประตูหรือฝาผนังของฮะรัม และถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิริมงคล

คำตอบ : การขอความเป็นสิริมงคลกับสิ่งของหรือมรดกของบรรดามวลมิตร (เอาลิยาอฺ) แห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ที่ถือปฏิบัติกันในหมู่มุสลิมบางกลุ่มในปัจจุบันถือว่าไม่เป็นไร เพราะการปฏิบัติเหล่านี้มีรากที่มาตั้งแต่สมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และเซาะฮาบะฮฺของท่าน

ไม่ใช่เพียงท่านศาสดา (ศ็อล) กับบรรดาเซาะฮาบะฮฺของท่านเท่านั้นที่ปฏิบัติ ทว่าบรรดาศาสดา (อ.) ก่อนหน้าท่านได้ปฏิบัติเช่นกัน  ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเหตุผลที่อนุญาตให้ทำการขอความเป็นสิริมงคล จากสิ่งของหรือมรดกของบรรดามวลมิตรแห่งอัลลอฮฺ ทั้งจากอัล-กุรอานและซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

๑. อัล-กุรอานกล่าวว่า เมื่อท่านศาสดายูซุฟ (อ.) ได้แนะนำตัวท่านกับพี่น้องของท่านพร้อมกับกล่าวว่าพวกท่านได้รับการอภัยจากพระผู้เป็นเจ้าแล้ว และกล่าวว่า

اذْهَبُواْ بِقَمِيصِي هَذَا فَأَلْقُوهُ عَلَى وَجْهِ أَبِي يَأْتِ بَصِيرًا

พวกท่านจงนำเสื้อตัวนี้ของฉันไป และจงวางลงบนใบหน้าของบิดาของฉันแล้วท่านจะได้มองเห็น [1]

หลังจากนั้นท่านได้กล่าวว่า

فَلَمَّا أَن جَاءَ الْبَشِيرُ أَلْقَاهُ عَلَى وَجْهِهِ فَارْتَدَّ بَصِيرًا

ต่อมาเมื่อผู้แจ้งข่าวได้มาถึงเขา ได้วางลงบนใบหน้าของเขา (บิดาท่านยูซุฟ) แล้วเขาก็มองเห็น [2]

สิ่งที่เข้าใจได้ อัล-กุรอานกำลังบอกว่า ท่านศาสดายะอฺกูบกำลังแสวงหาความเป็นสิริมลคลจากเสื้อของศาสดาอีกท่านหนึ่งคือยูซุฟ (อ.) ซึ่งเสื้อของท่านได้ทำให้ดวงตาของท่านศาสดายะอฺกูบมองเห็นอีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้สามารถกล่าวได้ไหมว่า การกระทำของท่านศาสดาทั้งสอง ออกนอกขอบเขตของเตาฮีดและการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า

๒. ไม่เป็นที่สงสัยว่าขณะที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เฏาะวาฟรอบบัยตุลลอฮฺ ท่านได้สัมผัสและจูบหินดำ (ฮะญะรุลอัซวัด)

ท่านบุคอรียฺได้กล่าวไว้ในเซาะฮียฺของท่านว่า มีชายคนหนึ่งถามท่านอับดุลลอฮฺ บินอุมัรเกี่ยวกับการสัมผัสดินดำ ท่านตอบว่า

رأيت رسول الله (ص) يستلمه و يقبله

ฉันเห็นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้สัมผัสและจูบมัน [3]

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่ยอมแลกความเชื่อของท่านที่มีต่อเตาฮีด ด้วยการจูบหินดำเด็ดขาด แน่นอนสิ่งที่ท่านทำยืนยันว่าท่านไม่ได้ทำในสิ่งที่ขัดกับความเชื่อ

๓. ในหนังสือเซาะฮียฺ มะซานีด หนังสือประวัติศาสตร์ และซุนัน ต่าง ๆ ได้บันทึกริวายะฮฺเกี่ยวกับการแสวงหาความเป็นสิริมงคลของบรรดาเซาะฮาบะฮฺ จากสิ่งของเครื่องใช้ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เช่น เสื้อผ้า น้ำที่ใช้ทำวุฎูอฺ ภาชนะใส่น้ำ และอื่น ๆ อีกมากมาย และเมื่อได้ย้อนกลับไปศึกษาริวายะฮฺเหล่านั้นอย่างละเอียด ทำให้ไม่สงสัยเรื่องความถูกต้อง และการอนุญาตให้การแสวงหาความสิริมงคลจากสิ่งของเครื่องใช้ของบรรดาหมู่มวลมิตร (เอาลิยา)

การกล่าวถึงริวายะฮฺจำนวนมากเหล่านั้นในหนังสือเพียงเล่มเดียวไม่อาจกล่าวได้ทั้งหมด แต่จะขอยกเป็นตัวอย่างเท่านั้น

  ก. บุคอรียฺได้กล่าวไว้ในหนังสือเซาะฮียฺของท่าน เป็นริวายะฮฺที่มีความยาวโดยอธิบายถึงคุณสมบัติบางประการของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และเซาะฮาบะฮฺ

و إذا توضأ كادوا يقتتلون على وضوئه

ทุกครั้งที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทำวุฎูอฺ เกือบทำให้บรรดามุสลิมต้องวิวาทกัน (เนื่องจากแย่งกันไปเอาน้ำที่ท่านศาสดา)

  ข. อิบนุฮะญัรกล่าวว่า

إنّ النّبي صلى الله عليه وعلى آله وسلم كان يؤتى بالصّبيان فيبرك عليهم

ได้นำเด็ก ๆ มาหาท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านต้องการให้มีความเป็นสิริมงคลแก่พวกเขาจึงได้ขอดุอาอฺ

  ค. ท่านมุฮัมมัดฏอฮิรมักกียฺกล่าวว่า

ได้มีรายงานจากท่าน อุมมุซาบิตว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เข้ามาที่ฉัน และได้ดื่มน้ำจากถุงน้ำสีดำที่แขวนอยู่ ฉันได้ลุกขึ้นไปตัดปากถุงน้ำสีดำนั้น หลังจากนั้นท่านได้กล่าวต่ออีกว่า ฮะดีซนี้ท่านติรมีซียฺได้รายงานไว้ว่า เป็นฮะดีซที่เซาะฮียฺ และฮะซัน, ท่านชาริฮฺ ได้รายงานฮะดีซนี้ไว้ในหนังสือ  ริยาฎุซซอลิฮีนว่า ท่านอุมมุซาบิตได้ตัดปากถุงน้ำสีดำนั้น เพื่อเก็บบริเวณที่ปากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้สัมผัสและเพื่อเป็นสิริมงคล, บรรดาเซาะฮาบะฮฺกล่าวว่า บริเวณใดที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ดื่มน้ำ ท่านก็จงดื่มตรงนั้น [4]

كان رسول الله (ص) اذا صلّى الغداة جاء خدم المدينة بآنيتهم فيها الماء فما يؤتى بإناء إلّا غمس يده فيها فربّما جاءوه فى الغداة الباردة فيغمس يده فيها

เมื่อถึงเวลานะมาซซุบฮฺคนรับใช้ชาวมะดีนะฮฺ ได้นำเอาภาชนะใส่น้ำมาให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านได้เอามือจุ่มลงไปในภาชนะทุกใบ แม้ว่าตอนเช้ามืดจะมีอากาศหนาวเย็น และเมื่อคนอื่นนำภาชนะมาอีก ท่านก็ได้เอามือจุ่มลงไปอีด [5]

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าเหตุผลที่กล่าวมา เป็นการแสดงให้เห็นว่าการแสวงความเป็นสิริมงคล จากสิ่งของเครื่องใช้ของบรรดาหมู่มวลมิตรแห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นที่อนุญาต แต่สำหรับบุคคลที่กล่าวหาชีอะฮฺเวลา     ซิยารัต (เยี่ยม) สถานที่ฝังศพได้จูบประตูหรือฝาผนังของฮะรัม เพื่อความเป็นสิริมงคลว่าเป็นชิริก (ตั้งภาคี) หรือเคารพสิ่งอื่นร่วมปนกับอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นเพราะว่าเข้าใจเตาฮีด และชิริกไม่ถูกต้อง คำว่าชิริก   หมายถึงขณะที่เคารพภักดีอัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ยอมรับสิ่งอื่นว่าเป็นพระเจ้าด้วยเช่นกัน หรือนำกิจการที่เป็นภารกิจของพระองค์พาดพิงไปยังสิ่งนั้น และถือว่าเป็นภารกิจของสิ่งนั้น และยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นแก่นของการมีอยู่ เป็นผู้ให้และการมีอยู่ของมันเป็นนิรันดร์ เอกเทศโดยไม่ต้องพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้า

ขณะที่ชีอะฮฺเชื่อว่า สิ่งของเครื่องใช้ของบรรดาหมู่มวลมิตรของ อัลลอฮฺ เป็นสิ่งถูกสร้างของพระองค์ คล้ายกับพวกเขา การมีอยู่ การถือกำเนิด และแหล่งที่มาต้องพึ่งพิงพระองค์ (ซบ.) ทั้งสิ้น

ชีอะฮฺ มีความรักและให้ความเคารพอย่างสูงแก่บรรดาอิมามผู้นำศาสนา ให้ความรักและหวงแหนสิ่งของที่เป็นที่รักของพวกเขาพร้อมกับแสวงหาความเป็นสิริมงคลจากสิ่งเหล่านั้น

แม้ว่าชีอะฮฺ จะจูบลูกกรงที่ครอบพระศพของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) เมื่อเวลาไปเยื่ยมสถานที่ฝังศพ ได้ลูบประตูหรือกำแพงเพียงเพราะความรักและความเคารพที่มีต่อบรรดาผู้บริสุทธิ์เหล่านั้น  มิได้มีเจตนาอย่างอื่น สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ทุกคน แน่นอนไม่มีใครพึงปรารถนาจูบลูกกรงเหล็ก หรือกำแพงปูนเพราะสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ดาษดื่น แต่เจตนารมณ์ที่จูบคือผู้บริสุทธิ์ที่ฝังร่างอยู่ ณ ที่นั้นต่างหาก เหมือนกับคนที่จูบอัล-กุรอานมิได้มีเจตนารมณ์จูบกระดาษ ทว่าเป้าหมายที่แท้จริงคือดำรัสของอัลลอฮฺ (ซบ.)



[1] ยูซุฟ/๙๓

[2] ยูซุฟ/๙๖

[3] เซาะฮียฺบุคอรียฺ ญุซที่ ๒ กิตาบุลฮัจญฺ บาบตักบีลุลฮะญะเราะ หน้าที่ ๑๕๑-๑๕๒ พิมพ์ที่อียิปต์

[4] ตะบัรรุก อัซ-เซาะฮาบะฮฺ, มุฮัมมัดฏอฮิร มักกียฺ ฟัฏลฺ ที่ ๑ หน้าที่ ๒๙ แปลโดย อันซอรียฺ

[5] ศีกษาเพิ่มเติมได้จาก มุวัฏเฏาะฮฺ มาลิก เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๓๘ หมวดการกล่าวเซาะละวาตท่านศาสดา, อะซะดุลฆอบะฮฺ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๙๐, มุซนัดอะฮฺมัด เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๓๒, อัล-อิซตีอาบ ฟี ฮาชียะตุล อะซอบะฮฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๖๓๑, ฟัตฮุลบารียยฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๘๑-๒๘๒

 

index