back

คำถามที่ ๓๕ : มาตรฐานการแบ่งเตาฮีดกับชิริกคืออะไร

 

คำถามที่ ๓๕ : มาตรฐานการแบ่งเตาฮีดกับชิริกคืออะไร

คำตอบ : สิ่งที่สำคัญที่สุดในการวิพากษ์เกี่ยวกับเตาฮีดและชิริกคือ การรู้จักมาตรฐานการจำแนก ความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเป็นจุดร่วมระหว่างศาสนาที่มาจากฟากฟ้าทุกศาสนา ซึ่งสิ่งนี้โดยพื้นฐานแล้วเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคลที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า (ปฏิบัติตามคำสอนไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม) กับพวกวัตถุนิยม แต่ ณ ที่นี้จะขอกล่าวโดยสรุปเพื่อความเข้าใจในระดับหนึ่งเท่านั้น

๑. เตาฮีดซาตียะฮฺ (ความเป็นเอกเทศในอาตมันสากล)  

พระผู้เป็นเจ้า ตามคำอธิบายของนักศาสนศาสตร์หมายถึง วาญิบุลวุญูด ทรงเป็นเอกะ ไม่มีสิ่งใดร่วมปน เสมอเหมือน ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดเหมือนกับพระองค [1]

 

لَيْسَ كَمِثْلِهِ شَيْءٌ

บางโองการกล่าวว่า และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์ [2]

ซาตของพระผู้เป็นเจ้า (อาตมันสากล) ทรงเป็นหนึ่งเดียวกว้างขวางครอบคลุมไปทั่ว ไม่ได้ถูกผสมด้วยสิ่งอื่นหรือไม่มีส่วนประกอบ เพราะการผสมส่วนประกอบของสรรพสิ่งไม่ว่าจะอยู่ในสติปัญญาหรือภายนอกก็ตาม เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งนั้นมีความต้องการส่วนประกอบของตน ซึ่งความต้องการเป็นเครื่องหมายของ อิมกาน (ความเป็นไปได้) และอิมกานนั้นมีความจำเป็นที่ต้องการไปยังสาเหตุ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีสิ่งใดคู่ควรกับพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้น ซาต (อาตมันสากล) ของพระองค์เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งอื่นร่วมปน และไม่มีสิ่งใดคล้ายเหมือน ซาต ของพระองค์ทรงครอบคลุม ไม่มากเกินหนึ่ง และไม่ถูกผนวกด้วยสิ่งอื่น

๒. เตาฮีดคอลิกียะฮฺ (ความเป็นเอกเทศในการสร้าง) หมายถึงนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ไม่มีผู้สร้างคนใดอีก บรรดาสรรพสิ่งที่มีอยู่ล้วนเป็นสิ่งถูกสร้างของพระองค์ทั้งสิ้น เหตุผลของสติปัญญากล่าวว่า นอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) แล้วทุกสิ่งเป็นเพียงระบบที่เป็นไปได้เท่านั้น ปราศจากความสมบูรณ์และความสวยงามทุกประเภท ทุกสิ่งที่มีนั้นมาจากแหล่งที่อาตมันสากลทรงร่ำรวยปราศจากความต้องการ ดังนั้นทุกสรรพสิ่งที่มองเห็นว่าสวยงาม และสมบูรณ์ล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น

 อัล-กุรอานหลายโองการได้กล่าวถึงเตาฮีดคอลิกียะฮฺ โดยกล่าวว่า

قُلِ اللّهُ خَالِقُ كُلِّ شَيْءٍ وَهُوَ الْوَاحِدُ الْقَهَّارُ

จงกล่าวเถิด อัลลอฮฺคือผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง และพระองค์คือผู้ทรง   เอกะ ผู้ทรงพิชิต [3]

ذَلِكُمُ اللَّهُ رَبُّكُمْ خَالِقُ كُلِّ شَيْءٍ لَّا إِلَهَ إِلَّا هُوَ

นี่คืออัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลของพวกเจ้าผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ [4]

นอกเหนือจากอัล-กุรอานแล้ว สติปัญญาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า เพราะนอกจากพระองค์แล้ว ทุกสิ่งล้วนมีความต้องการไปยังสิ่งอื่นที่ดีกว่าทั้งสิ้น

ความเป็นเอกเทศในการสร้าง ไม่ได้หมายความว่าเป็นการปฏิเสธสาเหตุ (ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล) ในระบบของการมีอยู่ เนื่องจากการเกิดปรากฏการณ์ที่เป็นไปได้บนอีกสิ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า การมีอยู่ของสาเหตุ และสาเหตุของสรรพสิ่ง ทั้งสองนั้นเป็นภาพลักษณ์แห่งพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์เป็นผู้ให้ความร้อนแก่ดวงอาทิตย์ และให้แสงสว่างแก่ดวงจันทร์ เมื่อใดที่พระองค์ประสงค์ พระองค์จะเอากลับคืน ระหว่างการมีอยู่ของสรรพสิ่งทั้งหมดจะอยู่ในระบบของเหตุและผล และความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุกับผลลัพธ์ทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดจะไปสิ้นสุดที่ผู้เป็นสาเหตุสมบูรณ์คือพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่าพระองค์คือพระผู้สร้างแต่เพียงผู้เดียวที่ไม่มีใครเหมือน

อัล-กุรอานได้กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดสรรพสิ่งดังนี้ว่า

اللَّهُ الَّذِي يُرْسِلُ الرِّيَاحَ فَتُثِيرُ سَحَابًا فَيَبْسُطُهُ فِي السَّمَاءِ كَيْفَ يَشَاءُ وَيَجْعَلُهُ كِسَفًا فَتَرَى الْوَدْقَ يَخْرُجُ مِنْ خِلَالِهِ

อัลลอฮฺเป็นผู้ประทานลมมา ในเวลานั้นได้พัดพาเมฆ แล้วพระองค์ทรงให้มันแผ่กระจายไปตามท้องฟ้าตามที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์ทรงรวมมันเป็นกลุ่มก้อน แล้วสูเจ้าจะเห็นฝนตกลงมาจากท่ามกลางมัน [5]

โองการข้างต้นกล่าวถึงลมว่าเป็นสาเหตุพัดพาให้ก้อนเมฆลอยไปในท้องฟ้า ในโลกนี้มีพระผู้ทรงสร้างแค่เพียงหนึ่งเดียวนั่นคือ พระผู้เป็นเจ้าในโลกของการสร้างสรรค์ ระหว่างสรรพสิ่งที่มีอยู่ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีผลต่ออีกสิ่ง เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่ทรงอุบัติปรากฏการณ์ต่าง ๆ  แม้กระทั่งพละ กำลังของมนุษย์ก็ไม่มีผลต่อการกระทำของเขา ดังนั้น บนโลกนี้จึงมีพระผู้สร้างเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

ขอบข่ายการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า ครอบคลุมเหนือการเกิดปรากฏการณ์ทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าการกระทำที่ไม่ดีของมนุษย์เกี่ยวข้องกับพระองค์ เนื่องจากว่าทุกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการมีอยู่ที่อาจเกิดขึ้นและไม่เกิดขึ้นได้เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถปกปิดสิ่งเหล่านี้โดยไม่สัมพันธ์ไปยังพระประสงค์ของพระองค์ได้ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการเลือกสรร และเป็นเจ้าของการตัดสินใจในกิจการของตน ภายใต้การลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจ ฉะนั้นไม่ว่าการกระทำจะออกมาดีหรือไม่ดี อยู่ในขอบข่ายของการเชื่อฟังปฏิบัติตาม หรือบาปกรรม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและความต้องการของมนุษย์เพียงอย่างเดียว

อีกนัยหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้าในฐานะของผู้ให้ การมีอยู่ของพระองค์สมบูรณ์อย่างแท้จริง กิจการที่มาจากพระองค์ หรือสัมพันธ์ไปยังพระองค์จึงไม่มีความน่าเกลียด อัล-กุรอานกล่าวว่า

الَّذِي أَحْسَنَ كُلَّ شَيْءٍ خَلَقَهُ

 (อัลลอฮฺ) ผู้ทรงทำให้ทุกสิ่งที่พระองค์สร้างดีงาม [6]

การตัดสินใจของมนุษย์คือสาเหตุที่ทำให้กิจการของตนสอดคล้อง หรืออาจไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์และสติปัญญา ตัวอย่างเช่น การกระทำ ๒ อย่างของมนุษย์ (การกิน และดื่ม)  แน่นอนการกระทำทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้อำนาจของพระผู้เป็นเจ้า มีความสัมพันธ์ไปยังพระองค์ แต่อีกด้านหนึ่งการกระทำดังกล่าวอยู่ในขอบข่ายของการกินและดื่ม มนุษย์เป็นคนเลือกสรรให้อวัยวะมีการเคลื่อนไหว จึงเกิดการกระทำดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้กระทำมากกว่า มนุษย์จึงไม่สามารถนำการกระทำทั้งสองสัมพันธ์ไปยังพระองค์ได้ ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) คือผู้ให้การมีอยู่ ส่วนมนุษย์เป็นผู้กระทำให้เกิดขึ้น

๓. เตาฮีดในการบริหาร (ตัดบีร) นับตั้งแต่การสร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เฉพาะเจาะจงสำหรับอัลลอฮฺ (ซบ.) การกำกับดูแล และการบริหารก็เป็นหน้าที่เฉพาะพระองค์เช่นกัน บนโลกนี้มีผู้บริหารได้เพียงหนึ่งเดียว ดังที่กล่าวไปแล้วในเตาฮีดคอลิกียะฮฺว่า สติปัญญาได้ยืนยันถึงการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า เพราะนอกจากพระองค์แล้ว ทุกสิ่งล้วนมีความต้องการไปยังสิ่งอื่นที่ดีกว่าทั้งสิ้น อัล-กุรอานหลายโองการได้กล่าวยืนยันว่า เฉพาะอัลลอฮฺ (ซบ.) เท่านั้นทรงเป็นผู้บริหารและกำกับดูแลโลก

قُلْ أَغَيْرَ اللّهِ أَبْغِي رَبًّا وَهُوَ رَبُّ كُلِّ شَيْءٍ

จงกล่าวเถิด จะให้ฉันแสวงหาพระผู้อภิบาลอื่นนอกจากอัลลอฮฺหรือ ทั้งที่พระองค์เป็นพระผู้อภิบาลของทุกสิ่ง [7]

ดังนั้น จุดประสงค์ของเตาฮีดตัดบีรจึงหมายถึง ความเป็นเอกเทศในการบริหารหมายถึงความเป็นเอกเทศในอำนาจอธิปไตย การอภิบาลโลกและมนุษย์ ซึ่งเฉพาะเจาะจงสำหรับอัลลอฮฺ (ซบ.) เท่านั้น

บนพื้นฐานดังกล่าว จะเห็นว่าท่ามกลางสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ ทุกอย่างอยู่ไปตามกลไกลที่จัดตั้งไว้ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า อัล-กุรอานได้กล่าวถึงการบริหารทั้งหลายว่าล้วนเกี่ยวข้องกับพระองค์ทั้งสิ้น โดยกล่าวว่า 

فَالْمُدَبِّرَاتِ أَمْرًا

แล้วพวกเขา (มะลาอิกะฮฺ) ผู้บริหารกิจการ [8]

๔. เตาฮีดในการตัดสิน (ฮากิมียะฮฺ) หมายถึงการตัดสินเป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้ทรงสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่มีสิทธิ์ตัดสินประชาโลก ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า

إِنِ الْحُكْمُ إِلاَّ لِلّهِ

การตัดสินเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺโดยเฉพาะ [9]

ดังนั้น จะเห็นว่าการปกครองและการตัดสินของบุคคลอื่นต้องได้รับการเห็นชอบ และเป็นพระประสงค์ของพระองค์ เพื่อว่าพระองค์จะได้ประทานมนุษย์ที่มีคุณสมบัติ และมีความสามารถในการบริหารลงมาทำหน้าที่ชี้นำสังคม และนำมนุษย์ไปสู่ความผาสุกและความสำเร็จสมบูรณ์ อัล-กุรอานกล่าวว่า

يَا دَاوُودُ إِنَّا جَعَلْنَاكَ خَلِيفَةً فِي الْأَرْضِ فَاحْكُم بَيْنَ النَّاسِ بِالْحَقِّ وَلَا تَتَّبِعِ الْهَوَى

โอ้ดาวูดเอ๋ย เราได้แต่งตั้งเจ้าให้เป็นตัวแทนบนแผ่นดิน ดังนั้น เจ้าจงตัดสินระหว่างมนุษย์ด้วยความยุติธรรม และอย่าปฏิบัติตามอำนาจฝ่ายต่ำ [10]

๕. เตาฮีดในการภักดี เตาฮีดในการเคารพภักดีหมายถึงการเคารพภักดีซาต (อาตมันสากล) ของพระองค์ และบุคคลใดเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์ ในความเป็นจริงก็คือการภักดีกับพระองค์ ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นในการเชื่อฟังปฏิบัติตามบุคคลอื่น เช่น ศาสดา (ซ็อล ฯ) อิมาม (อ.) มุจตะ ฮิด บิดาและมารดา ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์

๖. เตาฮีดในการสถาปนากฏหมาย หมายถึงภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์และประมวลกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง การบัญชา การกำหนดกฎหมาย การภักดี การปฏิบัติตามคำบัญชา ตลอดจนการให้ความอนุเคราะห์พิเศษ (ชะฟาอัต) และการอภัยบาปทั้งหมดอยู่ในอำนาจของพระองค์ทั้งสิ้น ไม่มีใครมีสิทธิ์กระทำโดยปราศจากการอนุญาตของพระองค์ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นอำนาจอธิปไตยในการปกครอง (เตาฮีดฮากิมียะฮฺ) การประมวลกฎหมาย การภักดี และอื่น ๆ ล้วนเป็นแขนงหนึ่งของความเป็นเอกเทศในการบริหารทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองมุซลิมทั้งหลาย ถือเป็นการแต่งตั้งที่ได้รับอนุญาตจากอัลลอฮฺ (ซบ.) แล้ว และด้วยเหตุผลดังกล่าวการภักดีต่อท่านเท่ากับ เป็นการภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) อัล-กุรอานกล่าวว่า

مَّنْ يُطِعِ الرَّسُولَ فَقَدْ أَطَاعَ اللّهَ وَمَن تَوَلَّى فَمَا أَرْسَلْنَاكَ عَلَيْهِمْ حَفِيظًا

ผู้ใดเชื่อฟังปฏิบัติตามเราะซูล แน่นอนเขาได้เชื่อฟังปฏิบัติตาม อัลลอฮฺ และผู้ใดหันหลังให้ ดังนั้น เราได้ส่งเจ้าเป็นผู้เฝ้ารักษาพวกเขา [11]

وَمَا أَرْسَلْنَا مِن رَّسُولٍ إِلاَّ لِيُطَاعَ بِإِذْنِ اللّهِ

และเรามิได้ส่งเราะซูลคนใดมาเว้นแต่ ให้ถูกเชื่อฟังปฏิบัติตามโดยอนุมัติของอัลลอฮฺเท่านั้น [12]

รัฐธรรมนูญของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงกำหนดขึ้นปราศจาก การปฏิเสธ การฝ่าฝืน การกดขี่ และความเลวร้ายทั้งหลายอย่างสิ้นเชิง เพราะการกำหนดบทบาทและหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร ไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์กระทำนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงรับสั่งให้กระทำ อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَمَن لَّمْ يَحْكُم بِمَا أَنزَلَ اللّهُ فَأُوْلَئِكَ هُمُ الْكَافِرُونَ

และผู้ใดไม่ได้ตัดสินตามที่อัลลอฮฺประทานลงมา ดังนั้นชนเหล่านี้คือผู้ปฏิเสธ [13]

وَمَن لَّمْ يَحْكُم بِمَا أنزَلَ اللّهُ فَأُوْلَئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ

และผู้ใดไม่ได้ตัดสินตามที่อัลลอฮฺประทานลงมา ดังนั้นชนเหล่านี้คือผู้อธรรม [14]

وَمَن لَّمْ يَحْكُم بِمَا أَنزَلَ اللّهُ فَأُوْلَئِكَ هُمُ الْفَاسِقُونَ

และผู้ใดไม่ได้ตัดสินตามที่อัลลอฮฺประทานลงมา ดังนั้นชนเหล่านี้คือผู้ที่ละเมิด [15]

๗. เตาฮีดอิบาดะฮฺ เตาฮีดอิบาดะฮฺ (ความเป็นเอกเทศในการเคารพภักดี) เป็นรากฐานสำคัญที่ร่วมกันระหว่างศาสนาต่าง ๆ ที่มาจากฟากฟ้าบนความหมายเดียวกัน จุดประสงค์ในการแต่งตั้งบรรดาศาสดา (อ.) ก็เพื่อเผยแผ่และย้ำเตือนประชาชาติเกี่ยวกับรากฐานดังกล่าว ฉะนั้นจุดประสงค์ของ อิบาดะฮฺ (เคารพภักดี) เฉพาะอัลลอฮฺ (ซบ.) เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งอื่น อัล-กุรอานกล่าวว่า

إيَّاكَ نَعْبُدُ وإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ

เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเราเคารพภักดี และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเราขอความช่วยเหลือ [16]

สิ่งที่ได้รับจากโองการคือ การเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นจุดร่วม ของการเชิญชวนของบรรดาศาสดาทั้งหลาย หมายถึงบรรดาศาสดาได้ถูกประทานลงมาให้ทำหน้าเดียวกันแต่ต่างยุคสมัย อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَّسُولاً أَنِ اعْبُدُواْ اللّهَ وَاجْتَنِبُواْ الطَّاغُوتَ

และแน่นอน เราได้ตั้งเราะซูลขึ้นในทุกประชาชาติ (เพื่อให้บอกว่า) พวกท่านจงเคารพภักดีอัลลอฮฺ และจงหลีกห่างจากพวกอธรรม [17]

จะเห็นว่าบนพื้นฐานสำคัญดังกล่าวคือ การเคารพภักดีเฉพาะอัลลอฮฺ (ซบ.) คือแก่นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งนอกเหนือจากพระองค์แล้วต้องไม่เคารพภักดีสิ่งอื่น ดังนั้น ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นผู้ศรัทธาต่อพระเจ้าองค์เดียว จนกว่าจะยอมรับในแก่นสำคัญดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ เป็นความจำเป็นต้องเคารพภักดีเฉพาะพระองค์เท่านั้น และต้องออกห่างการเคารพภักดีบุคคลหรือสิ่งอื่นอย่างสิ้นเชิง สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูดเท่านั้น และด้วยกฎที่ยอมรับกันโดยทั่วไปที่ไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่คนเดียว กรณีที่เป็นคำพูดเกี่ยวกับภารกิจบางอย่าง ถ้าทำแล้วจะถือว่าเป็นการเคารพภักดีสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ (ซบ.) หรือไม่ ฉะนั้น เพื่อไปถึงยังความมั่นใจดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าอิบาดะฮฺ และต้องแยกการกระทำที่ถือว่าเป็นการเคารพภักดีว่า เป็นการกระทำที่อยู่ในฐานะการสรรเสริญ หรือว่าการให้เกียรติ

มาตรฐานในการจำแนกระหว่างอิบาดะฮฺกับไม่ใช่อิบาดะฮฺคืออะไร

การจูบมือคุณครู บิดา มารดา อุละมาอฺ หรือนักวิชาการ และทุก ๆ สิ่งที่สิทธิ์เหนือเราถือเป็นอิบาดะฮฺไหม หรือว่าเป็นอิบาดะฮฺเหล่านี้ไม่ได้สื่อความหมายของการนอบน้อม หรือการจำนนอย่างแท้จริง หรือว่าเป็นเพียงการกระทำอย่างหนึ่งที่ทั่วไปทำกัน  ซึ่งถ้าไม่มีการกระทำนั้นปรากฏในตัวตนของมัน ก็จะไม่มีการแสดงความนอบน้อมเกิดขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในระดับเดียวกันกับซัจดะฮฺ แต่ไม่มีกลิ่นอายของการแสดงความเคารพภักดี ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ การกระทำประเภทใดที่เป็นการแสดงออกถึงการนอบน้อมถ่อมตน หรือการยอมจำนนที่เรียกว่าเป็นอิบาดะฮฺ ในฐานะของการแสดงความเคารพภักดี

การเข้าใจผิดเรื่องอิบาดะอฺ นักเขียนบางกลุ่มได้ตีความคำว่า อิบาดะฮฺ ว่าหมายถึง การแสดงความนอบน้อมถ่อมตน หรือการแสดงความถ่อมตนที่เกินขอบเขต แน่นอนว่าการตีความเช่นนี้ย่อมขัดแย้งกับอัล-กุรอาน ดังที่ทราบว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมีบัญชาอย่างเฉียบพลันให้มะลาอิกะฮฺทั้งหลายซุญูดอาดัม โดยกล่าวว่า

وَإِذْ قُلْنَا لِلْمَلاَئِكَةِ اسْجُدُواْ لآدَمَ

และจงรำลึกถึง ขณะที่เราได้กล่าวแก่มะลาอิกะฮฺว่า พวกเจ้าจงซุญูดต่ออาดัมเถิด [18]

การซัจดะฮฺอาดัมในวันนั้น เป็นการแสดงออกเหมือนกับการซัจดะอฺ อัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งขั้นตอนแรกคือการแสดงความนอบน้อมถ่อมตน ขั้นที่สองเป็นการแสดงความเคารพภักดีหรืออิบาดะฮฺ

อัล-กุรอานกล่าวไว้อีกที่หนึ่งว่า ศาสดายะอฺกูบและบุตรของท่านได้ซัจดะฮฺศาสดายูซุฟ โดยกล่าวว่า

وَرَفَعَ أَبَوَيْهِ عَلَى الْعَرْشِ وَخَرُّواْ لَهُ سُجَّدًا وَقَالَ يَا أَبَتِ هَذَا تَأْوِيلُ رُؤْيَايَ مِن قَبْلُ قَدْ جَعَلَهَا رَبِّي حَقًّا

และเขาได้ยกพ่อแม่ของเขาไว้บนแท่น และพวกเขาได้หมอบลงกราบต่อหน้า ยูซุฟกล่าวว่า โอ้พ่อจ๋า นี่คือการทำนายฝันของฉันที่ได้เห็นก่อนหน้านี้ แน่นอนพระผู้อภิบาลของฉันได้ทำให้เป็นจริง [19]

 จะสังเกตเห็นว่าการซัจดะฮฺทั้งสองประเภทเหมือนกัน แต่มีเป้าหมายแตกต่างกัน สิ่งจำเป็นต้องกล่าวถึงคือ จุดประสงค์ของท่านศาสดายูซุฟ (อ.) จากสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ต่อหน้า คือภาพความฝันก่อนหน้านั้นที่ท่านได้ฝันเห็นดาว ๑๑ ดวง ดวงเดือน และดวงตะวันซัจดะฮฺท่าน อัล-     กุรอานได้กล่าวถึงคำพูดของศาสดายูซุฟ (อ.) ว่า 

إِذْ قَالَ يُوسُفُ لِأَبِيهِ يَا أَبتِ إِنِّي رَأَيْتُ أَحَدَ عَشَرَ كَوْكَبًا وَالشَّمْسَ وَالْقَمَرَ رَأَيْتُهُمْ لِي سَاجِدِينَ  

เมื่อยูซุฟกล่าวแก่พ่อของเขาว่า โอ้พ่อจ๋า แท้จริงฉันได้ฝันเห็นดาว ๑๑ ดวง และดวงตะวัน และดวงเดือนซุญูดต่อฉัน [20]

การที่ท่านศาสดายูซุฟ (อ.) ได้อธิบายการซัจดะฮฺของเหล่าพี่น้องของท่านว่า เป็นการทำนายฝันทำให้เข้าใจได้ว่าจุดประสงค์ของดวงดาว ๑๑ ดวง ดวงเดือน และดวงตะวันหมายถึงบิดาและมารดาของท่านนั่นเอง และจากคำอธิบายเป็นที่ชัดเจนว่าไม่ใช่เฉพาะพี่น้องของท่านเท่านั้นที่ซัจดะฮฺ ทว่าศาสดายะอฺกูบผู้เป็นบิดาก็ซัจดะฮฺท่านด้วย ฉะนั้น ขอถามว่าการซัจดะฮฺเหล่านี้ ซึ่งเป็นการแสดงความนอบน้อมถ่อมตน และยอมจำนนทำไมไม่ถือว่าเป็นอิบาดะฮฺ

คำกล่าวอ้างเลวร้ายกว่าการทำความผิด กลุ่มที่ได้กล่าวผ่านมาพยายามตอบว่า ความนอบน้อมถ่อมตนและการยอมจำนนตรงนี้ ปฏิบัติไปตามพระประสงค์ของพระองค์ ไม่ถือว่าเป็นชิริกแต่อย่างใด

น่าเสียดายว่าคำตอบเช่นนี้ ไม่มีความเหมาะสมแม้แต่นิดเดียว เนื่องจากว่าถ้าแก่นของการกระทำนั้นเป็นชิริกพระองค์จะไม่มีบัญชาให้กระทำอย่างเด็ดขาด ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า

قُلْ إِنَّ اللّهَ لاَ يَأْمُرُ بِالْفَحْشَاءِ أَتَقُولُونَ عَلَى اللّهِ مَا لاَ تَعْلَمُونَ  

จงกล่าวเถิด แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงสั่งให้กระทำสิ่งชั่วช้าดอก พวกท่านกล่าวร้ายต่ออัลลอฮฺในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้กระนั้นหรือ [21]

แน่นอนพระบัญชาของอัลลอฮฺ (ซบ.) จะไม่ทำลายแก่นแท้ของสรรพสิ่ง ดังนั้น ถ้าการเคารพมนุษย์เป็นการแสดงความเคารพภักดี โดยที่พระองค์เป็นผู้สั่งให้กระทำ ในความหมายก็คือการแสดงความเคารพภักดีไปตามพระบัญชาของพระองค์ ฉะนั้น  การการเคารพภักดีต่อบิดา มารดา บรรดาศาสดา และเอาลิยาอฺไม่เป็นชิริกแน่นอน ขณะเดียวกันการให้เกียรติและยกย่องเป็นสิ่งจำเป็น อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَقَضَى رَبُّكَ أَلاَّ تَعْبُدُواْ إِلاَّ إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا

และพระผู้อภิบาลของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์ และจงทำดีต่อบิดามารดา [22]

จำเป็นต้องพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งจำแนกอิบาดะฮฺออกจากการเคารพยกย่อง และเป็นไปได้อย่างไรที่การกระทำอย่างหนึ่งบางครั้งเป็นชิริก และบางครั้งไม่ใช่ เช่น การซัจดะฮฺของมะลาอิกะฮฺที่มีต่อศาสดาอาดัม (อ.) หรือการซัจดะฮฺของบรรดาบุตรของท่านศาสดายะอฺกูบ (อ.) ที่มีต่อศาสดายูซุฟ (อ.) ซึ่งถือว่าเป็นการเคารพภักดีที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า การกระทำเดียวกันถ้าทำกับสิ่งอื่น เช่น ซัจดะฮฺเทวรูปทั้งหลายเป็นชิริกทันที การเคารพภักดีสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นสิ่งต้องห้ามและถูกปฏิเสธไว้อย่างชัดแจ้ง หมายถึงมนุษย์ได้แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนเมื่ออยู่ต่อหน้าสิ่งอื่น โดยเชื่อว่าชะตากรรมของโลก หรือมนุษย์ หรือบางส่วนจากทั้งสองอยู่ในอำนาจของสิ่งนั้นอย่างเป็นเอกเทศ

แต่ถ้าได้แสดงความอ่อนน้อมต่อหน้าบุคคลอื่นโดยมีเจตนาว่า บุคคลนั้นเป็นบ่าวที่บริสุทธิ์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นผู้มีความประเสริฐ มีเกียรติ และประพฤติแต่สิ่งดีงาม การกระทำเช่นนี้เป็นการเคารพยกย่องไม่ใช่อิบาดะฮฺ ดังนั้น การซัจดะฮฺของมะลาอิกะฮฺที่มีต่อท่านศาสดาอาดัม หรือของบรรดาบุตรของศาสดายะอฺกูบ (อ.) ไม่เป็นชิริก เนื่องจากว่าการแสดงความอ่อนน้อมดังกล่าวแม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของการเคารพภักดีก็ตาม แต่ว่ายังมีการให้เกียรติท่านศาสดาอาดัม (อ.) และศาสดายูซุฟ (อ.) แอบแฝงอยู่ ขณะที่การให้เกียรติและยกย่องท่านศาสดาทั้งสองเป็นที่อนุญาตสำหรับอัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งไม่ได้มาจากความเชื่อที่ว่าท่านทั้งสองเป็นผู้บริบาลและเป็นเทพเจ้า

ขจัดความสงสัยและความหมายที่แท้จริงของอิบาดะฮฺ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเคารพภักดีสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นความเห็นพ้องต้องกันสำหรับผู้ที่ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวว่า เป็นสิ่งต้องห้าม อีกด้านหนึ่งการซัจดะฮฺของมะลาอิกะฮฺที่มีต่อท่านศาสดาอาดัม หรือของบรรดาบุตรของศาสดายะอฺกูบ (อ.) ที่มีต่อศาสดายูซุฟ (อ.) ไม่นับว่าเป็นอิบาดะฮฺ

อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การกระทำที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งเป็นอิบาดะฮฺ และอีกครั้งหนึ่งไม่ใช่อิบาดะฮฺทั้งที่การกระทำทั้งสองนั้นเหมือนกัน

เมื่อพิจารณาโองการอัล-กุรอานจะเห็นว่า อิบาดะฮฺ คือการนอบน้อมต่อสิ่งที่มีอยู่เคียงคู่กับอัลลอฮฺ (ซบ.) หรือการนำภารกิจของพระองค์ไปเกี่ยวข้องกับเขา จากคำอธิบายเข้าใจได้ว่า ความเชื่อที่มีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) หรือต่อความสามารถของสิ่งอื่นในการปฏิบัติภารกิจของพระองค์ ก็เป็นรูปลักษณ์หนึ่ง ถ้าเมื่อใดก็ตามได้กระทำด้วยความนอบน้อมถ่อมตนถือว่าเป็นอิบาดะฮฺ

บรรดามุชริกีนบนโลกนี้ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม พวกเขาได้แสดงความเคารพสรรพสิ่งที่มีอยู่ด้วยความนอบน้อมถ่อมตนโดยรู้ว่าสรรพสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งถูกสร้างของอัลลอฮฺ (ซบ.) ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าภารกิจบางอย่างของพระองค์ เช่น การอภัยในบาป หรือการให้ชะฟาอะฮฺ พระองค์ได้มอบให้กับพวกเขา

ขณะที่มุชริกีนอีกบางกลุ่มในกรุงบาบิโลนได้เคารพสักการะสรรพสิ่งที่อยู่ในฟากฟ้า และยอมรับว่าสรรพสิ่งเหล่านั้นเป็นเทพเจ้าของตน (ไม่ใช่ผู้สร้าง) ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลภารกิจต่าง ๆ ของโลกและมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้เองที่เป็นสาเหตุนำไปสู่การวิพากษ์ระหว่างพวกเขากับศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เนื่องจากพวกเขาไม่เชื่อว่าแสงแดด ดวงเดือน และดวงดาว เป็นสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า แต่พวกเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งถูกสร้างของอำนาจที่ยิ่งใหญ่หนึ่ง ซึ่งอำนาจนั้นได้มอบการกำกับดูแลโลกให้กับพวกเขา

โองการอัล-กุรอานได้อธิบายว่าศาสดาอิบรอฮีม (อ.) กับบรรดามุชริกีนแห่งบาบิโลน ได้วิพากษ์กันบนคำว่า ร็อบ (พระผู้อภิบาล) โดยกล่าวว่า

فَلَمَّا جَنَّ عَلَيْهِ اللَّيْلُ رَأَى كَوْكَبًا قَالَ هَذَا رَبِّي فَلَمَّا فَلَمَّا رَأَى الْقَمَرَ بَازِغًا قَالَ هَذَا رَبِّي فَلَمَّا أَفَلَ قَالَ لَئِن لَّمْ يَهْدِنِي رَبِّي لأكُونَنَّ مِنَ الْقَوْمِ الضَّالِّينَ   أَفَلَ قَالَ لا أُحِبُّ الآفِلِينَ فَلَمَّا رَأَى الشَّمْسَ بَازِغَةً قَالَ هَذَا رَبِّي هَذَآ أَكْبَرُ فَلَمَّا أَفَلَتْ قَالَ يَا قَوْمِ إِنِّي بَرِيءٌ مِّمَّا تُشْرِكُونَ   

ครั้นเมื่อกลางคืนปกคลุมขา เขาเห็นดวงดาว  เขากล่าวว่า นี้คือพระผู้อภิบาลของฉันหรือ ดังนั้นเมื่อมันตก เขากล่าวว่า ฉันไม่รักสิ่งที่ตก ครั้นเมื่อเขาเห็นดวงเดือนแย้มขึ้นมา เขากล่าวว่านี้คือพระผู้อภิบาลของฉัน แต่เมื่อมันตก เขาก็กล่าวว่า ถ้าพระผู้อภิบาลของฉันมิได้ทรงนำทางฉัน แน่นอนฉันคือหนึ่งในหมู่ชนที่หลงผิด ครั้นเมื่อเขาเห็นดวงตะวันโผล่ขึ้น เขากล่าวว่า นี้แหละคือพระผู้อภิบาลของฉันหรือ นี่ใหญ่กว่า ดังนั้นเมื่อมันตก เขากล่าวว่า โอ้กลุ่มชนของฉัน แท้จริงฉันขอปลีกตัวออกจากสิ่งที่พวกท่านตั้งภาคี [23]

คำว่า ร็อบ ในที่นี้หมายถึง เจ้าของ หรือผู้ดูแลทรัพย์สินของตน เช่น คนอาหรับเรียกเจ้าของบ้านว่า ร็อบบุลบัยตฺ เรียกเจ้าของเรือกสวนไร่นาว่า  ร็อบบุลฎีอะฮฺ เนื่องจากว่าเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของนามีหน้าที่ดูแล และรับผิดชอบทรัพย์สินของตน

อัล-กุรอานแนะนำว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) เพียงองค์เดียวที่มีหน้าที่กำกับดูแล และอภิบาลโลก ได้วิพากษ์กับพวกมุชริกีน และเชิญชวนทั้งหมดให้มาเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว โดยกล่าวว่า

إِنَّ اللّهَ رَبِّي وَرَبُّكُمْ فَاعْبُدُوهُ هَذَا صِرَاطٌ مُّسْتَقِيمٌ

แท้จริงอัลลอฮฺทรงเป็นพระผู้อภิบาลของฉัน และพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ดังนั้น จงเคารพภักดีพระองค์ นี่คือทางอันเที่ยงตรง [24]

ذَلِكُمُ اللّهُ رَبُّكُمْ لا إِلَهَ إِلاَّ هُوَ خَالِقُ كُلِّ شَيْءٍ فَاعْبُدُوهُ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ وَكِيلٌ

นั่นคืออัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลของสูเจ้า ไม่มีพระเจ้าใดนอกจากพระองค์ ผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง ดังนั้น จงเคารพภักดีพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นผู้พิทักษ์ทุกสิ่ง [25]

 

لَا إِلَهَ إِلَّا هُوَ يُحْيِي وَيُمِيتُ رَبُّكُمْ وَرَبُّ آبَائِكُمُ الْأَوَّلِينَ

ไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอื่นใดอีกนอกจากพระองค์ ผู้ทรงให้ชีวิตและความตาย พระผู้อภิบาลของพวกเจ้า และเป็นพระผู้อภิบาลของบรรพบุรุษของพวกเจ้ามาก่อน [26]

อัล-กุรอานได้กล่าวคำพูดของศาสดาอีซา (อ.) ไว้ว่า

قَالُواْ إِنَّ اللّهَ هُوَ الْمَسِيحُ ابْنُ مَرْيَمَ وَقَالَ الْمَسِيحُ يَا بَنِي إِسْرَائِيلَ اعْبُدُواْ اللّهَ رَبِّي وَرَبَّكُمْ

แท้จริงบรรดาผู้ที่กล่าวว่าอัลลอฮฺคือ อัล-มะซีฮฺบุตรของมัรยัม แต่อัล-มะซีฮฺได้กล่าวว่า วงศ์วานของอิซรออีลเอ๋ย จงเคารพภักดีอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลของฉัน และพระผู้อภิบาลของพวกท่าน

  จากคำอธิบายดังกล่าว สามารถนำไปเปรียบเทียบและตัดสินการเคารพและการให้เกียรติยกย่องของมุสลิม ที่มีต่อเอาลิยาอฺที่ใกล้ชิดอัลลอฮฺ (ซบ.) เช่น การจูบที่ครอบบนหลุมฝังศพ หรือแสดงความดีใจเนื่องในวันประสูติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) หรือวันที่ท่านได้รับการแต่งตั้ง (มับอัซ) เป็นการให้เกียรติ และแสดงความรักที่มีต่อท่าน ไม่ได้เชื่อว่าท่านเป็นผู้บริหารหรือเป็นเทพเจ้าแต่อย่างใด ตลอดจนการขับลำนำโคลงกลอนเพื่อสรรเสริญ หรืออ่านบทรำลึกความโศกเศร้าถึงบรรดาเอาลิยาอฺ การรักษาร่องรอยแห่งสาส์นของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) การสร้างที่ครอบบนหลุมฝังศพของบรรดาเอาลิยาอฺ การตะวัซซุลไม่เป็นชิริก และไม่เป็นบิดอะฮฺ (สิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในศาสนา) สาเหตุที่ไม่เป็นชิริกเพราะ ที่มาของการกระทำคือความรักที่มีต่อบรรดาเอาลิยาอฺแห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) (มิใช่เพราะเชื่อว่าท่านมีความเอกเทศในการบริหาร) ที่ไม่เป็นบิดอะฮฺเพราะการกระทำดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของอัล-กุรอาน และฮะดีซที่กล่าวว่า เป็นความจำเป็น (วาญิบ) สำหรับมุสลิมทุกคนที่ต้องรักท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และลูกหลานที่ใกล้ชิด การกระทำเพื่อเทิดเกียรติเนื่องในวันประสูติหรือวันแต่งตั้งท่าน (มับอัซ) เป็นแบบหนึ่งที่แสดงถึงความรัก          ขณะที่ห้ามไม่ให้ซัจดะฮฺบรรดารูปปั้น เพราะมีความเชื่อว่ารูปปั้นเหล่านั้นเป็นผู้มีความเป็นเอกเทศในการบริหาร เป็นผู้กำกับดูแล และเป็นผู้กำชะตากรรมของมนุษย์

 



[1] ชูรอ / ๑๑

[2] อิคลาซ /๓                                               

[3] เราะอฺดุ/๑๖

[4] ฆอฟิร / ๖๒

[5] รูม / ๔๘

[6] ซัจดะฮฺ /

[7] อันอาม / ๑๖๔

[8] นาซิอาต / ๕

[9] ยูซุฟ / ๔๐

[10] ซอด / ๒๖

[11] อัน-นิซาอฺ /๘๐

[12] นิซาอฺ / ๖๔

[13] มาอิดะฮฺ / ๔๔

[14] มาอิดะฮฺ / ๔๕

[15] มาอิดะฮฺ / ๔๗

[16] ฟาติฮะฮฺ /

[17] นะฮฺลิ / ๓๖

[18] บะเกาะเราะฮฺ / ๓๔

[19] ยูซุฟ / ๑๐๐

[20] ยูซุฟ /

[21] อัล-อะอฺรอฟ / ๒๘

[22] อิซรอ / ๒๓

[23] อัล-อันอาม / ๗๖-๗๘

[24] อาลิอิมรอน / ๕๑

[25] อันอาม / ๑๐๒

[26] ดุคอน / ๘

 

index