back

คำถามที่ ๓๑ : หลักฐานของการตะกียะฮฺคืออะไร

next

คำถามที่ ๓๑ : หลักฐานของการตะกียะฮฺคืออะไร

คำตอบ : ตะกียะฮฺหมายถึง การปิดบังความศรัทธาด้านใน หรือการไม่เปิดเผยความเชื่อของตนเมื่ออยู่ต่อหน้าศัตรู โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ทางชัรอียฺของมุสลิมทุกคน และมีรากที่มาจากอัล-กุรอาน

ตะกียะฮฺในทัศนะของอัล-กุรอาน

อัล-กุรอานหลายโองการได้กล่าวถึงการตะกียะฮฺ โดยกล่าวว่า

لاَّ يَتَّخِذِ الْمُؤْمِنُونَ الْكَافِرِينَ أَوْلِيَاءَ مِن دُوْنِ الْمُؤْمِنِينَ وَمَن يَفْعَلْ ذَلِكَ فَلَيْسَ مِنَ اللّهِ فِي شَيْءٍ إِلاَّ أَن تَتَّقُواْ مِنْهُمْ تُقَاةً

ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่าได้ยึดเอาบรรดาผู้ปฏิเสธเป็นมิตรแทนบรรดามุอฺมิน และผู้ใดกระทำเช่นนั้น เขาจะไม่เกี่ยวข้องกับอัลลอฮอีกต่อไป นอกจากสูเจ้าจะต้องหลีกเลี่ยงจากพวกเขาจริง ๆ เท่านั้น (เพื่อเป้าหมายที่สำคัญกว่าจงตะกียะฮฺ) [1]

โองการได้อธิบายอย่างชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้เป็นมิตรกับผู้ปฏิเสธ เว้นเสียแต่ว่าให้ตะกียะฮฺ เพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองหรือครอบครัว ในกรณีเช่นนี้สามารถแสดงความเป็นมิตรกับพวกเขาได้

บางโองการกล่าวว่า

مَن كَفَرَ بِاللّهِ مِن بَعْدِ إيمَانِهِ إِلاَّ مَنْ أُكْرِهَ وَقَلْبُهُ مُطْمَئِنٌّ بِالإِيمَانِ وَلَكِن مَّن شَرَحَ بِالْكُفْرِ صَدْرًا فَعَلَيْهِمْ غَضَبٌ مِّنَ اللّهِ وَلَهُمْ عَذَابٌ عَظِيمٌ

ผู้ใดปฏิเสธอัลลอฮฺหลังจากที่เขาได้ศรัทธา เว้นแต่ผู้ถูกบังคับทั้ง ๆ ที่หัวใจของเขายังเปี่ยมด้วยการศรัทธา แต่ผู้ใดเปิดหัวอกของเขาเพื่อการไม่ศรัทธา ดังนั้นพวกเขาจะได้รับความกริ้วจากอัลลอฮฺ และสำหรับพวกเขาคือการลงโทษอันมหันต์ [2]

บรรดานักอรรถาธิบายอัล-กุรอานได้กล่าวว่า สาเหตุที่โองการดังกล่าวได้ถูกประทานลงมา เนื่องจากว่าวันหนึ่งท่านอัมมารยาซีรพร้อมกับครอบครัว ถูกพวกปฏิเสธชาวมักกะฮฺจับตัวไป พวกเขาได้บังคับให้ท่าน ถอนตัวจากการเป็นมุสลิม และกลับไปเป็นผู้ปฏิเสธตั้งภาคีกับพระเจ้าเหมือนเดิม ผู้ร่วมขบวนการคนอื่นไม่ยอม  และปฏิญาณยืนยันถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นหนึ่งเดียว และการเป็นศาสทูตของท่านมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงถูกทรมานและชะฮีดในเวลาต่อมา แต่ท่าน อัมมารได้ตะกียะฮฺ (ปกปิด) ความเชื่อของตนและทำตามที่พวกปฏิเสธต้องการ แต่หลังจากถูกปล่อยตัวแล้วท่านได้ไปหาท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เล่าเรื่องที่ท่านได้กระทำลงไปพร้อมกับแสดงความเสียใจต่อการกระทำ โองการข้างต้นจึงได้ประทานลงมา [3]

จากโองการดังกล่าว ประกอบกับคำอธิบายของบรรดานักอรรถาธิบายอัล-กุรอาน เป็นที่ชัดเจนว่าการปกปิดความเชื่อ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน อันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือความเสียหายที่จะได้รับ ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และเป็นที่ยอมรับของสังคมอิสลาม

การตะกียะฮฺในทัศนะของชีอะฮฺ นับตั้งแต่ราชวงศ์อุมัยยะฮฺ และอับบาซซียะฮฺขึ้นปกครองก็ได้ทะเลาะวิวาท และขัดแย้งกับบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ตลอดมา บรรดาผู้ปกครองมีนโยบายเข่นฆ่าลูกหลานของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาพวกชีอะฮฺที่ปฏิบัติตามท่าน[4] พวกเขาได้ตะกียะฮฺตามหลักการของอัล-กุรอาน และปกปิดความเชื่อของตน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชีวิตของพวกเขาและบุคคลอื่นรอดพ้นอันตรายมาได้ แน่นอนเป็นที่ชัดเจนว่าในสถานการณ์เช่นนั้น ไม่มีหนทางอื่นอีกแล้วที่จะทำให้ชีวิตรอดปลอดภัยจากน้ำมือของผู้ปกครองที่กดขี่ข่มเหง ดังนั้นจะเห็นว่าเมื่อผู้ปกครองที่กดขี่ไม่คิดว่าชีอะฮฺเป็นศัตรูพวกเขาก็จะไม่ไล่สังหาร เหตุผลที่ชีอะฮฺต้องทำตะกียะฮฺก็จะไม่มี แต่ประวัติศาสตร์ได้ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากไม่มียุคใดที่ชีอะฮฺไม่ได้ถูกไล่สังหาร

สิ่งที่จำเป็นต้องกล่าวคือ ตะกียะฮฺไม่ได้จำกัดอยู่แค่นิกายชีอะฮฺเพียงอย่างเดียว แต่ทว่ามุสลิมทุกคนปฏิเสธการนองเลือดและการเข่นฆ่า ฉะนั้น ถ้าไม่สามารถยืนหยัดต่อสู้ได้ จำเป็นต้องตะกียะฮฺเพื่อรักษาชีวิต และทรัพย์สินของตน ถ้าหากมุสลิมทั้งหลายรักษาระเบียบเงื่อนไขของตน สร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน อยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี การตะกียะฮฺก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไปสำหรับสังคม

สรุป จากสิ่งที่กล่าวมาสามารถสรุปได้ดังนี้

๑. การตะกียะฮฺมีรากที่มาจากอัล-กุรอาน เป็นวิธีปฏิบัติตนของบรรดาเซาะฮาบะฮฺ และได้รับการสนับสนุนจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อีกทั้งได้เคยปฏิบัติตั้งแต่สมัยเริ่มต้นประกาศอิสลาม

๒. แนวคิดเรื่องตะกียะฮฺสำหรับชีอะฮฺ ได้เกิดขึ้นเพราะหลีกเลี่ยงการไล่สังหารของผู้ปกครองที่กดขี่ที่มีนโยบายปราบชีอะฮฺ และแนวทางของชีอะฮฺให้สิ้นซาก

๓. การตะกียะฮฺไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่แนวทางของชีอะฮฺเท่านั้น ทว่ามีการปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในหมู่มุสลิม

๔. การตะกียะฮฺไม่ได้เจาะจงแค่การปกปิดความเชื่อต่อหน้าพวกปฏิเสธ หรือมุชริกีนเท่านั้น จุดประสงค์ของตะกียะฮฺคือ การปกป้องชีวิตมุสลิมโดยทั่วไป และการปกปิดความเชื่อต่อศัตรูที่คิดนองเลือดซึ่งมุสลิมไม่มีกำลังสามารถในการสู้รบ

๕. เมื่อสังคมมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน การตะกียะฮฺไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ



[1] อาลิอิมรอน / ๒๘

[2] อัล-นะฮฺลิ / ๑๐๖

[3] ตัฟซีร อัรดุรุลมันซูร ซุยูฏีย์ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๓๑ เบรุต

[4] เกี่ยวกับเรื่องการสังหารพวกชีอะฮฺ ศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ มะกอติลุฏฏอลิบีน อะบุลฟัรจฺ อิซฟาฮานียฺ, ชุฮะดา อัล-ฟะฎีละฮฺ อัลลามะอฺอามีนียฺ, อัชชีอะฮฺวัลฮากิมูน ซะวาดมุกนีย์

 

index