back

คำถามที่ ๑๘ : จุดประสงค์ของมุตอะฮฺคืออะไร และทำไมชีอะฮฺจึงถือว่าฮะลาล

next

คำถามที่ ๑๘ : จุดประสงค์ของมุตอะฮฺคืออะไร และทำไมชีอะฮฺจึงถือว่าฮะลาล

คำตอบ : นิกาฮฺ หมายถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างสามีกับภรรยา ซึ่งในบางครั้งเป็นการอยู่ร่วมกันตลอดไป โดยไม่มีพรมแดนในการอ่านอักดฺ  นิกาฮฺ และในบางครั้งเป็นการนิกาฮฺเช่นกัน แต่มีกำหนดเวลาเป็นตัวขวางกั้นระหว่างการอยู่ร่วมกันของสามีภรรยา อย่างไรก็ตามทั้งสองนิกาฮฺต้องทำไปตามเงื่อนไขทางชัรอีย์ จะแตกต่างกันตรงที่ถาวรกับมีกำหนดเวลาเท่านั้น ส่วนในรายละเอียดอื่นๆ คล้ายกันทั้งหมด

ฉะนั้นเงื่อนไขสำหรับอักดฺมุตอะฮฺนั้นเหมือนกับอักดฺถาวรดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

๑. ทั้งหญิงและชายต้องไม่มีอุปสรรคทางชัรอีย์ในการแต่งงาน เช่น เป็นพี่น้องทางสายเลือด หรือโดยสาเหตุ และอุปสรรคชัรอียฺอื่น ๆ มิเช่นนั้นแล้วอักดฺจะเป็นโมฆะ (บาฎิล)

๒. มะฮฺรียะฮฺที่ได้ตกลงกันระหว่างทั้งสอง ต้องถูกกล่าวในขณะอ่านอักดฺนิกาฮฺ

๓. กำหนดเวลาในการแต่งงานต้องระบุชัดเจน

๔. ต้องทำการอ่านอักดฺตามชัรอียฺ

๕. บุตรที่เกิดจากทั้งสองถือว่าเป็นบุตรที่ถูกต้องตามชัรอีย์ เหมือนกับบุตรที่เกิดจากการนิกาฮฺถาวร ซึ่งมีสิทธิทุกอย่างในฐานะของบุตร

๖. ค่าเลี้ยงดูบุตรเป็นหน้าที่ของบิดาต้องรับผิดชอบ และบุตรมีสิทธิ์รับมรดกทั้งจากบิดาและมารดา

๗. เมื่อกำหนดเวลาของอักดฺมุตอะฮฺได้สิ้นสุดลง หากฝ่ายหญิงไม่ได้อยู่ในช่วงวัยหมดระดู เธอต้องรออิดดะฮฺ และระหว่างรออิดดะฮฺอยู่นั้นถ้าฝ่ายหญิงได้ตั้งครรภ์ต้องหลีกเลี่ยงการแต่งงานจนกว่าเธอจะคลอดบุตร

จำเป็นต้องเอาใจใส่ต่อเงื่อนไขอื่น ๆ ของการแต่งงานถาวรในการอ่านอักดฺแต่งงานชั่วคราว จะแตกต่างกันตรงที่ว่าอักดฺนิกาฮฺมุตอะฮฺได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่จำเป็นฉับพลันทันด่วน และค่าครองชีพ (นะฟะเกาะฮฺ) ของฝ่ายหญิงไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายชาย และขณะที่อ่านอักดฺถ้าฝ่ายหญิงไม่ได้ตั้งเงื่อนไขว่าขอรับมรดกของฝ่ายชาย ดังนั้นฝ่ายหญิงไม่มีสิทธิ์รับมรดกนั้น และเป็นที่กระจ่างว่าเงื่อนไขทั้งสองไม่มีผลนิกาฮฺแต่อย่างใด

มุสลิมทั้งหลายมีความเชื่อว่าศาสนาอิสลาม ที่มีชะรีอะฮฺเพียบพร้อมไปด้วยความสมบูรณ์ และเป็นศาสนาสุดท้ายต้องสามารถให้คำตอบแก่ความต้องการทั้งหลายได้ ฉะนั้นจะเห็นว่าชายหนุ่มที่ต้องเรียนหนังสือนานหลายปีติดต่อกัน และไม่สามารถแต่งงานถาวรได้เมื่อเขาต้องตกอยู่ในสภาพดังกล่าว จึงมีสิทธิ์เลือกทำอย่างหนึ่งอย่างหนึ่งอย่างใดจาก ๓ ประการดังต่อไปนี้

๑. ต้องครองความเป็นโสดตลอดไป

๒. ต้องตกอยู่กับอบายมุขและความโสมมทั้งหลายของจิตใจ จนหลงกระทำบาป

๓. เลือกทำตามเงื่อนไขที่กล่าวมา โดยแต่งงานชั่วคราวกับหญิงที่มีเงื่อนไขตามกำหนด

ในกรณีแรกสามารถกล่าวได้ว่าส่วนมากแล้วจะพบกับความพ่ายแพ้ แม้ว่าบางคนสามารถควบคุมความต้องการทางเพศ มีความอดทน และสามารถหักห้ามจิตใจได้ แต่วิธีการดังกล่าวใช่ว่าทุกคนจะสามารถปฏิบัติได้ ส่วนคนที่เลือกแนวทางที่สองเท่ากับเขาได้กระทำความผิด  ซึ่งเป็นสิ่งที่คำสอนของอิสลามได้สั่งห้ามเอาไว้ ถึงแม้ว่าเขาจะกล่าวอ้างว่ามีความจำเป็น แต่สิ่งนั้นก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่นำไปสู่การหลงทาง ทั้งความคิดและการกระทำ ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าคงเหลือเฉพาะแนวทางที่สามเท่านั้น ที่อิสลามได้นำเสนอเอาไว้ และในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ก็มีการปฏิบัติกันเปิดเผย แต่ต่อมาภายหลังมีความขัดแย้งเกิดขึ้น การกระทำดังกล่าวจึงได้ถูกยกเลิกไป

สิ่งจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจคือ บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการทำมุตอะฮฺ และถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม ทั้งที่อุละมาอฺและนักปราชญ์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า โดยความหมายแล้วการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการ  นิกาฮฺถาวร เช่น คู่บ่าวสาวได้อ่านอักดฺนิกาฮฺถาวร แต่ทั้งสองมีเจตนาว่าหลังจากหนึ่งปี หรือน้อยกว่านั้น หรือมากกว่านั้นเขาจะแยกทางกันด้วยการทำเฏาะลาก (หย่า)

ฉะนั้นจะเห็นว่าการแต่งงานดังกล่าวถ้าพิจารณาจากภายนอกจะพบว่า เป็นการแต่งงานถาวร แต่จริง ๆ แล้วเป็นการแต่งงานชั่วคราวนั้นเอง ความแตกต่างของนิกาฮฺอย่างนี้กับการมุตอะฮฺ อยู่ตรงที่ว่าการมุตอะฮฺไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน มีเวลาที่แน่นอนเป็นตัวกำหนด แต่การนิกาฮฺถาวรดังกล่าวดูภายนอกเหมือนว่าเป็นการนิกาฮฺถาวรแต่ภายในคือการมุตอะฮฺ (แต่งงานชั่วคราว) นั่นเอง

บุคคลที่อนุญาตให้ทำการแต่งงานดังกล่าวได้ และเป็นที่ยอมรับของอุละมาอฺและนักปราชญ์โดยทั่วไป ทำไมถึงมีอคติกับกฏชัรอียฺที่อนุญาตให้ทำมุตอะฮฺ

เราทราบแล้วว่าการมุตอะฮฺหมายถึงอะไร  ต่อไปจะกล่าวถึงหลักฐานที่อนุญาตให้ทำการมุตอะฮฺ โดยจะนำเสนอใน ๒ ประเด็นดังต่อไปนี้

๑. การอนุญาตให้ทำมุตอะฮฺตั้งแต่เริ่มแรกอิสลาม

๒. การมุตอะฮฺไม่ได้ถูกยกเลิกในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

หลักฐานของประเด็นแรก อัล-กุรอานกล่าวว่า

فَمَا اسْتَمْتَعْتُم بِهِ مِنْهُنَّ فَآتُوهُنَّ أُجُورَهُنَّ فَرِيضَةً

ดังนั้นหญิงใดที่พวกเจ้าแสวงหาความสุขจากพวกนาง ก็จงมอบรางวัลของพวกนางให้แก่พวกนางอันเป็นข้อกำหนด [1]

จากคำพูดของโองการเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เรื่องดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องการทำมุตอะฮฺเนื่องจากว่า

ประการแรก  โองการได้ใช้คำว่า อิสตัมตาอฺ ซึ่งภายนอกหมายถึง การแต่งงานแบบมุตอะฮฺ (ชั่วคราว) ถ้าจุดประสงค์ของโองการหมายถึงการแต่งงานแบบถาวรจำเป็นต้องมีกะรีนะฮฺ (สัญลักษณ์) บ่งบอก

ประการที่สอง  โองการได้ใช้คำว่า อุญูเราะฮุนนะ หมายถึงรางวัลของพวกนาง อันเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนอีกเช่นกันว่าการแต่งงานดังกล่าวหมายถึง การมุตอะฮฺ  เนื่องจากว่าหากจุดประสงค์ของโองการหมายถึง  การแต่งงานถาวร  อัล-กุรอานต้องใช้คำว่า  มะฮฺรียะฮฺ  หรือ     เซาะดาก แทนคำว่า อุญูเราะฮุนนะ

ประการที่สาม นักตัฟซีรทั้งซุนนีและชีอะฮฺ มีความเห็นเหมือนกันว่าโองการดังกล่าวต้องการพูดถึงเรื่อง การแต่งงานแบบมุตอะฮฺ ไม่ใช่แบบถาวร

ท่านญะลาลุดดีน ซุยูฏียฺ ได้บันทึกไว้ในตัฟซีรของท่าน (อัดดุรุลมันซูร) โดยรายงานมาจากท่าน อิบนุญะรีร และท่านซุดาว่า โองการข้างต้นได้กล่าวถึงเรื่องการทำมุตอะฮฺ [2]

ท่านอะบูญะอฺฟัร มุฮัมมัด บิน ญะรีร ฏ็อบรียฺ ได้บันทึกไว้ในตัฟซีรของตน โดยรายงานมาจากท่าน ซุดา, มุญาฮิด, และอิบนุอับบาซ ว่าโองการดังกล่าวได้พูดถึงเรื่องการทำมุตอะฮฺ [3]

ประการที่สี่ เจ้าของตำราซิฮาฮฺ มะซานีด และญะวามิอฺ ได้ยอมรับ   ริวายะฮฺที่กล่าวถึงความจริงเกี่ยวกับการมุตอะฮฺ เช่น ท่านมุสลิม บิน ฮะญาจ ได้บันทึกไว้ในเซาะฮียฺของท่านโดยรายงานมาจาก ท่านญาบิร บิน อับดุลลอฮฺ และซะละมะฮฺ บิน อุกูอฺว่า

خرج علينا منادي رسول الله (ص) فقال انّ رسول الله قد أذن لكم أن تستمتعوا يعني متعة النّساء

คนประกาศสาส์นของท่านศาสดา ได้มาหาพวกเรา และพูดว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้อนุญาตให้พวกท่านทำมุตอะฮฺได้ หมายถึงแต่งงานชั่วคราวกับสตรี [4]

ซิฮาฮฺ และมะซานีดได้กล่าวถึงริวายะฮฺเกี่ยวกับการทำมุตอะฮฺไว้อย่างมาก ดังนั้นจะเห็นว่าการอนุญาตให้ทำมุตอะฮฺเป็นที่ยอมรับของอุละมาอฺ นักปราชญ์ และนักตัฟซีรตั้งแต่ในสมัยแรกของอิสลาม และในสมัยของท่านศาสดาเป็นต้นมา ตัวอย่างของตำราที่บันทึกฮะดีซบทนี้เอาไว้ เซาะฮียฺบุคอรียฺ บาบ ตะมัตตุอฺ, มุซนัดอะฮฺมัด เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๓๖, และเล่มที่ ๓ หน้าที่ ๓๕๖, อัลมุวัฏเฏาะอฺ อิมามมาลิก เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๐, ซุนันบัยหะกียฺ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๓๐๖, ตัฟซีรฏ็อบรียฺ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๙, นิฮายะฮฺอิบนุอะซีร เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๔๙, ตัฟซีรรอซียฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๒๐๑, ตารีคอิบนุคุลกอน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๕๙, อะฮฺกามุลกุรอาน ญะซอซ เล่มที่๒ หน้าที่ ๑๗๘, มุฮาเฎาะราต รอฆิบ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๙๔, อัล-ญามิอุลกะบีร ซุยูฎียฺ เล่มที่ ๘ หน้าที ๒๙๓, ฟัตฮุลบารียฺ อิบนิฮะญัร เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๑๔๑

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำถาม : โองการมุตอะฮฺถูกยกเลิก (มันซูค) แล้วหรือ

คำตอบ : น้อยมากที่มุสลิมจะสงสัยว่าการทำมุตอะฮฺในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นที่อนุญาต สิ่งที่กำลังกล่าวถึงคือ การคงอยู่ หรือการถูกยกเลิกของกฎ (ฮุกุม) ดังกล่าว ประวัติศาสตร์ และริวายะฮฺได้กล่าวไว้ตรงกันว่า การทำมุตอะฮฺ มีมาตั้งแต่สมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และได้ดำเนินมาจนถึงกลางยุคสมัยของอุมัร เคาะลิฟะฮฺที่สอง ซึ่งเคาะลิฟะฮฺได้เล็งเห็นถึงความจำเป็น และความเหมาะสมท่านจึงสั่งยกเลิกการทำมุตอะฮฺ

มุสลิม บิน ฮะญาจ ได้กล่าวไว้ในเซาะฮียฺของท่าน โดยรายงานมาจาก อิบนุอับบาซ และอิบนุซุเบร เกี่ยวกับการทำมุตอะฮฺผู้หญิง และมุตอะฮฺฮัจญฺ ซึ่งเป็นการรายงานที่ขัดแย้ง ท่านญาบีรฺ บิน อับดุลลอฮฺ พูดว่า

فعلنا هما مع رسول الله ثم نهانا عنهما عمر فلم نعد لهما

พวกเราได้กระทำทั้งสอง (ฮัจญฺตะมัตตุอฺ กับมุตอะฮฺผู้หญิง) พร้อมกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) หลังจากนั้นอุมัร ได้สั่งห้ามเราไม่ให้ทำทั้งสอง ต่อมาพวกเราไม่ได้ทำอีกเลย [5]

ท่านญะลาลุดดีน ซุยูฏียฺ ได้บันทึกไว้ในตัฟซีรของท่าน โดยรายงานมาจาก อับดุรรอซาก, อะบูดาวูด, และอิบนุญะรีร ซึ่งพวกเขาได้รายงานมาจาก ฮะกัม อีกที่หนึ่งซึ่งได้มีคนถามว่า โองการมุตอะฮฺได้ถูกยกเลิกแล้วหรือ  ตอบว่า ยัง และอะลี (อ.) กล่าวว่า

لولا انّ عمر نهى عن المتعة ما زنى الاّ شقي

ถ้าหากอุมัรฺไม่ได้ห้ามการทำมุตอะฮฺแล้วละก็ จะไม่มีใครผิดประเวณีเลย (ซินา) นอกจากคนชั่ว [6]

อะลี บิน มุฮัมมัด กูจี พูดว่า อุมัร บิน ค็อฏฏ็อบ ได้เทศนาบนมิมบัรว่า

ايّها الناس ثلاث كنّ على عهد رسول الله أنا أنهي عنهنّ و أحرمهنّ و أعاقب عليهنّ و هي متعة النساء و متعة الحج و حيّ على خير العمل

โอ้ประชาชนเอ๋ย มีอยู่สามสิ่งที่ปฏิบัติในสมัยของท่านศาสดา    (ซ็อล ฯ) ซึ่งฉันได้สั่งห้ามมัน และผู้ที่ปฏิบัติมันต้องถูกลงโทษ ได้แก่การทำมุตอะฮฺกับหญิง การทำมุตอะฮฺฮัจญฺ และการกล่าวฮัยยะอะลาคอยริลอะมัลในอะซาน  [7]

สิ่งจำเป็นต้องกล่าวคือ ริวายะฮฺในทำนองนี้มีมากกว่าที่ได้กล่าวไว้ ณ ที่นี้ เพื่อการค้นคว้าเพิ่มเติมโปรดดูตำราดังต่อไปนี้ มุซนัดอะฮฺมัด เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๓๕๖/๓๖๓, อัลบะยานวัลตับยีน ญาฮิซ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๒๓, อะฮฺกามุลกุรอาน ญะซอซ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๔๒, ตัฟซีรกุรฏุบียฺ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๗๐, อัลมับซูฏ กิตาบฮัจญฺ บาบุลกุรอาน, ซาดุลมะอาด อิบนิกัยยุม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๔๔, กันซุลอุมาล เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๒๙๓, มุซนัดอะบีดาวูด เฎาะยาลิซซีย์ หน้าที่ ๒๔๗, ตารีคฏ็อบรียฺ เล่มที่ ๕ หน้าที่๓๒, อัลมุซตับยีน ฏ็อบรียฺ, ตัฟซีรรอซียฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๒๐๐/๒๐๒, ตัฟซีรอะบูฮัยยาน เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๒๑๘

สามารถกล่าวได้ว่า การมุตอะฮฺเป็นหนึ่งในการนิกาฮฺและการแต่งงานตามบทบัญญัติ เนื่องจากการนิกาฮฺได้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทกล่าวคือ แบบถาวรกับแบบชั่วคราว หญิงใดได้ทำการมุตอะฮฺถือว่าเป็นภรรยาของชายคนนั้น และชายคือสามีของหญิงแน่นอน การแต่งงานลักษณะดังกล่าว ได้ถูกรวมอยู่ในโองการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแต่งงาน อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَالَّذِينَ هُمْ لِفُرُوجِهِمْ حَافِظُونَ إِلَّا عَلَى أَزْوَاجِهِمْ أوْ مَا مَلَكَتْ أَيْمَانُهُمْ

และบรรดาผู้ที่รักษาความบริสุทธิ์ของอวัยวะเพศพวกเขา นอกเสียจากบรรดาภรรยาของพวกเขา หรือที่มือขวาของพวกเขาครอบครอง [8]

หญิงที่ได้ทำการมุตอะฮฺตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวมา ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่อัล-กุรอานกล่าวถึง นอกเสียจากบรรดาภรรยาของพวกเขา หมายความว่าหญิงที่ได้แต่งงานมุตอะฮฺกับชายคนหนึ่ง ถือว่าเธอเป็นภรรยาของชายคนนั้น ดังนั้นเธอจึงรวมอยู่ในคำว่า อัซวาญิฮิม (เหล่าภรรยาของพวกเขา) ถ้าหากว่าโองการข้างต้นในซูเราะฮฺมุอฺมินูนได้อนุญาต ให้หาความสุขทางเพศกับหญิงสองกลุ่มได้ กล่าวคือ เหล่าบรรดาภรรยา และบรรดาทาสีในเรือนเบี้ยทั้งหลาย หญิงที่ได้ทำมุตอะฮฺจัดอยู่ในกลุ่มแรก (เหล่าบรรดาภรรยา)

น่าประหลาดใจที่บางคนได้กล่าวว่า โองการในซูเราะฮฺมุอฺมินูน ได้มายกเลิก (นาซิค) โองการมุตอะฮฺในซูเราะฮฺ นิซาอฺ / ๒๔ ขณะที่เป็นที่ทราบกันดีว่าโองการที่ถูกประทานลงมาเพื่อยกเลิกโองการอื่นนั้น ต้องลงมาหลังจากโองการที่ถูกยกเลิก  ตรงกันข้ามเพราะซูเราะฮฺมุอฺมินูนในฐานะของผู้ยกเลิก (นาซิค) ถูกประทานลงมาที่มักกะฮฺก่อนที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะทำการอพยพไปสู่เมืองมะดีนะฮฺ ส่วนซูเราะฮฺนิซาอฺได้ถูกประทานลงมาที่มะดีนะฮฺหลังจากที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้อพยพไปแล้ว ตรงนี้จึงเกิดคำถามว่า โองการที่ปรากฏในซูเราะฮฺมักกียะฮฺ จะสามารถยกเลิกโองการที่ปรากฏใน   ซูเราะฮฺมะดะนียะฮฺได้อย่างไร

เหตุผลที่กระจ่างชัดอีกประการหนึ่งที่ว่า โองการมุตอะฮฺไม่ได้ถูกยกเลิก กล่าวคือในยุคสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นพยานยืนยันได้อย่างดี เนื่องจากริวายะฮฺจำนวนมาก ได้ปฏิเสธว่าการยกเลิกไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยของท่านแต่เกิดขึ้นในสมัยหลังจากนั้น ดังริวายะฮฺที่ท่านซุยูฏียฺได้กล่าวเอาไว้ในตัฟซีร ดุรุลมันซูร [9]

ท้ายสุดนี้ ขอกล่าวว่า บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์แห่งอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ผู้ที่มีหน้าที่ทำการชี้นำมวลมนุษยชาติหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และเป็นผู้ที่ไม่แยกออกจากอัล-กุรอานตลอดไป ตามฮุกุมของฮะดีซซะเกาะลัยนฺ ถือว่าการทำมุตอะฮฺเป็นที่อนุญาต และยังไม่ได้ถูกยกเลิก [10]

อิสลามในฐานะที่เป็นศาสนาเดียวที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ตลอดทุกยุคทุกสมัย ได้สนับสนุนการนิกาฮฺแบบมุตอะฮฺตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวมา ซึ่งมุตอะฮฺเป็นวิธีเดียวที่สามารถช่วยเหลือ ให้เยาวชนรอดพ้นการทำความผิดตามอำเภอใจได้

 

 



[1] นิซาอฺ / ๒๔

[2] อัดดุรุลมันซูร เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๔๐

[3] ญามิอุลบะยาน ฟี ตัฟซีริลกุรอาน ญุซที่ ๕ หน้าที่ ๙

[4] เซาะฮียฺมุสลิม ญุซที ๔ หน้าที่ ๑๓๐ พิมพ์ที่อียิปต์

[5] ซุนันบัยฮะกียฺ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๒๐๖, เซาะฮียฺมุสลิม เล่มที่ ๑ หน้าที่  ๓๙๕

[6] ดุรุลมันซูร เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๔๐ ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

[7] ชัรฮฺ ตัจรีด กูจี มับฮัซ อิมามะฮฺ หน้าที่ ๔๘๔

[8] มุอฺมินูน / ๕ / ๖

[9] ดุรุลมันซูร เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๔๐/๑๔๑ ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

[10] วะซาอิลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑๔ กิตาบนิกาฮฺ บาบเอาวัล จากอับวาบมุตอะฮฺ หน้าที่ ๔๓๖

 

index