คำถามที่ ๑๐ : ร็อจอะฮฺคืออะไร และทำไมต้องเชื่อด้วย |
คำถามที่ ๑๐ : ร็อจอะฮฺคืออะไร และทำไมต้องเชื่อด้วย
คำตอบ : ร็อจอะฮฺ ในภาษาอาหรับหมายถึง การกลับ ส่วนในความหมายของนักปราชญ์หมายถึง การกลับของคนกลุ่มหนึ่งภายหลังจากความตายและก่อนการอวสานของโลก (กิยามะฮฺ) พร้อมกับการปรากฏกายของท่านอิมามามะฮฺดี (อ.) และแก่นแท้ของเรื่องนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับเหตุผลทางสติปัญญาและอัล-กุรอานแต่อย่างใด
ในทัศนะของอิสลาม และศาสนาอื่นๆ ที่มีความเชื่อต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นเชื่อว่ามนุษย์ แก่นแท้ของความเป็นมนุษย์คือ วิญญาณที่เป็นมุญัรร็อด (หมายถึงไม่มีการดับสลายด้วยอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า) หรือในบางครั้งเรียกว่า นัฟซฺ เหมือนกัน ซึ่งวิญญาณนั้นภายหลังจากร่างกายได้ดับสลายแล้ว มันยังคงดำรงอยู่ตลอดไปอย่างเป็นอมตะ อีกด้านหนึ่งพระองค์ อัลลอฮฺ (ซบ.) ผู้ทรงเกรียงไกรนั้น อัล-กุรอานได้กล่าวว่าเป็นผู้ทรงเดชานุภาพแต่เพียงผู้เดียว และอำนาจของพระองค์ทรงครอบคลุมอยู่เหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่มีสิ่งใดสามารถขัดขวาง หรือกำหนดให้อำนาจของพระองค์อยู่ในขอบเขตจำกัดได้
ด้วยสองบทนำที่กล่าวมาทำให้รู้ได้ว่าเรื่อง ร็อจอะฮฺ จากมุมมองของสติปัญญานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะว่าการกลับมาอีกครั้งของบุคคลกลุ่มดังกล่าว เป็นเรื่องที่ง่ายดายกว่าการสร้างให้เกิดขึ้นมาในครั้งแรก พระผู้อภิบาลผู้ทรงสร้างพวกเขาให้เกิดขึ้นมาในครั้งแรกจากสิ่งที่ไม่มี ฉะนั้นการนำพวกเขากลับมาอีกครั้งย่อมเป็นเรื่องที่ง่ายดายกว่าและเป็นไปได้สำหรับพระองค์ บนพื้นฐานความเชื่อดังกล่าว อัล-กุรอานได้กล่าวถึงการกลับมาของคนบางกลุ่มในอดีตไว้ดังนี้
وَإِذْ قُلْتُمْ يَا مُوسَى لَن نُّؤْمِنَ لَكَ حَتَّى نَرَى اللَّهَ جَهْرَةً فَأَخَذَتْكُمُ الصَّاعِقَةُ وَأَنتُمْ تَنظُرُونَ ثُمَّ بَعَثْنَاكُم مِّن بَعْدِ مَوْتِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَشْكُرُونَ
และ (จงรำลึก) เมื่อพวกเจ้ากล่าวว่า โอ้มูซา เราจะไม่ศรัทธาต่อท่านเด็ดขาด จนกว่าเราจะได้เห็นอัลลอฮฺ อย่างแจ้งชัด ฉะนั้นสายฟ้าได้คร่าชีวิตพวกเจ้า ขณะที่พวกเจ้ามองดูอยู่ แล้วเราได้ให้พวกเจ้าฟื้นขึ้นมา หลังความตายของพวกเจ้า โดยหวังว่าพวกเจ้าจะสำนึกในพระคุณ [1]
อีกโองการหนึ่งอัล-กุรอานได้กล่าวถึงคำพูดของท่านศาสดาอีซา (อ.) ว่า
وَأُحْيِي الْمَوْتَى بِإِذْنِ اللّهِ
และฉันจะให้ผู้ที่ตายแล้วมีชีวิตขึ้นมาด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ [2]
อัล-กุรอานไม่ได้กล่าวว่าเรื่องร็อจอะฮฺจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้สนับสนุนการกลับมาของกลุ่มชนบางกลุ่มอีกต่างหาก ดังบางโองการได้กล่าวถึงการกลับมาของคนกลุ่มหนึ่ง ภายหลังจากได้ตายไปแล้วก่อนวันกิยามะฮฺว่า
وَإِذَا وَقَعَ الْقَوْلُ عَلَيْهِمْ أَخْرَجْنَا لَهُمْ دَابَّةً مِّنَ الْأَرْضِ تُكَلِّمُهُمْ أَنَّ النَّاسَ كَانُوا بِآيَاتِنَا لَا يُوقِنُونَ وَيَوْمَ نَحْشُرُ مِن كُلِّ أُمَّةٍ فَوْجًا مِّمَّن يُكَذِّبُ بِآيَاتِنَا فَهُمْ يُوزَعُونَ
และเมื่อพระดำรัสเกิดขึ้นแก่พวกเขา เราได้ให้สัตว์ออกมาจากแผ่นดินแก่พวกเขา เพื่อกล่าวแก่พวกเขาว่า แท้จริงปวงมนุษย์นั้นไม่ยอมเชื่อมั่นต่อโองการทั้งหลายของเรา และ (จงรำลึกถึง) วันที่เราจะเรียกจากทุก ๆ ชาติ มาชุมนุมกันเป็นหมู่คณะ จากผู้ที่ปฏิเสธโองการทั้งหลายของเราโดยที่พวกเขาจะถูกจัดเป็นกลุ่ม ๆ [3]
ก่อนที่จะพิสูจน์ว่าเรื่องร็อจอะฮฺ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ จำเป็นต้องกล่าวถึงประเด็นสำคัญบางอย่างดังต่อไปนี้
๑. บรรดานักอธิบายอัล-กุรอานส่วนมากได้กล่าวว่า ๒ โองการข้างต้นได้พูดถึงเรื่องวันกิยามะฮฺ ขณะที่โองการแรกนั้นมีสัญลักษณ์ที่ บ่งบอกถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดก่อนกิยามะฮฺ ดังเช่นที่ท่านญะลาลุดดีน ซุยูฏียฺ ได้กล่าวไว้ในตัฟซีรอัดดุรุลมันซูร โดยรายงานมาจากท่าน อิบนิอะบีชัยบะฮฺ จากท่าน ฮุดัยฟะฮฺว่า การออกมาชุมนุมของปศุสัตว์ทั้งหลายได้เกิดก่อน กิยามะฮฺ [4]
๒. ไม่เป็นที่สงสัยว่าในวันกิยามะฮฺนั้นมนุษย์ทั้งหมดจะถูกนำมารวมกัน ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติที่เฉพาะเจาะจง อัล-กุรอานกล่าวถึงการเรียกให้มนุษย์มารวมกันว่า
ذَلِكَ يَوْمٌ مَّجْمُوعٌ لَّهُ النَّاسُ وَذَلِكَ يَوْمٌ مَّشْهُودٌ
วันแห่งการรวบรวมปวงมนุษย์สำหรับพระองค์ และนั่นคือวันแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง [5]
ในวันนั้นตัฟซีรอัดดุรุลมันซูรได้อธิบายว่าเป็นวันกิยามะฮฺ [6]
وَيَوْمَ نُسَيِّرُ الْجِبَالَ وَتَرَى الْأَرْضَ بَارِزَةً وَحَشَرْنَاهُمْ فَلَمْ نُغَادِرْ مِنْهُمْ أَحَدًا
และ (จงรำลึก) วันที่เราให้เทือกเขาเคลื่อนย้ายไป และเจ้าจะเห็นแผ่นดินราบเรียบ และเราจะชุมนุมพวกเขา ดังนั้น เราจะไม่ให้ผู้ใดออกไปจากพวกเขาเลย [7]
ด้วยการยืนยันของอัล-กุรอานจะพบว่าในวันกิยามะฮฺนั้นมนุษย์ทุกคนจะถูกนำมารวมกัน ซึ่งคำสั่งนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงมนุษย์กลุ่มใดเป็นพิเศษ
๓. โองการที่ ๒ ซูเราะฮฺนัมลิ ได้กล่าวถึงการกลับมาของคนบางกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงจากมวลประชาชาติ ไม่ได้หมายถึงมนุษย์ทุกคนเพราะโองการกล่าวว่า และ (จงรำลึกถึง) วันที่เราจะเรียกจากทุก ๆ ชาติ มาชุมนุมกันเป็นหมู่คณะ จากผู้ที่ปฏิเสธโองการทั้งหลายของเราโดยที่พวกเขาจะถูกจัดเป็นกลุ่ม ๆ
โองการอัล-กุรอานได้กล่าวยืนยันอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้หมายถึงชนทุกหมู่เหล่า เฉพาะบางกลุ่มเท่านั่นเอง
บทสรุป จากบทนำทั้งสามที่ได้กล่าวมาทำให้ทราบว่า การกลับมาของกลุ่มชนที่ปฏิเสธโองการต่างๆ ของอัลลอฮฺซึ่งโองการที่ ๒ ซูเราะฮฺนัมลิ ได้กล่าวถึงแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นได้เกิดก่อนวันกิยามะฮฺอย่างแน่นอน (เพราะโองการได้กล่าวว่ามีเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้กลับมา) ด้วยเหตุนี้ คำกล่าวอ้างของชีอะฮฺที่ว่าจะมีกลุ่มชนกลับมาหลังจากความตาย และก่อนวันกิยามะฮฺนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนด้วยการสนับสนุนของโองการดังกล่าว ซึ่งการกลับมานั้นเรียกว่า ร็อจอะฮฺ นั้นเอง
บรรดาอะอิมมะฮฺ (อ.) ในฐานะของผู้ที่ถูกเทียบเคียงและอธิบายอัล-กุรอานได้กล่าวถึงสิ่งนี้ไว้ เช่น
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
ايام الله ثلاثة يوم القائم و يوم الكرة ويوم القيامة
วันแห่งอัลลอฮฺนั้นมี ๓ วัน ได้แก่วันแห่งการปรากฏกายของมะฮฺดี วันแห่งการกลับ (ร็อจอะฮฺ) และวันกิยามะฮฺ
ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวอีกว่า
ليس منا من لم يؤمن بكرتنا
ผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องวันย้อนกลับถือว่าไม่ใช่พวกของเรา
เป็นการดีหากจะกล่าวถึง ๒ ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
๑. ปรัชญาของการร็อจอะฮฺ แนวคิดในเรื่องร็อจอะฮฺนั้นมีเป้าหมายที่สูงส่งอยู่สองประการกล่าวคือ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และการเจริญเติบโตของอิสลาม และเป็นการทำลายความเชื่อที่ตรงกันข้ามกับอิสลาม อีกประการหนึ่งคือ เป็นการมอบรางวัลแก่ผู้ที่มีความศรัทธาที่ประพฤติตนดี และเป็นการลงโทษผู้ปฏิเสธและผู้กดขี่ทั้งหลาย
๒. ความแตกต่างระหว่าง ร็อจอะฮฺกับตะนาซุค (การเวียนว่ายตายเกิด) สิ่งจำเป็นที่ต้องกล่าว คือความเชื่อเรื่องร็อจอะฮฺที่ชีอะฮฺเชื่อนั้น แตกต่างเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างแท้จริง เพราะแนวคิดในเรื่องดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธเรื่องวันสิ้นโลก และวันแห่งการตอบแทนผลรางวัล เชื่อว่าโลกนี้มีการเวียนว่ายตลอดไป และแต่ละครั้งนั้นคือการทำซ้ำครั้งก่อนเสมอ บนพื้นฐานความเชื่อดังกล่าวนี้ วิญญาณของมนุษย์ทุกคนหลังจากที่ได้ตายแล้วจะกลับคืนสู่โลกอีกครั้ง ในร่างอื่น ฉะนั้นถ้าเขาเป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติดี วิญญาณของเขาก็จะกลับมาสู่ร่างที่จะพาเขาไปพบกับความสุข แต่ถ้าเขาประพฤติตัวไม่ดี วิญญาณของเขาจะกลับมาสู่ร่างที่จะพาเขาไปพบกับความทุกข์ระทม ซึ่งการเวียนว่ายเช่นนี้ตามความเชื่อของเขาถือว่าเป็นการตอบแทน ขณะที่ผู้ที่ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องร็อจอะฮฺนั้น เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามหลักคำสอนของอิสลาม มีความเชื่อต่อวัน กิยามะฮฺ มะอาดและการตอบแทนการกระทำ และไม่เชื่อเรื่องการโยกย้ายวิญญาณจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่ง ปฏิเสธว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแค่เชื่อว่าจะมีชนกลุ่มหนึ่งได้กลับมาก่อนวันกิยามะฮฺ และหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลโลกซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้เสร็จสิ้นลงพวกเขาก็จะต้องตายไปเหมือนคนอื่น และในวันกิยามะฮฺจะฟื้นคืนชีพขึ้นมา เพื่อรอรับการตัดสินเหมือนคนอื่นเช่นกัน แต่ไม่เชื่อว่าวิญญาณหนึ่งจะเปลี่ยนไปอยู่อีกร่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามๆ แนวคิดของชีอะฮฺ ร็อจอะฮฺเป็นความเชื่อที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอัล-กุรอาน เหมือนกับความเชื่อในเรื่องอื่นที่บรรดามุสลิมทั้งหลายมีความเชื่อกันอยู่ ซึ่งเรื่องร็อจอะฮฺนั้นไม่ใช่ความเชื่อของชีอะฮฺฝ่ายเดียว แต่เป็นความเชื่อที่มุสลิมทุกคนต้องเชื่อเพราะเป็นหลักการที่ปรากฏอยู่ในอัล-กุรอาน
[1] อัล-บะเกาะเราะฮฺ / ๕๕ / ๕๖
[2] อาลิอิมรอน / ๔๙
[3] นัมลิ / ๘๒ / ๘๓
[4] อัดดุรุลมันซูร เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๗๗ ตอนอธิบายโองการที่ ๘๒ ซูเราะฮฺนัมลิ
[5] ฮูด / ๑๐๓
[6] ตัฟซีรอัดดุรุลมันซูร เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๓๔๙
[7] กะฮฺฟิ / ๔๗